“เฉลิมชัย” ชี้ภาคประมงไทยเปลี่ยน ย้ำปีที่ 94 ครบรอบวันสถาปนากรมประมง ต้องยกระดับให้มีความมั่นคง-ยั่งยืน

  •  
  •  
  •  
  •  

“เฉลิมชัย” ชี้ปัจจุบันการประมงของประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงไปแล้ว จากที่เคยพึ่งพิงการจับจากธรรมชาติ เพื่อบริโภคในครัวเรือนสู่อุตสาหกรรมการประมงขนาดใหญ่ มีมูลค่าหลายแสนล้านบาท ทั้งการทำประมง การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ อุตสาหกรรมแปรรูปสัตว์น้ำ และอุตสาหกรรมต่อเนื่องอื่น ๆ ระบุปีที่ 94 กรมประมง มุ่งยกระดับการประมงไห้มีความมั่นคงและยั่งยืน

วันที่ 21 กันยายน 2563 นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังพิธีครบรอบวันสถาปนากรมประมงปีที่ 94 พ.ศ. 2563 ณ กรมประมง ว่า ปัจจุบันการประมงของประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก จากการประมงที่ต้องพึ่งพิงการจับจากธรรมชาติ เพื่อใช้บริโภคในครัวเรือนเป็นหลัก กลายมาเป็นอุตสาหกรรมการประมงขนาดใหญ่ ที่มีมูลค่าหลายแสนล้านบาท ทั้งการทำประมง การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ อุตสาหกรรมแปรรูปสัตว์น้ำ และอุตสาหกรรมต่อเนื่องอื่น ๆ ซึ่งการประมงเติบโตเป็นกิจกรรมที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อเศรษฐกิจของประเทศ และที่สำคัญผลผลิตจากการประมงของไทยได้กลายเป็นแหล่งอาหารที่สำคัญทั้งของคนไทยและคนทั่วโลก

นายเฉลิมชัย กล่าวอีกว่า ในช่วงปี 2563 ที่ผ่านมา กระทรวงเกษตรและสหกรณ์มุ่งเน้นการส่งเสริมสินค้าเกษตรปลอดภัยและเกษตรอินทรีย์ การนำศาสตร์พระราชาและเกษตรทฤษฎีใหม่มาเป็นนโยบายในการขับเคลื่อนการดำเนินงาน การพัฒนาเครื่องจักรกล เทคโนโลยี นวัตกรรมเพื่อทดแทนแรงงาน นอกจากนี้ ยังมุ่งเน้นขับเคลื่อนการใช้ระบบการตลาดนำการผลิต โดยได้มีมาตรการในการหาตลาดใหม่ ทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งถือเป็นการเพิ่มช่องทางในการขายให้กับผู้ผลิตสินค้าเกษตร ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของสหกรณ์ เกษตรแปลงใหญ่ วิสาหกิจชุมชน และ Young Smart Farmer ที่ต้องการจะสร้างความเข้มแข็ง เพื่อนำร่องในการปฏิรูปภาคการเกษตร ตลอดจนการบริหารจัดการประมงอย่างยั่งยืน ทั้งในส่วนของประมงพาณิชย์ที่ต้องเร่งส่งเสริมให้รักษาสมดุลของทรัพยากรธรรมชาติทางทะเล เพื่อให้สามารถทำประมงได้ตลอดทั้งปี และในส่วนของประมงพื้นบ้าน ได้มีการขึ้นทะเบียนเรือ ซึ่งขณะนี้มีการขึ้นทะเบียนแล้วประมาณ 50,000 ลำ

นอกจากนี้ จากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้จัดทำโครงการเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบอาชีพด้านการประมง อาทิ 1) การจ่ายเงินช่วยเหลือ จำนวน 5,000 บาท/เดือน ให้กับเกษตรกรและชาวประมงที่ได้ขึ้นทะเบียนกับกรมประมง 2) โครงการการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจภาคการเกษตรจากวิกฤต COVID-19 วงเงินประมาณ 10,000 ล้านบาท 3) โครงการ 1 ตำบล 1 กลุ่มเกษตรทฤษฎีใหม่ กรอบวงเงินรวม 400,000 ล้านบาท โดยเป็นการทำงานแบบบูรณาการร่วมหลายหน่วยงานในกระทรวงเกษตรฯ โดยกรมประมงจะส่งเสริมปัจจัยการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ และ 4) การยกเว้นค่าธรรมเนียมใบอนุญาตให้ทำการเพาะเลี้ยงในที่จับสัตว์น้ำ ซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายและบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนให้แก่เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ เป็นต้น

“ภารกิจของกรมประมงมีส่วนเกี่ยวข้องกับประชากรของประเทศ ตั้งแต่ระดับฐานรากจนถึงระดับเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งอาชีพประมงถือเป็นอาชีพหลักของเกษตรกรชาวไทยอาชีพหนึ่งที่ไม่ต่างกับอาชีพการทำเกษตรแบบอื่น ๆ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมประมง จึงต้องมีการพัฒนาในด้านต่าง ๆ ทั้งบุคลากร เทคโลยี และการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ มีความปลอดภัย ซึ่งจะเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค อย่างไรก็ตาม ต้องมีการบูรณาการร่วมกันกับทุกภาคส่วนเพื่อยกระดับการประมงของไทย ให้มีความมั่นคงและยั่งยืน สร้างพื้นที่ฐานทางเศรษฐกิจที่เข้มแข็ง สร้างการรับรู้ สร้างความสุข สร้างโอกาสและความหวังให้กับพี่น้องชาวประมง และเชื่อมั่นว่ากรมประมงจะอยู่เคียงข้างพี่น้องชาวประมงอย่างจริงใจตลอดไป” นายเฉลิมชัย กล่าว

 

ด้าน นายมีศักดิ์ ภักดีคง อธิบดีกรมประมง กล่าวว่า ในวันที่ 21 กันยายน 2563 นอกจากเป็นวันครบรอบวันสถาปนากรมประมงปีที่ 94 แล้ว ยังเป็นวันประมงแห่งชาติ ครบรอบปีที่ 37 ด้วย ซึ่งถือเป็นวันที่จัดขึ้นเพื่อระลึกถึงความสำคัญของการประมงไทย โดยในส่วนภูมิภาคกำหนดให้จัดกิจกรรมปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำทั้ง 77 จังหวัด และส่วนกลางได้จัดกิจกรรมปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำออนไลน์ จำนวน 1,940,000 ตัว ลงแหล่งน้ำ จำนวน 4 แห่ง คือ บึงบอระเพ็ด จ.นครสวรรค์ กว๊านพะเยา จ.พะเยา หนองหาร จ.สกลนคร และเขื่อนปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ เพื่ออนุรักษ์และเพิ่มจำนวนทรัพยากรประมง

ในโอกาสนี้ รมว.เกษตรฯ ให้เกียรติเป็นประธานในการมอบโล่รางวัลให้แก่ เกษตรกรดีเด่น ข้าราชการดีเด่น รางวัลเลิศรัฐ งานวิจัยดีเด่นและชมเชย ข้าราชการและลูกจ้างประจำเกษียณอายุราชการ Smart PIPO เจ้าหน้าที่สืบสวนต้นแบบ ด้านการควบคุมการทำการประมงดีเด่น (Smart investigator) เรือประมงต้นแบบดีเด่น (Smart Vessel) ท่าเทียบเรือประมงต้นแบบดีเด่น (Smart Port) ชุมชนประมงดีเด่น และฟาร์มเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำดีเด่น ตลอดจนเยี่ยมชมการจัดนิทรรศการผลงานกรมประมง ภายใต้หัวข้อ “กรมประมง ยืนหยัดพัฒนา การประมงอย่างยั่งยืน” ด้วย