กรมประมง เดินหน้าเร่งเพาะพันธุ์ “ปลายี่สกไทย” ปล่อยสู่ธรรมชาติ เป้าปีนี้ 5 แสนตัว

  •  
  •  
  •  
  •  

กรมประมง เดินเร่งฟื้นฟู “ทรัพยากรสัตว์น้ำ” คืนสมดุลระบบนิเวศแม่น้ำโขง ล่าสุดเพาะพันธุ์ปลา “ยี่สกไทย” ปล่อยสู่ธรรมชาติอย่างต่อเนื่องทั้งในแม่น้ำโขง และลำน้ำอื่น ตั้งเป้าในปี 2564 จะผลิตและปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ 5 แสนตัว 

       จากสถานการณ์แม่น้ำโขงที่เกิดการเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศวิทยาอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ได้ส่งผลกระทบทำให้ทรัพยากรสัตว์น้ำในธรรมชาติมีปริมาณลดลง จนหลายชนิดเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์และยังกระทบต่อวิถีการประกอบอาชีพของชาวประมงริมฝั่งแม่น้ำโขงรวมถึงลำน้ำสาขาในหลายพื้นที่

                                                                        มีศักดิ์ ภักดีคง     

        จากทรัพยากรในลุ่มแม่น้ำโขงได้มีความพยายามอย่างหนักที่จะจัดการกับผลกระทบต่อระบบนิเวศวิทยาที่เกิดขึ้นโดยกรมประมง ในฐานะหน่วยงานภาครัฐที่มีหน้าที่รับผิดชอบในการสร้างความมั่นคงให้ทรัพยากรประมงในแหล่งน้ำธรรมชาตินั้น ได้มีการวางแนวทางเพื่อเร่งฟื้นฟูผลผลิตสัตว์น้ำ คืนความสมบูรณ์สู่ระบบนิเวศแม่น้ำโขงอย่างต่อเนื่อง ภายใต้การมีส่วนร่วมของชุมชนและการบูรณาการของหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในพื้นที่ตามนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในการแก้ไขปัญหาความเสื่อมโทรมของทรัพยากร พร้อมฟื้นฟูและเพิ่มปริมาณสัตว์น้ำ ซึ่งจะเป็นการช่วยลดอุปสรรคในการประกอบอาชีพให้กับชาวประมงโดยที่ผ่านมา ได้มีการเพาะขยายพันธุ์สัตว์น้ำประจำถิ่นสำหรับปล่อยคืนสู่แม่น้ำโขงและลำน้ำสาขาโดยเฉพาะ “ปลายี่สกไทย” หรือ “ปลาเอิน”ในภาษาถิ่นอีสาน

      ปลายี่สกไทย หรือ ปลาเอิน  ProbarbusjullieniSauvage, 1880 เป็นปลาที่อยู่ในบัญชีอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดพันธุ์สัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ (CITES) บัญชี 1 ตั้งเเต่ปี 2518 จนถึงปัจจุบัน มีการควบคุมการนำเข้าและส่งออกระหว่างประเทศ การส่งออกสามารถดำเนินการได้ภายใต้เงื่อนไขของอนุสัญญา CITES โดยผู้ที่ประสงค์ส่งออกเพื่อการค้าจะต้องขึ้นทะเบียนฟาร์มเพาะพันธุ์กับสำนักเลขาธิการ CITES ก่อนจึงจะสามารถดำเนินการส่งออกเพื่อการค้าได้

       ในประเทศไทยสามารถพบปลาเอินได้ในหลายพื้นที่ เช่น แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำแม่กลอง แม่น้ำสังขละบุรี รวมถึงแม่น้ำโขง  ปลาเอินเป็นปลามีเกล็ดน้ำจืดที่มีขนาดกลางถึงใหญ่ ประเทศไทยมีรายงานการพบปลาเอินขนาดใหญ่ในปี 2542  ที่ บ.ท่าไร่ไทยเจริญ ต.ท่าดอกคำ อ.บึงโขงหลง จ.บึงกาฬ โดยมีขนาดลำตัวยาว 1.5 เมตรเเละน้ำหนักมากกว่า 61 กก.

       ยิ่งไปกว่านั้นยังเป็นปลาน้ำจืดที่มีรสชาติดี เป็นที่นิยมบริโภคและมีราคาจำหน่ายในตลาดสูงถึงกิโลกรัมละ 200-250 บาท จึงเป็นแรงจูงใจทำให้มีการจับปลาเอินขึ้นมาใช้ประโยชน์เป็นจำนวนมาก ส่งผลให้ปริมาณปลาในธรรมชาติลดจำนวนลง กรมประมงได้ให้ความสำคัญกับปัญหาการลดลงของทรัพยากรปลาเอินดังกล่าว จึงจัดตั้งแคมป์เพื่อรวบรวมพ่อแม่พันธุ์ปลาเอินจากธรรมชาติมาเพาะเเละขยายพันธุ์ด้วยเทคนิคการผสมเทียม เเละอนุบาลลูกปลา เพื่อปล่อยลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติตั้งเเต่ปี 2517 เพื่อฟื้นฟูผลผลิตและคืนความสมบูรณ์สู่ระบบนิเวศแม่น้ำโขงอย่างต่อเนื่อง

    ปัจจุบันกรมประมงได้ดึงชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมเพื่อตั้งแคมป์ริมฝั่งแม่น้ำโขงใน 2 พื้นที่  คือ 1. บ้านน้ำไพร
 อ. สังคม จ.หนองคาย และ  2. บ้านสองคอน อ. หว้านใหญ่ จ.มุกดาหาร เพื่อเฝ้าสังเกตการณ์และรวบรวมพ่อแม่พันธุ์ปลาเอินที่ว่ายขึ้นมาวางไข่ในพื้นที่ดังกล่าว ในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2563 – กุมภาพันธ์ 2564 สำหรับนำไปใช้เพาะขยายพันธุ์ด้วยการกระตุ้นฮอร์โมน แล้วพักพ่อแม่พันธุ์ปลาไว้ในถังไฟเบอร์บริเวณริมแม่น้ำโขงเพื่อรอรีดไข่ผสมน้ำเชื้อและลำเลียงไข่ที่ได้รับการผสมแล้วไปเพาะฟัก ณ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดจังหวัดหนองคาย ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดจังหวัดมุกดาหาร จนอนุบาลลูกปลาให้ได้ขนาด 5-7 เซนติเมตร จึงปล่อยลงสู่ลำน้ำโขงและลำน้ำสาขาที่ใกล้เคียง

     นอกจากนี้ กรมประมง โดยศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดเลย ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดมุกดาหาร ยังมีการดำเนินกิจกรรมกรรมเพิ่มผลผลิตปลาเอินในเเหล่งน้ำธรรมชาติ โดยการเพาะเเละปล่อยลงในเเหล่งนำธรรมชาติอีกด้วย

       อธิบดีกรมประมง กล่าวอีกว่า ในปี 2564 กรมประมงวางเป้าหมายที่จะปล่อยปลายี่สกไทยคืนสู่ลำน้ำโขงและลำน้ำสาขาที่ใกล้เคียง จำนวน  5 แสนตัว โดยในช่วงปลายเดือนมีนาคม 2564 จะทำการปล่อยลูกปลา ล็อตแรกที่มีขนาด 5-7 เซนติเมตร ซึ่งเป็นขนาดที่มีอัตรารอดตายสูง จำนวน 1 แสนตัว ที่บ้านสองคอน อำเภอห้วยใหญ่ จังหวัดมุกดาหาร ทั้งนี้ เชื่อมั่นว่าจะทำให้พี่น้องชาวประมง ตลอดจนประชาชนทั่วไปที่อาศัยอยู่บริเวณลุ่มน้ำโขงได้รับประโยชน์จากทรัพยากรสัตว์น้ำเริ่มฟื้นตัวในไม่ช้านี้ ซึ่งเป็นการสร้างอาชีพและรายได้จากการทำประมงให้แก่ชุมชนได้จำนวนมาก

       อย่างไรก็ตาม  สิ่งสำคัญที่จะทำให้ทรัพยากรสัตว์น้ำในลุ่มน้ำโขงกลับมาคงความอุดมสมบูรณ์อีกครั้ง  นั่นคือความร่วมมือ ร่วมใจจากผู้ใช้ทรัพยากรทุกภาคส่วนที่จะต้องมีสำนึกรับผิดชอบในการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรโดยยึดหลักความยั่งยืน