ดลมนัส กาเจ
“ปลานิลตัวเมียที่เจริญพันธุ์ได้เร็ว มีความสามารถขยายพันธุ์ได้ดี วางไข่ได้ตลอดปี จึงโตช้ากว่าปลานิลเพศผู้ เพราะในช่วงที่ฟักไข่และอนุบาลลูกปลาในปาก ซึ่งกินเวลา ประมาณ 1 เดือน แม่ปลาจะไม่กินอาหารโตช้า จึงต้องเลียงปลานิลที่ฉีดฮอร์โมนแปลงเพศ หรือที่เรียกว่า “ปลากระเทย” มันจะไม่ผสมพันธุ์กันปลาจะโตเร็ว”
วันวานที่หวนกลับไปที่ “สวนแสวงหา” บ้านดอนกระเบื้อง ต.สีบัวทอง อ.แสวงหา จ.อ่างทอง รู้สึกดีใจ ที่น้องๆบอกว่า ช่วงที่แล้งจัด แต่น้ำในสระยังมีปกอาจลดลงไปบ้างแต่ไม่มากนัก ผมเห็นสภาพแบบนี้มานานแล้ว สระตรงนี้ไม่เคยแห้งขอด ดุจเดียวกับน้ำในร่องสวนที่ขุดมาเมื่อ 3 ปีก่อนลดลงบ้างแต่ก็ไม่แห้งเช่นกัน
ร่องน้ำในสวนกว้าง 2.5-3 เมตร (ปากร่อง 3 ม.) ลึก 1.5 เมตร ระยะหลังดินสไลด์ลงบ้าง ทำให้น้ำตื้นเล็กน้อย แต่ยังเหนือกว่าระดับอก มีปลาช่อน ปลาหมอมาเอง มาวางไข่ออกลูกออกเต้า จะเห็นได้จากมีลูกครอกปลาช่อน จึงคิดว่าร่องน้ำตรงนี้น่าจะทำประโยชน์ได้อย่างน้อยเลี้ยงปลาไว้บริโภค
ล่าสุดทดลองก่อนปล่อยปลานิลแปลงเพศจำนวน 2,500 เป็นการน้ำร่อง จะหาจังหวะเวลาว่าง จะไปตกปลาช่อนออก เพราะอาจไล่กินลูกปลานิลที่ปล่อยไป แต่คงเหลือไว้กินบ้าง
ทำไมจึงเลือกปลานิลแปลงเพศ?
ก็เพราะว่า ปลานิลเป็นปลาที่เลี้ยงง่าย กินอาหารได้ทั้งพืชและสัตว์ แข็งแรง มีการเจริญเติบโตดี และปรับตัว เข้ากับสิ่งแวดล้อมต่างๆได้ดี ปลานิลตัวเมียที่เจริญพันธุ์ได้เร็ว มีความสามารถขยายพันธุ์ได้ดี วางไข่ได้ตลอดปี จึงโตช้ากว่าปลานิลเพศผู้ เพราะในช่วงที่ฟักไข่และอนุบาลลูกปลาในปาก ซึ่งกินเวลา ประมาณ 1 เดือน แม่ปลาจะไม่กินอาหารโตช้า จึงต้องเลียงปลานิลที่ฉีดฮอร์โมนแปลงเพศ หรือที่เรียกว่า “ปลากระเทย” มันจะไม่ผสมพันธุ์กันปลาจะโตเร็ว เพราะไม่ต้องใช้พลังงานในการวางไข่และเลี้ยงลูกนั่นเอง
ที่จริงแล้ววงการเลี้ยงปลานิล มีการพัฒนาเทคนิคหลายอย่าง เพื่อผลิตพันธุ์ปลานิลเพศผู้และเทคนิคการแปลงเพศก็เป็นเทคนิคหนึ่ง ที่นำามาใช้อย่างได้ผล เนื่องจากลูกปลาที่ฟักเป็นตัวใหม่ๆ ยังไม่มีการพัฒนาเป็นเพศใดเพศหนึ่งอย่างชัดเจน การเพิ่มฮอร์โมนเพศ จากภายนอกในช่วงเวลาดังกล่าว จึงสามารถควบคุมให้แสดงออกเป็นเพศใดเพศหนึ่งได้ ขึ้นกับชนิดของ ฮอร์โมน อาทิ ฮอร์โมนแอนโดรเจน (Androgen) ทำให้เป็นปลาเพศผู้ และถ้าเป็นฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) ทำให้เป็นปลาเพศเมีย
กระนั้นส่วนใหญ่จะใช้ฮอร์โมนแอนโดรเจน ในการแปลงเพศปลาให้เป็นเพศผู้ โดยใช้ผสมในอาหารให้กินทันทีที่ถุงไข่แดงของลูกปลายุบ ซึ่งหากกระบวนการต่างๆ ในการแปลงเพศเป็นไปอย่างสมบูรณ์ มีประสิทธิภาพในการแปลงเพศย่อมสมบูรณ์ด้วย การผลิตปลานิลเพศผู้ จึงเป็นที่นิยมของผู้เลี้ยงปลานิลในเชิงพาณิชย์