กรมประมงประกาศเตือน สภาพอากาศเปลี่ยนแปลงจากฤดูฝนเข้าสู่ฤดูหนาว ทำให้สัตว์น้ำทั้งที่อยู่ในแหล่งน้ำธรรมชาติ และที่เกษตรกรเลี้ยงในบ่อดินรวมถึงในกระชัง ปรับตัวไม่ทัน อาจเกิดความเครียด อ่อนแอ ป่วย และเสี่ยงที่จะเกิดโรคได้ง่าย อาจทำให้สัตว์น้ำตายอย่างฉับพลันได้ กรมประมงจึงแจ้งเตือนให้เกษตรกรเตรียมพร้อมรับมือกับโรคในสัตว์น้ำ ชี้อาจเกิดจาก 3 สาเหตุ “เชื้อราสกุลอะฟลาโนมัยซิส- เชื้อแบคทีเรียสกุลฟลาโวแบคทีเรียม -เชื้อไวรัสคอยเฮอบี” แนะ 5 ข้อให้ปฏิบัติตามคำแนะนำของกรมประมง
นายมีศักดิ์ ภักดีคง อธิบดีกรมประมง กล่าวว่า ด้วยขณะนี้สภาพอากาศของประเทศไทยได้เปลี่ยนแปลงจากฤดูฝนเข้าสู่ฤดูหนาวแล้วอย่างเป็นทางการ โดยเฉพาะภาคเหนือและภาคอีสานที่มีอากาศหนาวเย็นลง แต่ในบางพื้นที่ยังมีฝนตกสลับกับอากาศร้อน ทำให้อุณหภูมิของน้ำและออกซิเจนในน้ำมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้สัตว์น้ำทั้งที่อยู่ในแหล่งน้ำธรรมชาติ และที่เกษตรกรเลี้ยงในบ่อดินรวมถึงในกระชัง ปรับตัวไม่ทัน เกิดความเครียด อ่อนแอ ป่วย และเสี่ยงที่จะเกิดโรคได้ง่ายเนื่องจากเชื้อโรคบางชนิดสามารถเจริญเติบโตและแพร่กระจายได้ดีในช่วงหน้าหนาว อาจทำให้สัตว์น้ำตายอย่างฉับพลันได้ กรมประมงจึงแจ้งเตือนให้เกษตรกรเตรียมพร้อมรับมือกับโรคในสัตว์น้ำที่อาจจะเกิดขึ้น ได้แก่
1.เชื้อราสกุลอะฟลาโนมัยซิส (Aphanomyces invadans) เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิด โรคแผลเน่าเปื่อย หรือโรคอียูเอส เป็นโรคที่อยู่ภายใต้ระบบการเฝ้าระวังโรคสัตว์น้ำของประเทศไทย โดยลักษณะอาการปลาที่ป่วย จะมีแผลเน่าเปื่อยลึกตามตัว พบโรคนี้ได้ในปลาหลายชนิดทั้งที่อยู่ในธรรมชาติและบ่อเลี้ยง เช่น ปลาช่อน ปลาตะเพียน ปลาสร้อย ปลากระสูบ ปลาแรด และปลาสลิด เป็นต้น ซึ่งปัจจุบันยังไม่มียาหรือสารเคมีที่จะใช้ในการรักษาโรคนี้ได้ หากสภาพอากาศและน้ำในบ่อเลี้ยงมีอุณหภูมิสูงขึ้น เชื้อราดังกล่าว จะเจริญและแพร่กระจายได้น้อยลง ในขณะเดียวกันปลาที่กำลังป่วยจะมีภูมิต้านทานเพิ่มขึ้น ช่วยให้ปลาหายป่วยเองได้ในเวลาต่อมา
2. เชื้อแบคทีเรียสกุลฟลาโวแบคทีเรียม (Flavobacterium sp.) เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดโรคตัวด่าง พบในปลาหลังจากการย้ายบ่อ หรือการขนส่งโดยลักษณะอาการปลาที่ป่วยจะมีแผลด่างขาวตามลำตัว หากติดเชื้อรุนแรงปลาจะตายเป็นจำนวนมากในระยะเวลาสั้น พบโรคนี้ได้ในปลาสวยงาม ปลากะพงขาว ปลาดุก ปลาช่อน และปลาบู่ วิธีการป้องกันโรคที่ดี คือ ลดความหนาแน่นปลา ลดอาหาร ควบคุมคุณภาพน้ำให้เหมาะสม หลังการเคลื่อนย้ายหรือขนส่งปลา ให้ใช้เกลือแกง 1 กิโลกรัมต่อน้ำ 1 ตัน (0.1 %) เพื่อช่วยลดความเครียด
3. เชื้อไวรัสคอยเฮอบี (koi herpesvirus) เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดโรคไวรัสเคเอชวี พบในปลาตระกูลคาร์พและไน โดยลักษณะอาการปลาที่ป่วย จะรวมกลุ่มอยู่ตามผิวน้ำและขอบบ่อ ซึม ว่ายน้ำเสียการทรงตัว ลำตัวมีเมือกมาก มีแผลเลือดออกตามลำตัว ในปลาที่มีอาการติดเชื้อรุนแรงจะพบอาการเหงือกเน่า ปลาอ่อนแอ กินอาหารน้อยลงหรือไม่กินอาหาร ทยอยตาย พบมีอัตราการตายสูงถึง 50 – 100 % โรคนี้มีสาเหตุจากเชื้อไวรัสจึงไม่มียาสำหรับรักษา วิธีการป้องกันโรคที่ดี คือ ลดความหนาแน่นปลา ลดอาหาร ควบคุมคุณภาพน้ำให้เหมาะสม
นายมีศักดิื กล่าวอีกว่า ถึงแม้โรคดังกล่าวจะพบแค่ในปลา ไม่พบในกุ้งก็ตาม แต่เนื่องจากสภาพอากาศที่เย็นลง นั้นส่งผลกระทบต่อการกินอาหารของกุ้งทำให้กินอาหารได้น้อยลง ซึ่งอาจส่งผลต่อสุขภาพของกุ้งได้เช่นกัน อย่างไรก็ตามเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ควรมีการเตรียมการเฝ้าระวัง เพื่อป้องกันและหลีกเลี่ยงความเสี่ยง ความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้น รวมถึงเป็นการควบคุมโรคสัตว์น้ำ โดยให้ปฏิบัติตามคำแนะนำของกรมประมง ดังนี้คือ 1. วางแผนการเลี้ยงสัตว์น้ำให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่และฤดูกาล
2. ควรคัดเลือกลูกพันธุ์สัตว์น้ำที่มีความแข็งแรง จากฟาร์มผู้ผลิตที่ได้มาตรฐานและเชื่อถือได้,3. ควรปล่อยสัตว์น้ำลงเลี้ยงในอัตราความหนาแน่นที่เหมาะสมหรือน้อยกว่าปกติ เพื่อลดความสูญเสียจากคุณภาพน้ำที่ไม่เหมาะสม และการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ,4. เลือกใช้อาหารที่มีคุณภาพที่ดี และให้อาหารสัตว์น้ำในปริมาณที่เหมาะสม เสริมสารอาหารหรือวิตามินที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของสัตว์น้ำ เช่น โปรไบโอติก วิตามินซี วิตามินรวม เป็นต้น,และ 5. ควรหมั่นตรวจสุขภาพสัตว์น้ำอย่างสม่ำเสมอ กรณีมีสัตว์น้ำป่วยตายควรกำจัดโดยการฝังหรือเผา ไม่ควรทิ้งสัตว์น้ำป่วยไว้ในบริเวณบ่อหรือกระชังที่เลี้ยง เพราะจะเป็นการแพร่กระจายเชื้อโรคทำให้การระบาดของโรคเป็นไปอย่างรวดเร็ว
ทั้งนี้ กรมประมงได้เร่งประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเพื่อเฝ้าระวัง ป้องกัน หลีกเลี่ยงความเสียหายที่จะเกิดขึ้นให้มากที่สุด และที่สำคัญเกษตรกรควรติดตามข่าวสารการพยากรณ์อากาศจากทางราชการอย่างใกล้ชิด หากมีปัญหาในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำสามารถขอรับคำปรึกษาและคำแนะนำได้ที่ สำนักงานประมงอำเภอ สำนักงานประมงจังหวัดทุกแห่งทั่วประเทศ หรือติดต่อได้ที่เบอร์ โทร. 0-2562-0600-15 หรือหากต้องการส่งสัตว์น้ำตรวจวินิจฉัยโรค สามารถติดต่อสอบถามข้อมูลได้ที่กองวิจัยและพัฒนาสุขภาพสัตว์น้ำ โทร. 0-2561-5412 หรือศูนย์วิจัยและพัฒนาสุขภาพสัตว์น้ำ สงขลา โทร. 0-7433-5244-5 ©