กรมประมง ออกมาย้ำเตือนประชาชนอีกครั้ง ให้ระวังกิน “แมงดาทะเล” ผิดชนิดอาจได้รับพิษร้ายถึงตายได้ ชี้แมงดาทะเลมี 2 ชนิด “แมงดาจาน-แมงดาถ้วย” แนะวิธีเลือกสังเกตุที่หางถ้าเป็นเหลียมเป็นแมงดาจานกินได้ หางกลมเป็น เห-รา อันตราย
จงจำไว้เป็นอุทาหรณ์ สำหรับผู้ที่ชอบเปิบไข่แมงดาทะเล ก่อนจะกินต้องเลือกให้เป็นเพราะมีมิพิษถึงตายได้ ล่าสุดจากกรณีที่ชาวพื้นที่หมู่ที่ 3 ตำบลรัษฎา อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต รับประทานแมงดาทะเลที่หามาจากป่าชายเลนจนเกิดอาการแพ้และทำให้เสียชีวิต ทางกรมประมงไจึงออกมาเร่งประชาสัมพันธ์ย้ำเตือนให้ประชาชนได้เพิ่มความระมัดระวังในการเลือกรับประทานแมงดาทะเลให้มากขึ้น
ดร.วิชาญ อิงศรีสว่าง รองอธิบดีกรมประมง กล่าวว่า แมงดาทะเลที่พบในน่านน้ำไทยมีอยู่ 2 ชนิด คือ 1. แมงดาจาน หรือ แมงดาทะเลหางเหลี่ยม ไม่มีพิษ สามารถรับประทานได้ ลำตัวมีขนาดใหญ่กว่าแมงดาถ้วย พื้นผิวด้านบนเรียบ มีสีน้ำตาลอมเขียว มีหางเหลี่ยม มีสันและหนามเรียงกันเป็นแถวคล้ายฟันเลื่อย พบอาศัยอยู่ตามพื้นทะเล วางไข่ตามริมชายฝั่งที่เป็นดินทราย
2. แมงดาถ้วย หรือ แมงดาทะเลหางกลม หรือ เห-รา หรือ แมงดาไฟ มีพิษไม่สามารถรับประทานได้ ลำตัวโค้งกลม มีหางกลม ผิวด้านบนมีขนสั้น สีน้ำตาลอมแดง ต่อจากส่วนท้องมีหางค่อนข้างกลมไม่มีสันและไม่มีหนาม พบอาศัยอยู่ตามพื้นทะเลที่เป็นดินโคลนและตามคลองในป่าชายเลน ฝั่งอ่าวไทยจะพบแมงดาทั้งสองชนิดนี้มากที่สุดตามพื้นที่แนวชายฝั่งของทะเลตั้งแต่ จังหวัดจันทบุรี ฉะเชิงเทรา สมุทรปราการ สมุทรสาคร เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ตลอดไปจนถึงชุมพรและฝั่งทะเลอันดามันตั้งแต่สตูลไปจนถึงระนอง
จากข้อมูลทางวิชาการพบว่า สารพิษที่พบอยู่ในเนื้อและไข่ของแมงดาถ้วยคือ สารเทโทรโดท็อกซิน (tetrodotoxin) และซาซิท็อกซิน (saxitoxin) ซึ่งเป็นสารชนิดเดียวกันกับที่พบในปลาปักเป้า เป็นสารที่ส่งผล
ต่อระบบควบคุมการหายใจถึงขั้นเสียชีวิต โดยพิษในแมงดาถ้วยเกิดจาก 2 สาเหตุหลักๆ คือ 1.แมงดากินแพลงก์ตอน
ที่มีพิษ หรือกินสัตว์ทะเลอื่น ๆ ที่กินแพลงก์ตอนพิษเข้าไปทำให้สารพิษไปสะสมอยู่ในเนื้อและไข่ของแมงดา
2. เกิดจากแบคทีเรียในลำไส้ที่สร้างพิษขึ้นมาได้เอง หรือสาเหตุประกอบกันทั้งสอง และที่สำคัญสารพิษทั้ง 2 ชนิดนี้เป็นสารที่ทนต่อความร้อนได้ดี การปรุงอาหารด้วยความร้อนวิธีต่างๆ เช่น ต้ม ทอด หรือ อบ เป็นเวลานานมากกว่าชั่วโมงไม่สามารถทำลายสารพิษชนิดนี้ได้ ประชาชนจึงไม่ควรนำมาบริโภคอย่างเด็ดขาด
สำหรับผู้ได้รับพิษจากแมงดาทะเล อาการมักจะแสดงภายหลังรับประทานประมาณ 10 – 45 นาที หรืออาจช้าไปจนถึง 3 ชั่วโมง ขึ้นอยู่กับแหล่งที่อยู่อาศัยของแมงดา ฤดูกาล จำนวนที่รับประทาน หรือปริมาณของสารพิษที่ได้รับ เช่น รับประทานไข่แมงดาถ้วย อาการพิษจะเกิดรุนแรงกว่ารับประทานเฉพาะเนื้อ อาการมักเริ่มจากมึนงง รู้สึกชาบริเวณลิ้น ปาก ปลายมือ ปลายเท้าและมีกล้ามเนื้ออ่อนแรง เริ่มจาก มือ แขน ขา ตามลำดับ รวมทั้งอาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย บางราย อาจมีน้ำลายฟูมปาก เหงื่อออกมาก พูดลำบาก ตามองเห็นภาพ ไม่ชัด ในรายที่มีอาการรุนแรงมาก จะมีผลทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแรง หายใจลำบากเนื่องจากกล้ามเนื้อกระบังลม ไม่ทำงาน ระบบหายใจล้มเหลว หมดสติ และสมองขาดออกซิเจน หากช่วยไม่ทันอาจเสียชีวิตได้ภายใน 6 – 24 ชั่วโมง
ส่วนวิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้นหากได้รับพิษ ให้ผู้ปฐมพยาบาลทำให้ผู้ป่วยหายใจคล่องที่สุด และรีบนำส่งโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุด หากผู้ป่วยหยุดหายใจ ให้ทำการผายปอดจนกว่าจะถึงโรงพยาบาล ห้ามให้ผู้ป่วยรับประทานอาหารน้ำหรือยา เนื่องจากผู้ป่วยอาจเกิดอาการสำลักได้
ทั้งนี้ เพื่อความปลอดภัยของพี่น้องประชาชน ขอแนะนำว่าควรหลีกเลี่ยงการรับประทานแมงดาทะเล แต่หากต้องการรับประทานขอให้เลือก แมงดาจาน โดยให้สังเกตลักษณะของหางตามที่กล่าวข้างต้น และงดรับประทานไข่แมงดาทะเลที่อยู่ในลักษณะบรรจุหีบห่อโดยไม่เห็นตัวและหางของแมงดาโดยเด็ดขาด เพราะเราไม่อาจทราบได้แน่ชัดว่าเป็นแมงดาชนิดไหน หรืออาจมีไข่แมงดาถ้วยปะปนอยู่ในไข่แมงดาจานหรือไม่
ขณะเดียวกันพ่อค้า แม่ค้า ขอให้ท่านงดจำหน่ายไข่แมงดาทะเลหากไม่แน่ใจว่าเป็นไข่ที่มาจากแมงดาชนิดใดและขอให้เพิ่มความระมัดระวังในการแยกชนิดพันธุ์แมงดาทั้ง 2 ชนิดจากลักษณะภายนอกให้แน่ชัดก่อนนำมาขายให้ผู้บริโภค หากพบแมงดาถ้วย หรือ เหรา ปะปนเข้ามาให้คัดทิ้งทันที กรณีท่านไม่สามารถแยกความแตกต่างของแมงดาทั้ง 2 สายพันธุ์นี้ได้ สามารถสอบถามข้อมูลทางวิชาการเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานประมงจังหวัดใกล้บ้านท่าน หรือ Call Center กรมประมง โทร. 02 562 0600