ประกาศกำหนด“ฤดูน้ำแดง 2564 – 2565”  คุ้มครองฤดูสัตว์น้ำจืดมีไข่ วางไข่ เลี้ยงตัวอ่อน ครอบคลุม 77 จังหวัดเริ่ม 16 พ.ค.64 นี้

  •  
  •  
  •  
  •  

มีศักดิ์  ภักดีคง

กรมประมงออกประกาศกำหนด“ฤดูน้ำแดง 2564 – 2565”  คุ้มครองฤดูสัตว์น้ำจืดมีไข่ วางไข่ และเลี้ยงตัวอ่อน ครอบคลุมพื้นที่ 77 จังหวัดทั่วประเทศเพื่อการอนุรักษ์ ฟื้นฟู และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรสัตว์น้ำอย่างสมดุลและยั่งยืน  ประเดิมวันแรก 16 พฤษภาคม 2564 นี้ วอนขอความร่วมมือปฏิบัติตามกฎหมายโดยเคร่งครัด

     นายมีศักดิ์  ภักดีคง  อธิบดีกรมประมง กล่าวว่า ตั้งแต่วันที่ 16 พฤษภาคม 2564 กรมประมงได้ประกาศใช้มาตรการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำในแหล่งน้ำจืด หรือที่ประชาชนทั่วไปเรียกว่า “ฤดูน้ำแดง” เป็นเวลา 3 เดือน เพื่อคุ้มครองสัตว์น้ำจืดมีไข่ วางไข่ และเลี้ยงตัวอ่อน โดยการกำหนดระยะเวลา พื้นที่ และห้ามใช้เครื่องมือทำการประมงทุกชนิด ยกเว้น เครื่องมือบางชนิดที่ประชาชนจำเป็นต้องใช้จับสัตว์น้ำ เพื่อการดำรงชีพ เพื่อเปิดโอกาสให้ทรัพยากรสัตว์น้ำได้ฟื้นตัวเกิดขึ้นใหม่ทดแทนและดำรงอยู่อย่างยั่งยืน ควบคู่กับการติดตามประเมินผลการใช้มาตรการดังกล่าว เพื่อใช้ประกอบการกำหนดมาตรการที่เหมาะสมในปีต่อไป

      ทั้งนี้ผลการศึกษาทางวิชาการจากการใช้มาตรการ “ฤดูน้ำแดง” ปี 2563 ที่ผ่านมา พบว่า การกำหนดระยะเวลาในการคุ้มครองสัตว์น้ำจืดมีไข่ ช่วงระยะเวลาในระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงกันยายน เป็นช่วงเวลาที่สอดคล้องกับข้อมูลทางวิชาการ และมาตรการฤดูน้ำแดง ปี 2563 สามารถดูแลรักษาพ่อแม่พันธุ์สัตว์น้ำจืดเพิ่มสูงขึ้น โดยพบว่ามีปริมาณสัตว์น้ำเพิ่มขึ้นในแหล่งน้ำธรรมชาติภายหลังการคุ้มครองดังกล่าวอย่างน่าพอใจ

       สำหรับปี 2564 ถึงปี 2565 กรมประมงยังคงประกาศใช้มาตรการคุ้มครองสัตว์น้ำจืดมีไข่ วางไข่ และเลี้ยงตัวอ่อน ในทุกจังหวัด ให้เหมาะสมตามข้อมูลทางวิชาการและการคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยา ซึ่งคาดว่า ในปี 2564 ประเทศไทยจะได้รับผลกระทบจากปรากฎการณ์เอลนีโญและลานีญา ทำให้ช่วงกลางเดือนพฤษภาคมถึงมิถุนายน จะมีฝนเพิ่มมากขึ้นและต่อเนื่อง โดยคาดว่าฤดูฝนปีนี้จะเริ่มต้นประมาณสัปดาห์ที่สองของเดือนพฤษภาคม ซึ่งจะเร็วกว่ากติและไปสิ้นสุดลงประมาณกลางเดือนตุลาคม และปริมาณน้ำฝนรวมของทั้งประเทศจะมีปริมาณมากกว่าค่าปกติและมากกว่าปีที่แล้ว นั่นหมายความว่า ช่วงดังกล่าวนี้จะเข้าสู่ช่วงฤดูน้ำแดง

       ดังนั้น เพื่อให้การบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติ การรักษาพันธุ์สัตว์น้ำและระบบนิเวศเกิดความยั่งยืน ในมาตรการบริหารจัดการทรัพยากรฤดูสัตว์น้ำจืดมีไข่ (ฤดูน้ำแดง) กรมประมงจึงออกประกาศใช้มาตรการสัตว์น้ำจืดมีไข่ วางไข่ และเลี้ยงตัวอ่อน “ฤดูน้ำแดง” มีกำหนดใช้ 2 ปี (2564 – 2565) ตามประกาศกรมประมง ลงวันที่ 30 เมษายน 2564 เรื่อง กำหนดพื้นที่และระยะเวลาฤดูสัตว์น้ำจืดมีไข่ หรือวางไข่ เลี้ยงตัวอ่อน และกำหนดเครื่องมือ วิธีการทำการประมง และเงื่อนไขในการทำการประมง พ.ศ. 2564 สาระสำคัญมีดังนี้

      ห้ามมิให้ผู้ใดทำการประมงทุกชนิดในช่วงฤดูสัตว์น้ำจืดมีไข่ ยกเว้น เครื่องมือบางชนิด ตามระยะเวลาและพื้นที่ ดังต่อไปนี้ คือวันที่ 16 พฤษภาคม 2564 ถึงวันที่ 15 สิงหาคม 2564 และ วันที่ 16 พฤษภาคม 2565 ถึงวันที่ 15 สิงหาคม 2565 : ในพื้นที่ 33 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงราย  เชียงใหม่  น่าน พะเยา แพร่ แม่ฮ่องสอน ลำปาง ลำพูน อุตรดิตถ์ ตาก กำแพงเพชร พิษณุโลก สุโขทัย พิจิตร เลย อุดรธานี หนองคาย บึงกาฬ นครพนม สกลนคร กาญจนบุรี ราชบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล

      วันที่ 1 มิถุนายน 2564 ถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2564 และ วันที่ 1 มิถุนายน 2565 ถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2565 ในพื้นที่ 39 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดหนองบัวลำภู  ขอนแก่น  ชัยภูมิ  นครราชสีมา มหาสารคาม กาฬสินธุ์  ร้อยเอ็ด  มุกดาหาร  ยโสธร  อำนาจเจริญ  อุบลราชธานี  ศรีสะเกษ  สุรินทร์  บุรีรัมย์  เพชรบูรณ์  นครสวรรค์  ชัยนาท  อุทัยธานี  สิงห์บุรี  ลพบุรี  อ่างทอง  พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี สุพรรณบุรี สระบุรี นครปฐม นนทบุรี กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ  สมุทรสาคร สมุทรสงคราม  นครนายก  ปราจีนบุรี  สระแก้ว  ฉะเชิงเทรา  ชลบุรี ระยอง  จันทบุรี และตราด

      นอกจากนี้วันที่ 1 กันยายน 2564 ถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2564 และ วันที่ 1 กันยายน 2565 ถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2565 ในพื้นที่ 5  จังหวัด ได้แก่ จังหวัดพัทลุง  สงขลา  ปัตตานี นราธิวาส และยะลา โดยเครื่องมือ วิธีการทำการประมง ที่อนุญาตให้ประชาชนสามารถทำการประมงในฤดูสัตว์น้ำจืดมีไข่ได้ มีดังนี้

      1.เบ็ดทุกชนิด ยกเว้น เบ็ดราว เบ็ดพวง ที่ทำการประมงโดยวิธีการกระชาก หรือการใช้เครื่องมืออื่นใดที่มีลักษณะคล้ายคลึงกัน,2.ตะแกรง สวิง ช้อน ยอ หรือชนาง ซึ่งมีขนาดปากกว้างไม่เกิน 2 เมตร และไม่ทำการประมง ด้วยวิธีประดาตั้งแต่สามเครื่องมือขึ้นไป,3.สุ่ม ฉมวก และส้อม,4.ไซ ตุ้ม อีจู้ ลัน,5.แหที่มีความลึกไม่เกิน 6 ศอก (3 เมตร),และ 6.การทำการประมงเพื่อการศึกษา วิจัย ทดลองทางวิชาการ หรือในพื้นที่โครงการที่ดำเนินการของทางราชการ และได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากอธิบดีกรมประมง

         หากผู้ใดฝ่าฝืนตามประกาศฯ มาตรา 70 แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
มีโทษปรับตั้งแต่ห้าพันถึงห้าหมื่นบาท หรือปรับจำนวนห้าเท่าของมูลค่าสัตว์น้ำที่ได้จากการทำประมงแล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า