เดินหน้าพัฒนาพันธุ์สัตว์น้ำใหม่ อีกหนึ่งภารกิจของกรมประมง “ฟื้นความหลากหลายทางพันธุกรรม”

  •  
  •  
  •  
  •  
    “กองวิจัยและพัฒนาพันธุกรรมสัตว์น้ำได้มีการพัฒนาพันธุ์สัตว์น้ำใหม่ ไม่ว่าจะเป็นลักษณะการเจริญเติบโตในกุ้งขาว ปลาช่อน ปลาสลิด และกบนา ลักษณะต้านทานโรคในกุ้งขาว (EMS) ปลานิล (Streptococcus agalactiae) ลักษณะทนเค็มในปลานิล ลักษณะรูปร่างในปลาหมอสายพันธุ์ชุมพร 1 เพื่อเพิ่มทางเลือกให้แก่เกษตรกร”
       หากดูข้อมูลของประเทศไทย จัดเป็นประเทศที่มีศักยภาพสูงในการผลิตสัตว์น้ำเพื่อการบริโภคและการส่งออก แต่ในช่วงระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมาพบว่า มูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำของประเทศไทยมีอัตราการลดลงเฉลี่ยร้อยละ 2 ต่อปี สาเหตุหลักส่วนหนึ่งเกิดจากความผันผวนทางเศรษฐกิจทั่วโลก ประกอบกับการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในปัจจุบัน กำลังเผชิญกับความท้าทายมากกว่าในอดีต เช่น โรคระบาดสัตว์น้ำทั้งโรคอุบัติเก่า และโรคอุบัติใหม่ ที่ทวีความรุนแรง รวมถึงการพึ่งพาลูกพันธุ์จากแหล่งธรรมชาติ ซึ่งมีปริมาณไม่แน่นอนในแต่ละปี และอาจทำให้ทรัพยากรแหล่งพันธุกรรมเสื่อมโทรมลง
      จากปัญหาดังกล่าว กรมประมง โดยกองวิจัยและพัฒนาพันธุกรรมสัตว์น้ำ ได้เห็นความสำคัญของการเพิ่มศักยภาพการพัฒนาพันธุ์สัตว์น้ำที่ต้องทำควบคู่ไปกับการบูรณาการวิทยาการด้านการเพาะเลี้ยงทั้งในด้านโภชนาการสัตว์น้ำ สุขภาพสัตว์น้ำ และเทคโนโลยีการเลี้ยงสัตว์น้ำมากกว่าในอดีตที่ผ่านมา เพื่อเป็นการอนุรักษ์และเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันในตลาดโลก 
                                                                                    ถาวร จิระโสภณรักษ์
      นายถาวร จิระโสภณรักษ์ รองอธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า หนึ่งในพันธกิจหลักที่กรมประมงให้ความสำคัญมาโดยตลอด คือ การจัดการทรัพยากรพันธุกรรมสัตว์น้ำเพื่อคงไว้ซึ่ง “ความหลากหลายทางพันธุกรรม” เนื่องจากทรัพยากรพันธุกรรมสัตว์น้ำเป็นหนึ่งในทรัพยากรที่มีความสำคัญยิ่งต่อความมั่นคงทางอาหารของประเทศ ทั้งนี้ ประชากรสัตว์น้ำในแหล่งน้ำธรรมชาติมีรูปแบบการบริหารจัดการความหลากหลายทางพันธุกรรมในเชิงการอนุรักษ์ ในขณะที่ประชากรสัตว์น้ำที่มีการเพาะเลี้ยงเพื่อการบริโภคนั้น มีรูปแบบในการบริหารจัดการเพื่อการดำรงสายพันธุ์ หรือเพื่อลดผลกระทบต่อการผสมเลือดชิดเป็นหลัก
     ดังนั้นกรมประมงจึงมีแนวทางในการบริหารจัดการความหลากหลายทางพันธุกรรมแตกต่างกัน เช่น การบริหารจัดการความหลากหลายทางพันธุกรรมในประชากรธรรมชาติ ที่มีความจำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการบริหารจัดการความหลากหลายทางพันธุกรรมของประชากรสัตว์น้ำธรรมชาติในการทำการประมงถูกกฎหมาย ตลอดจนการลดการปล่อยปลาที่ได้จากการเพาะเลี้ยงหรือจากการปรับปรุงพันธุ์ หรือเป็นสัตว์น้ำที่ไม่ทราบแหล่งที่มาชัดเจนจนอาจส่งผลกระทบต่อความหลากหลายทางพันธุกรรมสัตว์น้ำของประเทศ
     
     ปัจจุบัน กรมประมง โดยกองวิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดได้มีการเก็บรวบรวมตัวอย่างเนื้อเยื่อและสารพันธุกรรมสัตว์น้ำมากกว่า 240 ชนิด ในธนาคารดีเอ็นเอ/ห้องปฏิบัติการเทคโนโลยีชีวภาพพันธุศาสตร์โมเลกุล นอกจากนี้ กองวิจัยและพัฒนาพันธุกรรมสัตว์น้ำได้มีการเก็บรวบรวมสารพันธุกรรมสัตว์น้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติเก็บไว้ในธนาคารเชื้อพันธุ์มากกว่า 20 ชนิด เพื่อใช้ในการวิเคราะห์โครงสร้างทางพันธุกรรมของประชากรสัตว์น้ำ ติดตามการเปลี่ยนแปลงและกำหนดแผนการจัดการทรัพยากรประมงอย่างยั่งยืน
      ส่วนอีกแนวทางหนึ่งคือ การบริหารจัดการความหลากหลายทางพันธุกรรมของประชากรโรงเพาะฟัก โดยมีเป้าหมายสำคัญในการดำรงรักษาสายพันธุ์ให้มีศักยภาพเชิงเพาะเลี้ยงคงเดิม และลดการเกิดการผสมเลือดชิดที่อาจส่งผลให้ความหลากหลายทางพันธุกรรมลดลง ซึ่งการบริหารจัดการพ่อแม่พันธุ์ตามหลักพันธุศาสตร์สามารถช่วยให้เกษตรกรสามารถดำรงไว้ซึ่งความหลากหลายของประชากรพ่อแม่พันธุ์ไว้ได้ การบริหารจัดการพ่อแม่พันธุ์ ต้องมีการคำนึงถึงทรัพยากรที่ใช้ในการเพาะเลี้ยงของหน่วยงาน รูปแบบการผสมพันธุ์ของสัตว์น้ำ จำนวนพ่อแม่พันธุ์ที่ใช้ ตลอดจนอัตราส่วนการผสมพันธุ์ โดยปัจจุบัน กรมประมง โดยกองวิจัยและพัฒนาพันธุกรรมสัตว์น้ำได้มีการพัฒนาคู่มือ “การบริหารจัดการความหลากหลายทางพันธุกรรมของพ่อแม่พันธุ์สัตว์น้ำ” เพื่อใช้เป็นแหล่งความรู้และแนวทางในการปฏิบัติภายในกรมประมง
     อย่างไรก็ดี เพื่อเป็นการเสริมสร้างองค์ความรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการบริหารจัดการความหลากหลายทางพันธุกรรมระหว่างกรมประมงและเกษตรกร เพื่อความยั่งยืนในการอนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์น้ำและแหล่งน้ำในท้องถิ่น กรมประมง โดยกองวิจัยและพัฒนาพันธุกรรมสัตว์น้ำ ยังได้ร่วมกับ กองวิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืด และกองวิจัยและพัฒนาประมงทะเล จัดให้มีการฝึกอบรมหลักสูตร “การบริหารจัดการความหลากหลายทางพันธุกรรมของพ่อแม่พันธุ์สัตว์น้ำ” ขึ้นในปี พ.ศ. 2561 เพื่อเป็นการพัฒนาบุคลากรของกรมประมงให้มีความรู้และความเข้าใจในการบริหารจัดการความหลากหลายทางพันธุกรรมพ่อแม่พันธุสัตว์น้ำ ตลอดจนการบริหารจัดการประชากรสัตว์น้ำเพื่อปล่อยสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ
     นอกจากนี้เพื่อให้บุคลากรของกรมประมงนำองค์ความรู้ไปถ่ายทอดแก่เกษตรกร ตลอดจนนำไปใช้เป็นแนวทางในการอนุรักษ์ทรัพยากรประมงร่วมกับชาวประมง หรือชุมชนที่มีส่วนได้ส่วนเสีย โดยมีตัวอย่างการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และการจัดการความหลากหลายทางพันธุกรรมเพื่อการอนุรักษ์ร่วมกันเช่น ธนาคารปูม้า ซึ่งเป็นการนำแม่ปูม้าที่มีไข่แก่ติดหน้าท้องมาฝากไว้ในกระชังที่อยู่ในทะเลหรือถังน้ำในโรงเรือน เมื่อแม่ปูม้าเขี่ยไข่ออกจากหน้าท้องแล้วจึงนำแม่ปูไปขาย ไข่ที่ถูกเขี่ยออกจากตัวแม่จะฟักเป็นตัวอ่อนและปล่อยกลับลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติเดิมที่แม่ปูม้าถูกจับมา การปล่อยลูกปูผ่านธนาคารปูม้าจึงเป็นการบริหารจัดการความหลากหลายทางพันธุกรรมอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อการอนุรักษ์และเพื่อการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรประมงที่ยั่งยืน เป็นต้น 
     นายถาวร กล่าวอีกว่า นอกจากการบริหารจัดการความหลากหลายทางพันธุกรรมสัตว์น้ำแล้ว กรมประมงยังได้ดำเนินงานวิจัยด้านการพัฒนาพันธุกรรมสัตว์น้ำเพื่อนำไปสู่การส่งเสริมให้กับเกษตรกรควบคู่กันไปด้วย โดยกองวิจัยและพัฒนาพันธุกรรมสัตว์น้ำได้มีการพัฒนาพันธุ์สัตว์น้ำใหม่ เช่น ลักษณะการเจริญเติบโตในกุ้งขาว ปลาช่อน ปลาสลิด และกบนา ลักษณะต้านทานโรคในกุ้งขาว (EMS) ปลานิล (Streptococcus agalactiae) ลักษณะทนเค็มในปลานิล ลักษณะรูปร่างในปลาหมอสายพันธุ์ชุมพร 1 เป็นต้น เพื่อเพิ่มทางเลือกให้แก่เกษตรกร
      ขณะนี้ กองวิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งและกองวิจัยและพัฒนาพันธุกรรมสัตว์น้ำ อยู่ระหว่างดำเนินการพัฒนาสายพันธุ์โตเร็วในปูทะเล และสายพันธุ์ปลากะพงขาวปลอดโรคและโตดีอีกด้วย โดยในกระบวนการวิจัยพัฒนาสายพันธุ์สัตว์น้ำ กรมประมงได้มีการพัฒนานำเทคโนโลยีการปรับปรุงพันธุ์ด้วยเครื่องหมายพันธุกรรมโมเลกุลที่สัมพันธ์กับลักษณะที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ เช่น ลักษณะต้านทานโรค Streptococcus agalactiae ในปลานิล เป็นต้น ซึ่งผลงานวิจัยต่างๆ เหล่านี้ เมื่อได้ลักษณะที่ต้องการแล้ว จะมีการส่งต่อให้กองวิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืด กองวิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง กองวิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืด กองวิจัยและพัฒนาประมงทะเล ผลิตและกระจายพันธุ์สู่เกษตรกร
      ทั้งนี้เพื่อเพิ่มทางเลือกให้แก่เกษตรกรได้มีโอกาสเข้าถึงลูกพันธุ์คุณภาพดี ช่วยเพิ่มศักยภาพการผลิตสัตว์น้ำของประเทศต่อไป ซึ่งกว่า 30 ปีที่กรมประมง ได้ดำเนินการปรับปรุงพันธุ์สัตว์น้ำ และได้สร้างสายพันธุ์สัตว์น้ำรวม 12 สายพันธุ์ในสัตว์น้ำ 8 ชนิด ได้แก่ ปลานิลดำ ปลานิลแดง ปลาตะเพียน กุ้งก้ามกราม ปลายี่สกเทศ ปลานวลจันทร์เทศ ปลาหมอปลาไน และพันธุ์ไม้น้ำ 1 ชนิด ก็ได้มีการนำไปใช้ประโยชน์ส่งเสริมเกษตรกรผ่านโครงการภาครัฐหลากหลายโครงการ
      “จะเห็นว่า พันธุกรรมสัตว์น้ำมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมให้การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำมีศักยภาพการผลิตสูงขึ้น ช่วยให้เกษตรกรมีความสามารถในการแข่งขันในตลาดทั้งในและต่างประเทศ อีกทั้งยังเป็นแนวทางในการบริหารจัดการทรัพยากรเพื่อคงไว้ซึ่งความหลากหลายทางพันธุกรรม ป้องกันไม่ให้สัตว์น้ำในแหล่งน้ำธรรมชาติสูญพันธุ์และส่งเสริมให้มีการใช้ประโยชน์จากแหล่งพันธุกรรมสัตว์น้ำอย่างยั่งยืน กรมประมงยังคงมุ่งมั่นที่จะวิจัยและพัฒนาด้านพันธุกรรมสัตว์น้ำอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้คนไทยมีความมั่นคงและความปลอดภัยทางอาหารตลอดไป”รองอธิบดีกรมประมง กล่าว
         ก็นับเป็นอีกหนึ่งภารกิจของกรมประมง ที่มุ่งเน้นการพัฒนาความหลากหลายทางพันธุกรรมสัตว์น้ำ เพื่อการอนุรักษ์และเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันในตลาดโลกอีกด้วย