นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน (กลาง แถวหน้า) เป็นประธานพิธีประกาศใช้มาตรการปิดอ่าวไทย
กระทรวงเกษตรฯ ประกาศปิดอ่าวไทย 3 เดือน เริ่ม15 ก.พ. – 15 พ.ค. 63 นี้ ในเขตพื้นที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี และต่อด้วยเขตพื้นที่พิเศษ 7 ไมล์ทะเลและพื้นที่อ่าวประจวบฯ อีก 30 วัน หวังอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำให้มีใช้อย่างยั่งยืน
นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังพิธีประกาศใช้มาตรการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำมีไข่ วางไข่ เลี้ยงตัวอ่อน ทะเลอ่าวไทย ประจำปี 2563 ณ ท่าเทียบเรือองค์การสะพานปลาปากน้ำชุมพร ต.ปากน้ำ อ.เมือง จ.ชุมพร ว่า จากผลการศึกษาวิจัยทางวิชาการของกรมประมงพบว่าพื้นที่ทะเลของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร และสุราษฎร์ธานี เป็นพื้นที่ที่สัตว์น้ำเศรษฐกิจหลายชนิด โดยเฉพาะปลาทู ซึ่งมีวงจรชีวิตในช่วงของการปิดอ่าวไทยตอนกลาง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมประมง ซึ่งมีหน้าที่ดูแลการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรสัตว์น้ำ จำเป็นต้องดำเนินมาตรการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำ เพื่อป้องกันการใช้ทรัพยากรเกินกำลังการผลิตของธรรมชาติ และไม่ให้เกิดความเสื่อมโทรมของทรัพยากรสัตว์น้ำ จึงได้กำหนดมาตรการทางกฎหมายขึ้น
ทั้งนี้ มาตรการปิดอ่าว มีการประกาศใช้มาเป็นระยะเวลายาวนานกว่า 67 ปี และล่าสุด เมื่อปี พ.ศ. 2561 ได้มีการปรับปรุงกฎหมายเพื่อให้สอดคล้องกับสภาพทรัพยากรสัตว์น้ำ สิ่งแวดล้อม และสังคม โดยผ่านความเห็นชอบร่วมกันระหว่างกรมประมง ผู้แทนชาวประมงพาณิชย์-ชาวประมงพื้นบ้าน และออกเป็นประกาศ ลงวันที่ 31 มกราคม 2561 ที่กำหนดพื้นที่และระยะเวลาฤดูปิดอ่าวไทยให้ชัดเจนยิ่งขึ้น ซึ่งมีการกำหนดพื้นที่ปิดอ่าวไทยตอนกลาง ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 27,000 ตารางกิโลเมตร บางส่วนของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร และสุราษฎร์ธานี ระยะเวลา 3 เดือน ระหว่างวันที่ 15 ก.พ. – 15 พ.ค. และต่อด้วยเขตพื้นที่พิเศษ 7 ไมล์ทะเลและพื้นที่อ่าวประจวบฯ อีก 30 วัน ของทุกปี โดยได้กำหนดให้เครื่องมือประมงบางชนิดของกลุ่มประมงขนาดเล็กซึ่งไม่กระทบกับมาตรการปิดอ่าวให้สามารถใช้ทำการประมงได้ ทำให้สัตว์น้ำได้รับการคุ้มครองไม่ถูกจับมาใช้ประโยชน์จนเกินสมควร เป็นการเปิดโอกาสให้พ่อแม่พันธุ์สัตว์น้ำได้วางไข่แพร่ขยายพันธุ์ และสัตว์น้ำวัยอ่อนได้เลี้ยงตัวเจริญเติบโต อันจะเป็นการสานต่อวงจรชีวิตสัตว์น้ำให้มีความอุดมสมบูรณ์ตลอดไป
สำหรับพิธีประกาศปิดอ่าวฯ ในวันนี้ ได้รับความสนใจจากพี่น้องชาวประมง เดินทางมาร่วมเป็นสักขีพยานในการประกาศปิดอ่าวฯ และได้ร่วมกันประกอบพิธีบวงสรวงพลเรือเอกพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ พร้อมปล่อยขบวนเรือเจ้าหน้าที่เพื่อออกปฏิบัติหน้าที่ในช่วงการประกาศใช้มาตรการ และร่วมปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำลงทะเลจังหวัดชุมพร เพื่อให้ได้ไปเผยแพร่ขยายพันธุ์ และชมนิทรรศการความรู้เกี่ยวกับมาตรการอนุรักษ์สัตว์น้ำและความรู้เกี่ยวกับวงจรชีวิตปลาทูแต่ละช่วงวัยที่สอดคล้องกับการออกมาตรการฯ ปิดอ่าว ซึ่งประชาชนจะได้มีโอกาสเรียนรู้และเกิดความตระหนักในการทำประมงได้อย่างเหมาะสม เพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรให้คุ้มค่า ซึ่งการปลูกจิตสำนึกจะเป็นส่วนสำคัญการขับเคลื่อนมาตรการปิดอ่าวฯ เกิดประโยชน์สูงสุด นอกจากนี้ ยังได้ร่วมมือกับสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย ภาคเอกชน และชาวประมง ได้ตระหนักถึงการลดขยะทะเลจากภาคการประมง ซึ่งถือเป็นวาระแห่งชาติภายใต้แผนแม่บทการจัดการขยะแห่งชาติ ฉบับที่ 2559 – 2564 และโครงการพัฒนาด้านการประมง เพื่อพัฒนาการบริหารจัดการประมงให้ยั่งยืน โดยสอดรับตามปฏิญญากรุงเทพฯ ว่าด้วยการต่อต้านขยะในภูมิภาคอาเซียน ตามมติที่ประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 34 จึงจัดทำกิจกรรมขยะคืนฝั่ง ทะเลสวยด้วยมือเรา เพื่อขับเคลื่อนการลดขยะทะเล ภายใต้ความร่วมมือทุกภาคส่วนพร้อมกันในครั้งนี้ด้วย
ด้าน นายมีศักดิ์ ภักดีคง อธิบดีกรมประมง กล่าวเพิ่มเติมว่า การประกาศปิดอ่าวไทยดังกล่าว ได้กำหนดให้เครื่องมือประมงบางชนิดของกลุ่มประมงขนาดเล็กที่ไม่กระทบกับมาตรการปิดอ่าวให้สามารถใช้ทำการประมงได้ ได้แก่ 1) เครื่องมืออวนลากแผ่นตะเฆ่ อวนลากคานถ่างที่ใช้ประกอบเรือกลที่มีขนาดความยาวไม่เกิน 16 เมตร ต้องทำการประมงในเวลากลางคืน และต้องทำการประมงนอกเขตทะเลชายฝั่งด้วย 2) เครื่องมืออวนติดตาปลาที่ใช้ประกอบเรือกลที่มีขนาดต่ำกว่า 10 ตันกรอส และต้องใช้ช่องตาอวนตั้งแต่สองนิ้วขึ้นไป กรณีที่ชาวประมงต้องการใช้เครื่องมืออวนติดตาปลาที่มีความยาวอวนเกิน 2,500 เมตร ต่อเรือประมง 1 ลำ จะต้องใช้นอกเขตทะเลชายฝั่ง เท่านั้น
3) เครื่องมืออวนปู อวนลอยกุ้ง 4) เครื่องมืออวนครอบ อวนช้อน หรืออวนยกหมึก ที่ใช้ประกอบกับเครื่องกำเนิดไฟฟ้า (เครื่องปั่นไฟ) ต้องทำการประมงนอกเขตทะเลชายฝั่ง 5) ลอบปู ต้องทำการประมงตามเงื่อนไขที่กำหนด 6) ลอบหมึกทุกชนิด 7) ซั้งทุกชนิดที่ใช้ประกอบทำการประมงพื้นบ้าน สามารถทำการประมงได้ในเขตทะเลชายฝั่ง 8) คราดหอย ต้องทำการประมงตามเงื่อนไขที่กำหนด 9) อวนรุนเคย ต้องทำการประมงตามเงื่อนไขที่กำหนดโดยประกาศกระทรวงฯ 10) จั่น ยอ แร้ว สวิง แห เบ็ด สับปะนก ขอ ลอบ ฉมวก และเครื่องมืออื่นใดที่ไม่ใช้ประกอบเรือกลขณะทำการประมง และ 11) เรือประมงที่มีขนาดต่ำกว่า
10 ตันกรอส ที่ใช้เครื่องยนต์มีกำลังแรงม้าไม่ถึง 280 แรงม้า ประกอบเครื่องมือทำการประมงที่มิใช่เครื่องมือตามประเภท วิธีการทำการประมงที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ประกาศกำหนดให้เป็นประมงพาณิชย์ทำการประมง ยกเว้นอวนครอบ อวนช้อน หรืออวนยกปลากะตัก ที่ใช้ประกอบเครื่องกำเนิดไฟฟ้า (เครื่องปั่นไฟ) และที่ห้ามตามประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง กำหนดเครื่องมือทำการประมง วิธีการทำการประมง และพื้นที่ทำการประมงที่ห้ามใช้ทำการประมงในที่จับสัตว์น้ำเขตทะเลชายฝั่ง พ.ศ. 2561 ลงวันที่ 9 พฤศจิกายน 2560
“ขอฝากพี่น้องชาวประมงโปรดให้ความร่วมมือในการปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด และระมัดระวังการทำประมงโดยให้ทำประมงเฉพาะเครื่องมือที่ประกาศให้เท่านั้น เครื่องมืออื่น ๆ ห้ามทำโดยเด็ดขาด หากผู้ใดฝ่าฝืนจะเป็นความผิดตามตามมาตรา 70 แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 ต้องระวางโทษ ปรับตั้งแต่ 5,000 บาท – 30 ล้านบาท ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับขนาดของเรือประมง หรือปรับจำนวน 5 เท่าของมูลค่าสัตว์น้ำที่ได้จากการทำการประมง แล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า และต้องได้รับโทษทางปกครองอีกด้วย” นายมีศักดิ์ กล่าว