ปล่อย “ปลาดุกลำพันคืนถิ่น” สู่แหล่งน้ำธรรมชาติป่าพรุควนเคร็งเมืองคอน

  •  
  •  
  •  
  •  

สื่อมวลชนอาวุโส “นายหัวไทร” นำทีมเดินหน้าปล่อยปลาหายาก “ปลาดุกลำพันคืนถิ่น” ลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติป่าพรุควนเคร็ง พร้อมขับเคลื่อนหน้าพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ สร้างชุมชนให้มีความพร้อม เน้นท้องถิ่นต้องร่วมมือกันเดินหน้าไปด้วย

อีกครั้งที่นายเฉลียว คงตุก เจ้าของนามปากกา “นายหัวไทร” อดีตบรรณาธิการอวุโสทีสีเนชั่น อดีจบรรณาธิการศูนย์ข่าวภูมิภาคเครือเนชั่น และสื่ออวุโส ได้เดินปล่อยปลาดุกลำพันลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ ล่าสุด มีพิธีปล่อยปลาดุกลำพันลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติที่ศาลาอเนกประสงค์ หมู่ที่ 3 ต.เคร็ง อ.ขะอวด จ.นครศรีธรรมราช 500 กิโลกรัม คืนถิ่นป่าพรุควนเคร็ง และปลาอื่นๆอีก 200,000 ตัว

สำหรับโครงการปล่อยปลาดุกลำพันคืนถิ่นดังกล่าวจัดขึ้นโดยมีนายเฉลียว คงตุก ในนามกรรมการมูลนิธิร่วมพัฒนาภาคใต้ รองประธานสมาพันธ์จิตอาสาชาวใต้ เป็นประธานโครงการ ร่วมมือกับองค์การบริหารส่วนตำบลเคร็ง ท้องถิ่นอำเภอ ประมงจังหวัด ประมงอำเภอ หน่วยป้องกันไฟป่า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรปกครองส่วนที่ ภาคีเครือข่ายภาคประชาชน พี่น้องชาวเคร็งร่วม 200 คนเข้าร่วมในกิจกรรมโครงการนี้ด้วย

โครงการปล่อยปลาดุกลำพัน คืนถิ่นป่าพรุควนเคร็ง เริ่มต้นด้วยการทำบุญเลี้ยงพระเพล รับพรจากพระ และอนุโมทนาบุญกับทุกท่านที่ร่วมกันบริจาคทำบุญซื้อพันธุ์ปลาดุกลำพันจากป่าพรุโต๊ะแดงมาปล่อยฟื้นคืนธรรมชาติ อนุรักษ์พันธุ์สัตว์น้ำน้ำหายาก

จากนั้นได้มอบพันธุ์ปลา ให้กับชาวบ้านไปเลี้ยงในบ่อของตนเอง รวมถึงการมอบพันธุ์ปลาดุกลำพันให้กับประมงจังหวัดนครศรีธรรมราช เพื่อนำไปศึกษา วิจัย โดยมีนายอำเภออาญาสิทธิ์ ศรีสุวรรณ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคพลังประชารัฐ เข้าร่วมด้วย

นายเฉลียว กล่าวกับชาวบ้านว่า วันนี้เราได้นำปลาดุกลำพัน 500 กิโลกรัมมาปล่อยคืนป่าพรุควนเคร็ง เป้าหมายเพื่อฟื้นธรรมชาติของเคร็งให้กลับคืนมา

“อย่างจะให้ทุกหน่วยในพื้นที่ช่วยกันรณรงค์ว่า ถ้าจับปลาดุกลำพันได้ในช่วงหลังจากนี้ อย่าเพิ่งนำมาทำอาหาร ให้ปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ เพื่อทอดเวลาให้เขาได้ขยายพันธุ์ก่อน เราต้องหวังว่า ป่าพรุควนเคร็งจะต้องเป็นคลังอาหารของนครศรีธรรมราช ของภาคใต้ และเป็นเรื่องไม่ยากถ้าทุกภาคส่วนร่วมมือกัน และอนาคตจะเป็นแหล่งรายได้ที่ยั่งยืน” นายเฉลียว กล่าวและว่าเราจะต้องช่วยกันคิดช่วยกันทำ ต่อยอดจากสิ่งที่เคร็งมีอยู่มากมาย เคร็งมีธรรมชาติที่สวยงาม ต้องพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยว เชิญคนมาสัมผัสธรรมชาติ มาชมการสานเสื่อจากกระจูด มาดูผลิตภัณฑ์จากกระจูด

“ชาวเคร็งจะต้องศึกษา เรียนรู้การต้อนรับนักท่องเที่ยว สร้างชุมชนให้มีความพร้อม รีสอร์ต โฮมสเตย์ ร้านค้า ร้านกาแฟ แหล่งเช็คอินของนักท่องเที่ยว สตอรี่การท่องเที่ยว การเชื่อมโยง สิ่งเหล่านี้เราต้องสร้างให้พร้อมก่อนจะเชิญชวนนักท่องเที่ยวมา”

นายเฉลียว กล่าวอีกว่า คำขวัญของเคร็งเรามีแล้วหรือยัง ถ้ายังไม่มีผมเสนอว่าให้ค้นหา และอาจจะมีสโลแกนสั้นๆง่ายๆ เช่น นอนเคร็ง 1 คืน อายุยืน 1 ปี เราขายความเป็นธรรมชาติ อากาศดี
ด้านนายธรรมนูญ คงจันทร์ กำนันตำบลเคร็ง กล่าวว่า ทางตำบลได้ร่วมกันรณรงค์มาตลอดที่เราปล่อยปลาดุกบำพันมา 5 ครั้ง ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 6 แล้ว รณรงค์ให้ช่วยกันอนุรักษ์ปลาดุกลำพันเอาไว้ ถ้าจับได้ช่วงนี้อย่าเพิ่งเอามาทำกิน ให้ปล่อยคืนธรรมชาติ

“ถ้าใครจับปลาดุกลำพันได้ ผมจะขอซื้อคืนทุกตัว เพื่อนำกลับไปปล่อยคืนธรรมชาติ ซึ่งก็ได้รับความร่วมมือจากชาวบ้านอย่างดี ผมในฐานะกำนันของขอบพระคุณทุกท่านที่มาร่วมกันช่วยฟื้นฟูเคร็งของเรา ผมเกิดที่นี้เคยเห็นความเป็นเคร็งมาตั้งแต่เกิด และเห็นความเสื่อมโทรมของเคร็ง จึงมีความมุ่งมั่น ตั้งใจจะทำให้เคร็งฟื้นคืนกลับมาให้จงได้” เขา กล่าว

ด้านนายบัญญัติ พัทธธรรม ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวพัทลุง และอดีตประธานสภาลุ่มน้ำทะเลสาปสงขลา กล่าวว่า วันนี้ได้มาเห็นความเป็นเคร็งด้วยตัวเอง ซึ่งได้เห็นมากกว่าคำบอกเล่า มีอะไรที่น่าสนใจมาก ก็ยินดีที่จะให้แง่คิดมุมมองในเรื่องการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นเรื่องยาก ชุมชนต้องเรียนรู้ ต้องมีผู้เสียสละ

“แต่ไม่ใช่เรื่องยาก เพียงแต่เราต้องมีจุดเริ่มต้น และเดินไปอย่างมั่นคง ตั้งใจ เสียสละ ผมทำให้พัทลุง ที่ได้ฉายาว่าเป็นเมืองโจร ให้เป็นเมืองท่องเที่ยวมาแล้ว ทุกวันนี้พัทลุงบูมเรื่องท่องเที่ยวมาก มาเลเซียมาเที่ยวหาดใหญ่ ก็ต้องมาพัทลุงด้วย มีการลงทุนสร้างรีสอร์ต โรงแรมกันจำนวนมาก แต่สองปีมานี้เรามาติดกับดักของโควิด 19 แต่เชื่อว่าอีกไม่นานนาน การเดินทางก็จะเริ่มกลับมาปกติ ภายใต้วิถีใหม่” นายบัญญัติ กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การจัดโครงการปล่อยปลาดุกลำพันคืนถิ่นป่าพรุควนเคร็ง ถือเป็นโครงการที่ดีมาก ริเริ่มคิดและทำโดยภาคประชาชน และทำมาอย่างต่อเนื่องอย่างน่าชื่นชม อนาคตเคร็งก็จะเป็นแหล่งอาหาร คลังอาหารของนครศรีธรรมราช
#นายหัวไทร #ปลาดุกลำพัน #เคร็ง