กรมประมงเคลียร์ประเด็น ดราม่า ยัน “ปลาพิ้งกี้” จับได้ กินได้ ไม่ผิด กม.

  •  
  •  
  •  
  •  

                                                                    วิชาญ  อิงศรีสว่าง

กรมประมง ยืนยัน “ปลาพิ้งกี้” ไม่ได้อยู่ในบัญชีรายชื่อสัตว์ป่าคุ้มครองตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า  และไซเตส จับไม่ผิดกฎหมาย พบในไทยอาศัยตามซอกหินน้ำลึกฝั่งอันดามัน สามารถบริโภคบริโภคได้ แต่ในประเทศไทยจัดว่าเป็นปลาที่ไม่นิยมนำมาบริโภค เป็นปลาสวยงามจับได้ยาก และราคาแพง

     นายวิชาญ  อิงศรีสว่าง รองอธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า ก่อนหน้านี้มีคลิปที่เกี่ยวกับ “ปลาพิ้งกี้” เป็นประเด็นดราม่าในโลกโซเชียล ที่เห็นภาพปลาพิ้งกี้นำมาแล่ ซึ่งความเป็นจริงปลาพิ้งกี้ หรือชื่อทางการค้าว่า ปลาแพดเดิ้ลป๊อป มีสถานภาพปัจจุบันของปลาพิงกี้ ไม่ได้อยู่ในบัญชีรายชื่อสัตว์ป่าคุ้มครองตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า  และบัญชีรายชื่ออนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ (CITES)แต่อย่างใด

      ปลาพิ้งกี้ มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Meganthias filiferus ชื่อสามัญ Filamentous anthiine จัดเป็นกลุ่มปลาหน้าดินที่มีรูปร่างค่อนข้างกลมและแบนข้าง มีส่วนหัวขนาดใหญ่เป็นหนึ่งในสามของลำตัว ส่วนลำตัวมีสีชมพูถึงแดง และพบแต้มสีเหลืองบริเวณ ปาก หัวด้านบนจนถึงส่วนต้นของครีบหลัง ครีบอก ครีบท้อง และครีบก้น  มีปลายของก้านครีบหลังและครีบหางเป็นเส้นยาว

      ในประเทศไทยพบปลาชนิดนี้ในแนวกองหิน บริเวณฝั่งทะเลอันดามัน ที่ระดับความลึกประมาณ 150 เมตร ซึ่งเป็นบริเวณที่ไม่ใช่แหล่งทำการประมง จึงพบว่าปลาชนิดนี้  สามารถจับได้โดยเครี่องมือประมง ประเภท เบ็ด, เบ็ดราวที่ส่วนใหญ่จะเป็นกิจกรรมของนักตกปลา หรือ กลุ่ม Fishing Game ซึ่งไม่ใช่เครื่องมือประมงที่ผิดกฎหมาย

       อย่างไรก็ตาม จากภาพของปลาและเครื่องมือที่ใช้ในการจับปลา ไม่ได้เป็นเครื่องมือที่ผิดกฎหมาย แต่หากกิจกรรมการตกปลาดำเนินการในพื้นที่ที่มีกฎหมายควบคุมดูแล เช่น พื้นที่อุทยานแห่งชาติทางทะเล ก็จะมีความผิดได้ ดังนั้น การเผยแพร่ข่าวในทำนองนี้ควรต้องมีการตรวจสอบให้แน่ชัดเสียก่อน ส่วนใน เรื่องของการบริโภคปลาชนิดนี้นั้นสามารถนำมาบริโภคได้ แต่ในประเทศไทยจัดว่าเป็นปลาที่ไม่นิยมนำมาบริโภค เนื่องจากจับได้ยากและมีราคาแพง