กรมประมง ออกโรงเตือน “ปลาเรืองแสง” ฟันธงเป็นปลาสวยอันตราย ตัดต่อพันธุกรรม หรือ GMOs ที่อาจถูกกีดกันทางการค้า กระทบอุตสาหกรรมปลาสวยงามไทยทั้งระบบ ระบุใครครอบครองถือว่าผิดกฎหมายโทษทั้งจำคุก-ปรับเป็นล้าน ชี้เฉพาะปลากัดไทยที่โด่งดังไกลทั่วโลก ที่มีลักษณะ ลวดลาย สีสันที่สวยงาม เปิดโอกาสให้ใครที่ครอบครองต้องงคืนให้กรมประมง ตั้งวันที่ 1 กันยายน – 30 พฤศจิกายน 2565 ณ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ กรมประมง หรือ สำนักงานประมงจังหวัดทั้ง 77 จังหวัดทั่วประเทศ
นายเฉลิมชัย สุวรรณรักษ์ อธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า ได้รับการรายงานว่า ขณะนี้พบมีผู้ที่ทำการเพาะเลี้ยง “ปลาเรืองแสง” หรือ ปลาที่ได้รับการดัดแปลงพันธุกรรม (Genetically Modified Organisms : GMOs) ด้วยเทคนิคการนำยีนส์ที่ได้จากแมงกะพรุนหรือดอกไม้ทะเลบางชนิดไปใส่ไว้ใน DNA ที่ควบคุมลักษณะทางพันธุกรรมของปลา และจะสร้างโปรตีนที่มีลักษณะเด่นขึ้นมา เมื่อถูกกระตุ้นด้วยแสงไฟ Blacklight จะทำให้ตัวปลาเรืองแสงสะท้อนขึ้นมาเกิดความแปลกตา สวยงาม ซึ่งชนิดของสีเรืองแสงที่มีการค้าในปัจจุบัน มี 6 สี ได้แก่ สีเขียว (Electric Green) สีฟ้า (Cosmic Blue) สีแดง (Starfire Red) สีส้ม (Sunburst Orange) สีชมพู (Moonrise Pink) สีมม่วง (Galactic Purple)
ในปัจจุบันนานาชาติโดยส่วนใหญ่ไม่ให้การยอมรับเรื่องของ GMOs ในสิ่งมีชีวิต เพราะอาจส่งผลให้เกิดการปนเปื้อนทางพันธุกรรมกับชนิดพันธุ์ที่มีในท้องถิ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปลาสวยงาม หากเข้าไปแทรกอยู่ในยีนส์แล้ว ยากที่จะเอาออกทำให้สูญเสียความเป็นสายพันธุ์ดั้งเดิมไป ถือเป็นเรื่องร้ายแรงที่น่ากังวล ประกอบกับ ประเทศไทยได้มีการลงนามในพิธีสารคาร์ตาเฮน่า ว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ (Cartagena Protocol on Biosafety) มีเงื่อนไขที่ต้องดำเนินการป้องกันหรือลดความเสี่ยงต่อการที่ GMOs จะก่อให้เกิดอันตรายต่อความหลากหลายทางชีวภาพ สิ่งแวดล้อม และสุขอนามัยของมนุษย์
ดังนั้น หากประเทศไทยมีการเพาะเลี้ยงปลา GMOs อาจส่งผลกระทบทำให้ถูกกีดกันทางการค้าจากนานาชาติ ทั้งในเรื่องของความเข้มงวดของการนำเข้าปลาสวยงาม หรืออาจร้ายแรงไปจนถึงการห้ามค้าขายปลาสวยงามที่เป็นหรือเสี่ยงที่จะเป็นปลา GMOs เลยทีเดียว ทั้งนี้ การตรวจสอบสัตว์น้ำตัดต่อพันธุกรรมเรืองแสงในปลาที่เรืองแสงชัดเจน มีขั้นตอนกระบวนการตรวจสอบโดยละเอียด ด้วยวิธีตรวจสอบจากสารพันธุกรรม (DNA) โดยเทคนิค PCR หรือ Real time PCR ก็เป็นเรื่องที่ยุ่งยากและมีค่าใช้จ่ายที่สูง ส่วนการตรวจสอบเบื้องต้น สามารถใช้ไฟฉาย UV Black light ส่องดูได้
สำหรับปลาสวยงามหลากหลายชนิดที่นำมาพัฒนาพันธุ์ด้วยวิธีการตัดต่อพันธุกรรมเป็นปลาเรืองแสงในปัจจุบัน อาทิ ปลาเสือเยอรมัน (Tiger Barb) ปลาม้าลาย (Danio) ปลากลุ่มเตตร้า (Longfin Tetra & Tetra) ปลาเทวดา (Angelfish) ปลากาแดง (Redfin Shark) และที่น่ากังวล คือ ปลากัด (Betta) เป็นสัตว์น้ำชนิดใหม่ล่าสุดที่นำมาดัดแปลงพันธุกรรมเรืองแสง กลายเป็น “ปลากัดเรืองแสง” และเริ่มออกขายในตลาดปลาสวยงาม กว่า 1 ปีแล้ว
“เป็นสิ่งที่อันตราย ต่อวงการปลากัดไทยอย่างมาก เพราะปลากัดของไทยโด่งดังไกลทั่วโลก เนื่องจากมีลักษณะ ลวดลาย สีสันที่สวยงาม จนมีลูกค้าจากทั่วโลกที่ต้องการปลากัดของไทย มีตลาดค้าขายปลากัดไทยทั้งออนไลน์และออฟไลน์ สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจมากกว่า 200 ล้านบาท/ปี ถือเป็นปลาสวยงามที่สร้างมูลค่าการส่งออกหลักให้การค้าสัตว์น้ำสวยงามของประเทศไทย สร้างรายได้ให้กับเกษตรกร และก่อให้เกิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศอย่างมาก ซึ่งทราบกันว่า ปลากัด เป็นสัตว์น้ำประจำชาติ อีกด้วย” นายเฉลิมชัย กล่าว
อธิบดีกรมประมง กล่าวอีกว่า หากไม่ยับยั้งคาดว่าในอนาคตอาจเกิดการปนเปื้อนทางพันธุกรรมกับชนิดพันธุ์ที่มีในท้องถิ่น และก่อให้เกิดการกีดกันทางการค้า ซึ่งจะก่อให้เกิดความเสียหายอย่างใหญ่หลวงต่ออุตสาหกรรมปลาสวยงามของไทยอย่างแน่นอน อีกทั้ง ผู้เพาะเลี้ยงยังมีความผิดทางกฎหมาย ตามมาตรา 65 และ มาตรา 144 แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และ ประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง กำหนดชนิดพันธุ์สัตว์น้ำที่ห้ามเพาะเลี้ยงในราชอาณาจักร พ.ศ.2564 และบัญชีแนบท้ายประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง กำหนดชนิดพันธุ์สัตว์น้ำที่ห้ามเพาะเลี้ยงในราชอาณาจักร พ.ศ.2564 เพื่อป้องกันอันตรายมิให้เกิดแก่สัตว์น้ำและระบบนิเวศ มีโทษทั้งจำคุก ไม่เกิน 1 – 2 ปี ปรับไม่เกิน 1 – 2 ล้านบาท
ดังนั้นกรมประมง จึงขอประชาสัมพันธ์ไปยังเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยง ผู้ประกอบการปลาสวยงาม และกลุ่มลูกค้าปลาสวยงาม ว่าปลาสวยงามมีมากมายหลากหลายสายพันธุ์ ที่สำคัญเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงปลากัดมีความสามารถเป็นอันดับต้นๆ ของโลกอยู่แล้ว เช่น ที่ผ่านมามีการพัฒนาปลากัดเป็นลายธงชาติไทย หากพัฒนาให้เป็นลายธงชาติประเทศต่างๆ หรือจะผลิตลวดลายสีสันใหม่ๆ ที่สวยงาม แปลกตา สามารถสร้างมูลค่าในตัวเองได้อยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องใช้วิธีการตัดต่อพันธุกรรมซึ่งจะก่อให้เกิดความเสียหายในอนาคต
ทั้งนี้หากเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยง ผู้ประกอบการปลาสวยงาม และกลุ่มลูกค้าท่านใดที่เพาะเลี้ยงและมีครอบครองอยู่ขอให้ส่งให้กรมประมงได้ตั้งแต่ วันที่ 1 กันยายน – 30 พฤศจิกายน 2565 ณ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ กรมประมง ทั่วประเทศ หรือ สำนักงานประมงจังหวัด 77 จังหวัด ทั้งนี้ สามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ กองวิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืด กรมประมง โทร. 0 2562 0426 หรือ Website กองวิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืด : https://www4.fisheries.go.th/local/index.php/main/site/ifdd หรือ Facebook Page : https://www.facebook.com/aquaticplantandornamentalfish