ดันฟาร์มทะเล-เขตอนุรักษ์สัตว์น้ำ ปล่อยกุ้งล้านตัวสู่ทะเลสาบสงขลา หวังพัฒนาอาชีพ-สร้างความเข้มแข็งให้ชุมชน

  •  
  •  
  •  
  •  

กรมประมง เปิดเวทีสาธารณะ จัดเสวนา “ความสำเร็จของฟาร์มทะเลและเขตอนุรักษ์สัตว์น้ำ โดยชุมชนมีส่วนร่วมของจังหวัดสงขลา” พร้อมมอบเงินอุดหนุนพัฒนาอาชีพ 15 ชุมชนประมงท้องถิ่น และปล่อยกุ้งกุลาดำ กว่า 1 ล้านตัว ลงทะเลสาบสงขลา หวังพัฒนาอาชีพและเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่ชุมชนประมงท้องถิ่น

     วันที่ 21 มีนาคม 2564  กรมประมงจัดพิธีเปิดโครงการเสวนาสร้างเครือข่ายองค์กรชุมชนประมงท้องถิ่นระดับจังหวัด ในหัวข้อ “ความสำเร็จของฟาร์มทะเลและเขตอนุรักษ์สัตว์น้ำ โดยชุมชนมีส่วนร่วมของจังหวัดสงขลา” ณ หาดจันทร์สว่าง (หาดปลาไก่) ตำบลหัวเขา อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา เพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ประสบการณ์และบทเรียนจากการดำเนินงานพัฒนาอาชีพและส่งเสริมความเข้มแข็งของชุมชนประมงชายทะเล และเสริมสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมขององค์กรชุมชนประมงท้องถิ่น ระหว่างภาคประชาชนกับภาครัฐ ภายใต้บริบทและวิถีของชุมชน เกิดความมั่นคงในอาชีพประมงพื้นบ้านอย่างยั่งยืน

     พร้อมได้จัดกิจกรรมปล่อยพันธุ์กุ้งกุลาดำลงทะเลสาบสงขลา จำนวน 1 ล้านตัว และมอบเงินอุดหนุน สนับสนุนพันธุ์สัตว์น้ำเพื่อนำไปพัฒนาอาชีพและเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่ชุมชนประมงท้องถิ่น งานนี้ได้รับเกียรติจากนายเดชอิศม์ ขาวทอง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขต 5 สงขลา เป็นประธาน โดยมีนายมีศักดิ์ ภักดีคง อธิบดีกรมประมง ข้าราชการ และพี่น้องชาวประมงจาก 15 ชุมชนในพื้นที่ จำนวนกว่า 500 คน ให้การต้อนรับ พร้อมกันนี้มีการมอบพันธุ์สัตว์น้ำให้แก่ผู้แทนองค์กรชุมชนประมงท้องถิ่น จำนวน 10 ชุมชน เพื่อนำไปบริหารจัดการเพิ่มผลผลิตสัตว์น้ำในแหล่งน้ำธรรมชาติของชุมชนให้กลับมามีความอุดมสมบูรณ์

      นายมีศักดิ์ ภักดีคง อธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า พระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 มาตรา 25 ว่าด้วยเรื่องของการส่งเสริมการมีส่วนร่วมและสนับสนุนชุมชนประมงท้องถิ่นในการจัดการ การบำรุงรักษา การอนุรักษ์ การฟื้นฟู และการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนจากทรัพยากรสัตว์น้ำภายในที่จับสัตว์น้ำในเขตประมงทะเลชายฝั่ง โดยกำหนดให้กรมประมงดำเนินการให้ความช่วยเหลือหรือสนับสนุนในเรื่องการมีส่วนร่วม การรวมกลุ่ม การให้คำปรึกษาแก่ชุมชน การเผยแพร่ความรู้ในการดำเนินโครงการหรือกิจกรรมของชุมชน ฯลฯ

     ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา กรมประมงได้ดำเนินการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพองค์กรชุมชนประมงท้องถิ่นด้านชายฝั่งไปแล้วกว่า 459 ชุมชน เช่น โครงการพัฒนาอาชีพและเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนประมงพื้นบ้าน เพื่อให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยพายุปลาบึก เมื่อปีงบประมาณ 2562 จำนวน 65 ชุมชน ในพื้นที่ 3 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดสงขลา นครศรีธรรมราช และปัตตานี

      ต่อมาในปี 2563 ได้ดำเนินโครงการสร้างความเข้มแข็งกลุ่มการผลิตด้านการเกษตร จำนวน 144 ชุมชน ซึ่งผลการดำเนินโครงการดังกล่าว ถือว่าประสบผลสำเร็จ สามารถฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำและสิ่งแวดล้อมให้กลับมาดีขึ้น พัฒนาอาชีพประมงให้กับชุมชนในท้องถิ่นทั้งห่วงโซ่การผลิตให้มีความเข้มแข็ง มีรายได้มั่นคง มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และในปีงบประมาณ 2564 ที่กรมประมงกำลังดำเนินการอยู่ อีกจำนวน 250 ชุมชน คือ โครงการพัฒนาอาชีพและส่งเสริมความเข้มแข็งของชุมชนประมง

      สำหรับโครงการดังเหล่านี้ มุ่งเน้นกระบวนการในการร่วมคิด ร่วมวางแผน ร่วมทำ ร่วมติดตามประเมินผล และร่วมรับผลประโยชน์ เป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมและสนับสนุนให้ชุมชนประมงท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำ ส่งเสริมให้มีการพัฒนาการทำการประมงพื้นบ้านอย่างยั่งยืน เพื่อที่จะเสริมสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนประมงท้องถิ่น ทั้งในเรื่องของการสร้างแหล่งอาศัยสัตว์น้ำ การปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำที่เหมาะสม ธนาคารสัตว์น้ำ การปรับเปลี่ยนเครื่องมือทำการประมงที่ถูกกฎหมาย การสร้างคานเรือชุมชน การแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าสัตว์น้ำจากการจับ และการพัฒนาต่อยอดสู่ชุมชนประมงเพื่อการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ “Fisherman Village Resort” ในอนาคต

      ดังนั้นกรมประมงจึงได้กำหนดจัด โครงการเสวนาสร้างเครือข่ายองค์กรชุมชนประมงท้องถิ่นระดับจังหวัด ช่วงระหว่างเดือนมีนาคม – สิงหาคม 2564 ในพื้นที่ 23 จังหวัดชายทะเล เพื่อสร้างเครือข่ายชุมชนประมงท้องถิ่นให้เกิดความเข้มแข็ง องค์กรชุมชนประมงท้องถิ่น ได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ประสบการณ์และบทเรียนจากการดำเนินงานพัฒนาอาชีพและเสริมสร้างความเข้มแข็งชองชุมชนประมงชายทะเล และแนวทางการขับเคลื่อนเสริมสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมขององค์กรชุมชนประมงท้องถิ่นในการบริหารจัดการประมงทะเลอย่างยั่งยืน อีกทั้ง เป็นการกระชับความสัมพันธ์ความร่วมมือระหว่างชุมชนกับเจ้าหน้าที่ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการบริหารจัดการทรัพยากรชุมชน

      “กรมประมงหวังเป็นอย่างยิ่งว่า การดำเนินโครงการดังกล่าวจะเป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างความเข้มแข็งให้กับพี่น้องชาวประมงพื้นบ้านทั้ง 23 จังหวัด เกิดการมีส่วนร่วมในการบริหารทรัพยากรประมงของชุมชน ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญที่ช่วยให้เกิดความยั่งยืนของอาชีพประมงภายใต้ความยั่งยืนของทรัพยากร ตามนโยบายที่ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เน้นย้ำให้กรมประมงบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุด ควบคู่ไปกับคุณภาพชีวิตที่ดีของพี่น้องชาวประมง” อธิบดีกรมประมง กล่าว