ปั้น “ปลากะพงทอง”สู่สัตว์น้ำเศรษฐกิจตัวใหม่ ป้อนตลาดอาหารซีฟู้ด

  •  
  •  
  •  
  •  
กรมประมง เร่งเพาะพันธุ์ “ปลากะพงทอง” หรือ “อังเกย” จากอันดามัน หลังขยายพันธุ์ประสบผลสำเร็จ หวังปั้นเป็นสัตว์น้ำเศรษฐกิจชนิดใหม่ ป้อนตลาดอาหารซีฟู้ด เผยผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศให้ความนิยม  เพราะรสชาตอร่อย มีกรดไขมันกลุ่มโอเมก้า 3 สูง สามารถนำมาประกอบอาหารได้หลากหลายเมนู ทั้งนึ่งซีอิ้ว ต้มยำ แกงส้ม ทอดกระเทียม ลวกจิ้ม และซาซิมิ ล่าสุดได้ขยายผลให้เกษตรกรได้เพาะเลี้ยงในเชิงพาณิชย์ได้แล้ว 
      นายมีศักดิ์ ภักดีคง อธิบดีกรมประมง กล่าวว่า กรมประมงมีนโยบายในการพัฒนางานวิจัยด้านต่างๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อส่งเสริมการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำสำหรับทดแทนการจับจากธรรมชาติ ซึ่งนับวันมีปริมาณลดน้อยถอยลง โดยเฉพาะสัตว์น้ำเศรษฐกิจซึ่งเป็นที่ต้องการของผู้บริโภค ตามนโยบายของท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน) ที่เน้นส่งเสริมให้ภาครัฐใช้การตลาดนำการผลิต เพื่อสร้างความยั่งยืน ในการประกอบอาชีพให้แก่เกษตรกรไทย อย่าง“ปลากะพงทอง” ถือเป็นปลาทะเลที่ตลาดมีความต้องการอย่างมาก เนื่องจากเป็นที่นิยมของผู้บริโภคทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ เช่น มาเลเซีย ฮ่องกง และจีน เป็นต้น
 
   อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันยังไม่มีการเพาะเลี้ยงปลากะพงทองในเชิงพาณิชย์อย่างแพร่หลาย ปลากะพงทองที่นำมาบริโภคส่วนใหญ่ได้มาจากการจับจากธรรมชาติ ราคาจำหน่ายค่อนข้างสูง โดยปลากะพงทองขนาด 800 – 1,000 กรัม อยู่ที่กิโลกรัมละ 180 – 220 บาท  กรมประมงจึงได้สนับสนุนให้หน่วยงานในสังกัดเร่งทำการศึกษา วิจัย การเพาะพันธุ์ปลากะพงทอง เพื่อรองรับความต้องการของตลาดและผู้บริโภค พร้อมส่งเสริมให้เกษตรกรได้นำลูกพันธุ์ไปเลี้ยงเพื่อสร้างอาชีพและรายได้ที่มั่นคงต่อไป
     ด้านนางพิชญา ชัยนาค ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งเขต 5 (ภูเก็ต) กองวิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง กล่าวเพิ่มเติมว่า “ปลากะพงทอง” หรือ “อังเกย” เป็นปลาทะเลที่พบได้ในทะเลฝั่งอันดามัน บริเวณจังหวัดภูเก็ต กระบี่ และพังงา มีชื่อสามัญว่า Golden Snapper และชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Lutjanus johnii ลักษณะลำตัวมีสีเหลืองทอง และมีจุดสีดำใหญ่ ๆ บริเวณลำตัว ค่อนมาทางครีบหาง ปากมีเขี้ยวและฟันแหลมคม เนื้อแน่น รสชาติดี มีกรดไขมันกลุ่มโอเมก้า 3 สูง สามารถนำมาประกอบอาหารได้หลากหลายเมนู เช่น นึ่งซีอิ้ว ต้มยำ แกงส้ม ทอดกระเทียม ลวกจิ้ม และซาซิมิ เป็นต้น
      ปัจจุบันศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งเขต 5 (ภูเก็ต) สามารถเพาะพันธุ์ปลากะพงทอง
ได้สำเร็จ โดยใช้วิธีการฉีดฮอร์โมน Suprefact ร่วมกับ Motilium ทั้งในพ่อและแม่พันธุ์ปลาที่จับจากธรรมชาติ
เพื่อกระตุ้นการสืบพันธุ์ แล้วปล่อยให้ปลาผสมพันธุ์กันเองตามธรรมชาติ โดยเมื่อเดือนพฤษภาคม 2563 ที่ผ่านมา
แม่ปลาที่ฉีดฮอร์โมนได้วางไข่ และไข่ฟักออกเป็นตัว อัตราฟักร้อยละ 85 จากนั้นจึงนำลูกปลาวัยอ่อนไปอนุบาลต่อในบ่อคอนกรีต ซึ่งลูกปลามีอัตราการรอดและการเจริญเติบโตที่ดี
       ล่าสุดทางศูนย์ฯ สามารถดำเนินการผลิตลูกพันธุ์ปลากะพงทองขนาด 3 เซนติเมตร หรือ 1.2 นิ้ว ซึ่งเป็นขนาดที่เหมาะสมต่อการนำไปเลี้ยงในกระชังได้จำนวนหลายรุ่นต่อเนื่อง โดยมีการจำหน่ายให้แก่เกษตรกร ในราคาเริ่มต้นตัวละ 2 บาท (ขนาด 1 เซนติเมตร) ซึ่งมีเกษตรกรในพื้นที่จังหวัดภูเก็ตและจังหวัดใกล้เคียง เช่น พังงา และกระบี่ ได้นำลูกพันธุ์ไปเลี้ยงในกระชังบริเวณริมฝั่งทะเล โดยให้กินปลาสดและอาหารเม็ด วันละ 1 – 2 มื้อ ใช้ระยะเวลาการเลี้ยงประมาณ 8 – 9 เดือน จะได้ปลาขนาด 800 – 1,000 กรัม ก็สามารถทยอยจับขายให้กับร้านอาหารหรือภัตตาคารได้ ซึ่งสามารถทำรายได้ให้กับเกษตรกรได้เป็นอย่างดี
       นอกจากนี้ ทางศูนย์ฯ ยังได้ทำการปล่อยลูกปลากะพงทองจำนวนหนึ่งคืนสู่ธรรมชาติ เพื่อเพิ่มประชากรในแหล่งที่อยู่อาศัยเดิมให้คงความอุดมสมบูรณ์ต่อไปอีกด้วยสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งเขต 5 (ภูเก็ต)กองวิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง กรมประมง โทรศัพท์ 076 621 822 ในวันและเวลาราชการ