กรมประมง เตือนเฝ้าระวังโรคระบาดปลา ทั้งแผลเน่าเปื่อย-ตัวด่าง-เคเอชวี ช่วงหน้าหนาว

  •  
  •  
  •  
  •  

กรมประมง เตือนเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์น้ำจืด  เฝ้าระวังโรคระบาดปลาจากสภาพอากาศ ในช่วงฤดูหนาว พบมากที่สุดเป็นโรคอียูเอส หรือโรคแผลเน่าเปื่อย โรคตัวด่าง และโรคเคเอชวี ทั้งปลาใรเกล็ดและปลาหนัง แนะหากให้แยกตัวออกมาต่างหาก ชี้เกลือแกงพอช่วยให้ลงในบ่อ 100-150 กก.ต่อไร่

    นายเฉลิมชัย สุวรรณรักษ์ รองอธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า จากที่กรมอุตุนิยมวิทยาได้ออกประกาศว่า ประเทศไทยจะเริ่มเข้าสู่ฤดูหนาวตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2564 ซึ่งสภาวะอากาศหนาวอาจส่งผลกระทบ ต่อการเลี้ยงสัตว์น้ำ เนื่องจากจะทำให้สัตว์น้ำกินอาหารน้อยลง ภูมิต้านทานต่ำ สุขภาพอ่อนแอ เอื้อต่อการเกิดโรคระบาดได้ง่าย ดังนั้น เพื่อเป็นการหลีกเลี่ยงความเสี่ยงและป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น และเป็นการควบคุมโรคระบาดในช่วงฤดูหนาว อาทิ โรคอียูเอส หรือ “โรคแผลเน่าเปื่อย” โรคตัวด่าง และโรคเคเอชวี เป็นต้น

เฉลิมชัย สุวรรณรักษ์

     กรมประมงจึงขอให้เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำได้ปฏิบัติตามคำแนะนำ ดังนี้ ​1. เกษตรกรควรวางแผนระยะเวลาการเลี้ยงปลาให้อยู่ในช่วงที่เหมาะสม หรือ ควรงดเว้นการเลี้ยงปลาในช่วงฤดูหนาว,​2. ควรมีบ่อพักน้ำใช้เพื่อใช้ในฟาร์มได้เพียงพอตลอดฤดูกาล โดยเฉพาะในช่วงฤดูหนาว,​3. เลือกชนิดปลาที่จะเลี้ยงให้เหมาะสมกับฤดูกาล โดยในช่วงฤดูหนาว ควรเลือกปลาที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคระบาดน้อย เช่น ปลานิล ปลาจีน และปลาไม่มีเกล็ด ที่สำคัญ ควรลดความหนาแน่นของปลาที่ปล่อยลงเลี้ยงและหมั่นเอาใจใส่ ตรวจสุขภาพปลาอย่างสม่ำเสมอ

     ​4. ควบคุมปริมาณการให้อาหารอย่างเหมาะสม ลดปริมาณอาหารที่จะให้ลง 10 – 15 % เนื่องจาก ช่วงอุณหภูมิต่ำปลาจะกินอาหารน้อยลง ถ้าหากมีปริมาณอาหารเหลือจะสะสมตามพื้นบ่อ ส่งผลให้น้ำเน่าเสียเกิดก๊าซพิษ และมีผลกระทบต่อสุขภาพปลา ทั้งนี้ อาจมีการเสริมวิตามินซีในอาหาร 1 – 2 % โดยน้ำหนัก จะช่วยเสริมสร้างความแข็งแรง ต้านทานโรคและลดความเครียดของปลาได้

     ​5. ควบคุมคุณภาพน้ำในบ่อ โดยใช้ปูนขาว ในอัตรา 60 – 100 กิโลกรัมต่อบ่อขนาด 1 ไร่ หรือ นำ
เกลือแกงมาละลายน้ำสาดให้ทั่วบ่อ ประมาณ 100 – 150 กิโลกรัมต่อไร่,​6. หากพบมีปลาที่เลี้ยงป่วยหรือมีอาการผิดปกติ ควรแยกออกไปเลี้ยงและรักษาต่างหาก กรณีป่วยหนักอาจทำลายทิ้งเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคในวงกว้าง ทั้งนี้ หากกรณีปลาในแหล่งน้ำธรรมชาติมีความผิดปกติ ให้รีบปิดทางน้ำเข้าและหยุดการเติมน้ำจากธรรมชาติเข้ามาในบ่อทันที

    ​7. หากไม่สามารถเปลี่ยนถ่ายน้ำได้ ในช่วงระหว่างการเลี้ยง ให้ควบคุมปริมาณการให้อาหาร,​8. หากพบว่าน้ำในบ่อเริ่มเน่าเสีย โดยสังเกตว่ามีก๊าซผุดขึ้นมาจากพื้นบ่อ ให้ใช้เกลือสาดบริเวณดังกล่าว ประมาณ 200 – 300 กิโลกรัมต่อบ่อขนาด 1 ไร่.​9. หากพบปลาตายในบ่อเลี้ยงให้กำจัดโดยการฝังหรือเผา, และ​10. เมื่ออากาศเริ่มเข้าสู่สภาวะที่เหมาะสม (อุณหภูมิของน้ำสูงขึ้น) และพบว่าปลาในธรรมชาติ เป็นปกติ ไม่มีอาการป่วย ควรเปลี่ยนถ่ายน้ำตามความเหมาะสม และให้อาหารปลาได้ตามปกติ

      ​ทั้งนี้ เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำควรหมั่นสังเกตและดูแลสัตว์น้ำในช่วงฤดูหนาวอย่างใกล้ชิด หากพบมีสัตว์น้ำป่วยหรือมีอาการผิดปกติ สามารถแจ้งหรือขอรับคำปรึกษาได้ที่ สำนักงานประมงจังหวัดหรือศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง/ น้ำจืดในพื้นที่ใกล้บ้าน หรือกองวิจัยและพัฒนาสุขภาพสัตว์น้ำ กรุงเทพมหานคร โทร.0 2579 4122 Facebook Page : https://web.facebook.com/AAHRDD/ และ Line ID : 443KVKEE