สทนช. เสริมพลังชุมชน 8 จังหวัดริมน้ำโขง เดินหน้าส่งเสริมการมีส่วนร่วมการจัดการทรัพยากรธรรมชาติในชุมชน Kickoff กิจกรรม “กำหนดเขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์น้ำและพันธุ์พืชน้ำแม่น้ำโขง” ประเดิม จ.บึงกาฬ หวังขยายผลความร่วมมือระดับชุมชนสู่การวางแผนบริหารจัดการน้ำระดับประเทศ
เมื่อเวลา เวลา 09.30 น. วันที่13 พฤศจิกายน 2563 ทางสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ร่วมกับเครือข่ายภาคประชาสังคมในพื้นที่ 8 จังหวัดริมน้ำโขง จัดกิจกรรม “กำหนดเขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์น้ำและพันธุ์พืชน้ำแม่น้ำโขง จังหวัดบึงกาฬ” ภายใต้ โครงการเสริมสร้างศักยภาพคณะกรรมการลุ่มน้ำโขง ชี มูล ณ ตำบลบุ่งคล้า อำเภอบุ่งคล้า จังหวัดบึงกาฬ โดยมี นายสราวุธ ชีวะประเสริฐ ที่ปรึกษาด้านยุทธศาสตร์น้ำ สทนช. พร้อมด้วย นายนริศ อาจหาญ แกนนำเครือข่ายภาคประชาสังคม 8 จังหวัดริมน้ำโขง (จังหวัดบึงกาฬ) หัวหน้าส่วนราชการจังหวัดบึงกาฬ ผู้แทนกรมประมง และผู้แทนส่วนท้องถิ่น รวมทั้งชาวบ้านในพื้นที่จำนวนมาก เข้าร่วมกิจกรรม
นายสราวุธ ชีวะประเสริฐ ที่ปรึกษาด้านยุทธศาสตร์น้ำ สทนช. กล่าวภายหลังการเปิดงานว่า ที่ผ่านมาประเทศไทยต้องเผชิญกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ทั้งที่เกิดจากปัจจัยทางธรรมชาติและเกิดจากการกระทำของมนุษย์ ส่งผลให้ระบบนิเวศถูกทำลาย เกิดภาวะภัยแล้งและน้ำท่วมยาวนานและมีแนวโน้มทวีความรุนแรงขึ้น และด้วยทรัพยากรน้ำที่มีอยู่อย่างจำกัด จึงเกิดความท้าทายในการบริหารจัดการน้ำที่ซับซ้อนขึ้น โดยเฉพาะแม่น้ำโขง ซึ่งเปรียบเสมือนเส้นเลือดใหญ่ที่หล่อเลี้ยงประชาชนในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สร้างระบบนิเวศเฉพาะถิ่นที่ทรงคุณค่า ทั้งชนิดพันธุ์ปลา พันธุ์สัตว์น้ำ และพืชพรรณไม้น้ำในป่าบุ่งป่าทาม สทนช. จึงได้สร้างกลไกในการขับเคลื่อนแนวทางการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในระดับนโยบาย เพื่อให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำงานสอดประสานกันทั้งส่วนกลางและระดับพื้นที่ ซึ่งเป็นไปตามเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 ที่ต้องการให้เกิดการบูรณาการเกี่ยวกับการจัดสรร การใช้ การพัฒนา การบริหารจัดการ การบำรุงรักษา การฟื้นฟู การอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำ และสิทธิในน้ำ ที่สำคัญต้องสะท้อนการมีส่วนร่วมของประชาชน เพื่อร่วมกันบริหารทรัพยากรน้ำอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล
โดย สทนช. ได้ร่วมมือกับเครือข่ายภาคประชาสังคมในพื้นที่ 8 จังหวัดริมน้ำโขง ดำเนินกิจกรรมการสร้างความเข้มแข็งให้กับเครือข่ายภาคประชาสังคมมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2562 จนถึงปัจจุบัน เป็นการร่วมกันจัดทำแผนปฏิบัติการระดับชุมชนเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศในแม่น้ำโขง เน้นการมีส่วนร่วมของชุมชนให้สามารถขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการได้อย่างเป็นรูปธรรม และในปีนี้ แกนนำเครือข่ายภาคประชาสังคมฯ ได้ร่วมกันเสนอกิจกรรมการกำหนดเขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์น้ำและพันธุ์พืชน้ำแม่น้ำโขง ซึ่งเป็นระบบนิเวศที่สำคัญและเป็นปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิตของประชาชนริมน้ำโขง โดยกรมประมงได้ให้ความอนุเคราะห์ในการกำหนดระเบียบและกติกาการอนุรักษ์พันธุ์สัตว์น้ำที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ โดยได้เลือกจังหวัดบึงกาฬ เป็นจังหวัดแรกสำหรับการเปิดตัวกิจกรรมในครั้งนี้ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงพลังของเครือข่ายภาคประชาชนในพื้นที่ที่ต้องการปกป้อง ฟื้นฟู ดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติในแม่น้ำโขงอย่างจริงจัง อันจะเป็นกำลังสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนนโยบายของภาครัฐลงไปสู่การปฏิบัติในระดับพื้นที่ และภาครัฐก็สามารถกำหนดนโยบายให้สอดคล้องกับความต้องการของคนในพื้นที่ได้อย่างแท้จริง เพราะการดำรงชีวิตของเราพึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติอย่างมากมายมหาศาล ทั้งทรัพยากรน้ำ ดิน ประมง ป่าไม้ และพืชพันธุ์ต่าง ๆ
“กิจกรรมในวันนี้ จึงเสมือนเป็นจุดเริ่มต้นที่ทรงพลัง เป็นการระเบิดจากข้างใน ที่คนในชุมชนได้ร่วมกันสะท้อนปัญหา และความต้องการ รวมทั้งคิดหาแนวทางแก้ไขในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่ของตนเอง สทนช. เป็นเพียงกลไกที่ช่วยเสริมพลังของชุมชนทั้ง 8 จังหวัดริมน้ำโขง ประกอบด้วย จังหวัดเชียงราย เลย หนองคาย บึงกาฬ นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี ให้สามารถปรับตัวเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศในปัจจุบันได้อย่างมีประสิทธิภาพ สร้างความเข้มแข็งให้แก่ชุมชน สร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องในการจัดการทรัพยากรน้ำในทุกมิติ เพื่อให้เราได้กลับไปฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติเหล่านั้นให้มีความอุดมสมบูรณ์ดังเดิม ทั้งการอนุรักษ์ การนำไปใช้ และการฟื้นฟูบำรุงรักษา ที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ สอดคล้องกับวิถีชีวิตของคนริมแม่น้ำโขง เพื่อให้เกิดความยั่งยืนและคงอยู่จนถึงลูกหลานต่อไปในอนาคต ที่สำคัญชุมชนจะเป็นเครือข่ายที่เข้มแข็งในการช่วยแจ้งเตือนและเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำในแม่น้ำโขงให้แก่ สทนช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อสามารถวางแผนบริหารจัดการน้ำได้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น” ที่ปรึกษาด้านยุทธศาสตร์น้ำ สทนช. กล่าวในตอนท้าย
สำหรับกิจกรรม “กำหนดเขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์น้ำและพันธุ์พืชน้ำแม่น้ำโขง จังหวัดบึงกาฬ” ประกอบด้วย พิธีบวงสรวงพญานาคและสิ่งศักดิ์สิทธิ์แม่น้ำโขง “เจ้าโต่ง” พิธีปล่อยป่า สัตว์น้ำ และปลูกพันธุ์ไม้น้ำที่ใกล้สูญพันธุ์ลงสู่แม่น้ำโขง และกิจกรรมเสวนาเพื่อหาแนวทางในการบริหารเขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์น้ำและพันธุ์พืชแม่น้ำโขง โดยมีผู้ร่วมเสวนา ได้แก่ ผู้แทนประมงแม่น้ำโขง ผู้แทนสภาองค์กรชุมชนตำบลบุ่งคล้า ประมงจังหวัดบึงกาฬ ผู้แทนองค์การบริหารส่วนตำบลบึงกาฬ รวมทั้งนิทรรศการชุมชน ที่ประกอบด้วย นิทรรศการวิชาการประมงจังหวัดบึงกาฬ นิทรรศการหนึ่งหมู่บ้านหนึ่งวังสงวนสภาองค์กรชุมชนตำบลบุ่งคล้า และกิจกรรมเด็ก-เยาวชน “แม่น้ำโขงที่หนูอยากเห็น” ทั้งนี้ สทนช. และแกนนำเครือข่ายภาคประชาสังคมในพื้นที่ 8 จังหวัดริมน้ำโขง จะจัดกิจกรรมต่อเนื่องไปอีก 7 จังหวัด ในช่วงเดือนพฤศจิกายน – ธันวาคม 2563 นี้