กรมประมงได้ฤกษ์ ประเดิมมอบใบรับรองการทำประมงพื้นบ้านฯแห่งแรกที่ กลุ่มประมงพื้นบ้าน “บ้านไหนหนัง” จ.กระบี่ หวังพัฒนาคุณภาพชีวิตชาวประมงไทย สร้าง“อาหารมั่นคง ประมงยั่งยืน”
วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2564 เวลา 09.00 น. ณ ชุมชนประมงบ้านไหนหนัง ต.เขาคราม อ.เมือง จ.กระบี่ ดร.วิชาญ อิงศรีสว่าง รองอธิบดีกรมประมง พร้อมด้วยนางสาวชุติมา ขมวิลัย ผู้อำนวยการกองพัฒนาระบบการรับรองมาตรฐานสินค้าประมงและหลักฐานเพื่อการสืบค้น นายแสน ศรีงาม ผู้ตรวจราชการกรมนายเกียรติศักดิ์ เกษมพันธ์กุล ประมงจังหวัดกระบี่นายวิวรรธน์ สิงห์ทวีศักดิ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งกระบี่และผู้ที่เกี่ยวข้องร่วมประชุมชี้แจงเพื่อเพิ่มศักยภาพชาวประมงพื้นบ้าน/ผู้ประกอบการผลิตสินค้าประมงพื้นบ้าน พร้อมมอบใบรับรองมาตรฐานการทำประมงพื้นบ้านอย่างยั่งยืนและการแปรรูปสินค้าประมงพื้นบ้าน ให้แก่กลุ่มประมงพื้นบ้านไหนหนัง ต.เขาคราม อ.เมือง จ. กระบี่ จำนวน 11ราย เพื่อเป็นการส่งเสริมและเป็นต้นแบบในการสนับสนุนการทำประมงแบบอย่างมีความรับผิดชอบเป็นไปตามหลักการสากล
ดร.วิชาญ อิงศรีสว่าง รองอธิบดีกรมประมง กล่าวว่า กรมประมงได้จึงกำหนดนโยบายในการส่งเสริมการทำประมงอย่างยั่งยืนสำหรับการทำประมงพื้นบ้านและได้ออกระเบียบเพื่อกำหนดมาตรฐานการทำประมงพื้นบ้านยั่งยืน และการแปรรูปสินค้าประมงพื้นบ้านซึ่งประกาศฉบับดังกล่าวมีผลบังคับใช้ไปเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2563 ที่ผ่านมา โดยหากชาวประมงชุมชนประมงสามารถผ่านการประเมินมาตรฐานตามข้อกำหนดจะได้รับเครื่องหมายบรองมาตรฐานฯ เพื่อแสดงให้เห็นถึงความร่วมมือในการทำประมงที่ยั่งยืนตามหลักการสากลพร้อมส่งต่อทรัพยากรสัตว์น้ำให้เป็นมรดกแก่ลูกหลานต่อไป
สำหรับมาตรฐาน ฯ ดังกล่าวครอบคลุมตั้งแต่กระบวนการจับสัตว์น้ำ การดูแลสัตว์น้ำหลังการจับ และการแปรรูป
เพื่อยกระดับวิถีและสินค้าประมงพื้นบ้านของไทยมีมาตรฐานอาหารปลอดภัยและรับผิดชอบต่อสังคมก่อให้เกิดความยั่งยืนของทรัพยากรประมง ตลอดจนเป็นการเพิ่มช่องทางการตลาดและสร้างคุณค่าให้กับสินค้าประมงพื้นบ้านให้เป็นที่ยอมรับของบริโภคนำมาซึ่งราคาขายที่สูงขึ้น
ส่วนชาวประมงพื้นบ้านที่ประสงค์ยื่นขอใบรับรองมาตรฐานการทำการประมงพื้นบ้านอย่างยั่งยืนและ การแปรรูปสินค้าประมงพื้นบ้าน พ.ศ.2563 ต้องมีคุณสมบัติ แบ่งเป็น 2 ประเภท ดังนี้ 1) จะต้องเป็นสมาชิกองค์กรชุมชนประมงท้องถิ่นขึ้นทะเบียนเป็นผู้ทำการประมง (ทบ.3) และเป็นเรือประมงที่ขึ้นทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย และ 2) จะต้องได้รับการจดทะเบียนเป็นองค์กรชุมชนประมงท้องถิ่นด้านแปรรูปหรือเป็นสมาชิกองค์กรชุมชนประมงท้องถิ่นหรือได้รับการจดทะเบียนผู้ประกอบการด้านการประมง (ทบ.2) โดยใบรับรองดังกล่าวจะมีอายุ 2 ปี นับแต่วันออกใบรับรอง ซึ่งเมื่อได้รับใบรับรองฯ ไปแล้ว จะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขของระเบียบ และรักษาให้เป็นไปตามมาตรฐาน ตลอดอายุใบรับรอง ซึ่งกรมประมงจะมีการตรวจประเมินปีละ 1 ครั้ง
ทั้งนี้ ผู้สนใจสามารถติดต่อได้ที่สำนักงานประมงพื้นที่กรุงเทพมหานคร สำนักงานประมงอำเภอ สำนักงานประมงจังหวัดชายทะเลในเขตพื้นที่ในเขตพื้นที่ หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ กองพัฒนาระบบการรับรองมาตรฐานสินค้าประมงและหลักฐานเพื่อการสืบค้น โทร. 0 2597 9710 หรือทางเว็บไซต์https://www4.fisheries.go.th/local/index.php/main/site/fcstd