คิกออฟเปิดรับชาวประมงเข้ารน่วมโครงการสินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่องผู้ประกอบการประมง เริ่ม 1 รกฎาคม 2563 วงเงิน 10,300 ล้าน หวังเสริมสภาพคล่องและฟื้นฟูอาชีพประมง หลังได้รับกระทบโควิด-19 รัฐบาลควัก 2,163 ล้านบาท ช่วยค่าดอกเบี้ยร้อยละ 3
;วันที่ 1 กรกฎาคม 2563 นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในฐานะประธานคณะกรรมการฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพประมงไทย กว่าว่า ตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบโครงการสินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่องผู้ประกอบการประมง กรอบวงเงิน 10,300 ล้านบาท ซึ่ง ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้สั่งการให้กรมประมงประสานธนาคารเกษตรและสหกรณ์ (ธ.ก.ส.) และธนาคารออมสิน ดำเนินการเปิดตัวโครงการดังกล่าวโดยเร็ว เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของชาวประมงพื้นบ้านและประมงพาณิชย์ด้วยการจัดหาแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำ และเปิดรับผฅู้เข้าร่วมโครงการฯ ตั้งแต่วันนี้ 1 กรกฎาคม 2563 – 25 พฤษภาคม 2564 ซึ่งโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำซอล์ฟโลนดังกล่าวถือเป็นโครงการสินเชื่อประมงที่มีวงเงินมากที่สุดครอบคลุมทั้งประมงพื้นบ้าน และประมงพาณิชย์เป็นครั้งแรกในประเทศไทย โดยรัฐบาลจัดงบประมาณช่วยดอกเบี้ยร้อยละ 3 เป็นเงิน 2,163 ล้านบาท
ด้านนายบัญชา สุขแก้ว รองอธิบดีกรมประมง กล่าวว่า ชาวประมงสามารถกู้เงินไปเสริมสภาพคล่องในการประกอบอาชีพได้ในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 7 ต่อปี รัฐบาลจะชดเชยดอกเบี้ยให้ร้อยละ 3 และผู้ประกอบการประมงจ่ายสมทบเองอีกร้อยละ 4 ต่อปี มีกำหนดชำระคืนเงินกู้ให้แล้วเสร็จ ภายในระยะเวลา 7 ปี นับตั้งแต่วันที่กู้ ซึ่งจะเปิดรับสมัครชาวประมงที่สนใจเข้าร่วม ณ สำนักงานประมงจังหวัดชายทะเลทั้ง 22 จังหวัด และสำนักงานประมงพื้นที่กรุงเทพมหานคร สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ เว็บไซต์กองนโยบายและยุทธศาสตร์พัฒนาการประมงกรมประมง http://www4.fisheries.go.th หรือ โทร. 02 561 3353 ในวันและเวลาราชการ หรือคิวอาร์โค้ด
ขณะที่นางสุดารัตน์ กลิ่นเจริญ ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารลูกค้าธุรกิจและภาครัฐ (ผู้แทนธนาคารออมสิน) และนายประสาน พูลเวช รองผู้อำนวยการฝ่ายกิจการนโยบายรัฐ (ผู้แทน ธ.ก.ส. ) ร่วมแถลงว่า รูปแบบสินเชื่อแบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่ (1) สินเชื่อเงินกู้ระยะสั้น เพื่อเป็นทุนหมุนเวียนในการประกอบอาชีพ เช่น ค่าใช้จ่ายในการจ้างแรงงาน ค่าน้ำมัน ค่าน้ำแข็ง ฯลฯ (2) สินเชื่อเงินกู้ระยะยาว เพื่อเป็นเงินทุนในการไปปรับปรุงเรือ ปรับเปลี่ยนเครื่องมือและอุปกรณ์ทำการประมง โดยมีธนาคารของรัฐที่เข้าร่วม 2 แห่ง ได้แก่
1. ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส) ปล่อยวงเงินสินเชื่อ 5,300 ล้านบาท สนับสนุนเรือประมงพื้นบ้านและเรือประมงพาณิชย์ ที่มีขนาดต่ำกว่า 60 ตันกรอส ในวงเงินรายละไม่เกิน 5 ล้านบาท, และ 2. ธนาคารออมสิน ปล่อยวงเงินสินเชื่อ 5,000 ล้านบาท สนับสนุนเรือประมงพาณิชย์ ที่มีขนาดตั้งแต่ 60 ตันกรอสขึ้นไป ในวงเงินรายละไม่เกิน 10 ล้านบาท
สวนนายนนายพิชัย แซ่ซิ้ม เลขาธิการสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย และนายปิยะ เทศแย้ม รองนายกสมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ขอบคุณรัฐบาล กระทรวงเกษตรฯ และกรมประมงที่เข้าใจความเดือดร้อนของพี่น้องประมงโดยสนับสนุนโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำในครั้งนี้ซึ่งเป็นโครงการที่ทั้งภาครัฐและสมาคมประมงได้ร่วมคิดร่วมทำมาด้วยกันตั้งแต่ปีที่แล้วโดยหวังว่าจะช่วยฟื้นฟูอาชีพประมงให้ยืนได้ในภาวะวิกฤตโควิด