ชี้เพิ่มวันทำประมง เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของชาวตังเก

  •  
  •  
  •  
  •  

กรมประมงแจงเหตุ การเพิ่มวันทำประมง และการออกใบอนุญาตทำประมงให้กับเรือประมงพาณิชย์ เพื่อเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนที่จะเกิดขึ้นกับชาวประมง และสามารถที่จะประกอบอาชีพ ควบคู่กับการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำให้เกิดความสมดุลและยั่งยืน

        นายมีศักดิ์ ภักดีคง อธิบดีกรมประมง ได้ชี้แจงว่า ตามที่สื่อมวลชนได้นำเสนอเกี่ยวกับประเด็น การเพิ่มวันทำการประมงให้กับเรือประมงพาณิชย์โดยไม่มีการเปิดให้มีการยกสิทธิ์ทำการประมงให้กับเรือประมงพาณิชย์ตามกฎกระทรวงการขออนุญาต และการอนุญาตทำการประมงพาณชย์ พ.ศ. 2562 (ลงวันที่ 25 พฤศจิกายน 2562) ว่า กฎกระทรวงการฉบับดังกล่าวได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ไปแล้ว วันที่ 2 ธันวาคม 2562 นั้น โดยในการออกกฎเพื่อบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำ ในแต่ละปีไม่มีการคิดใหม่หรือจัดสรรโควต้าให้ชาวประมงกลุ่มใดใหม่แต่อย่างใด โดยประกาศฉบับดังกล่าวมีสาระสำคัญ ดังนี้

     1. เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์การออกใบอนุญาตทำการประมงพาณิชย์ใหม่ ตั้งแต่ปี 2563 เป็นไปต้นไป (เริ่มปีการประมง วันที่ 1 เมษายน 2563),2. เพื่อให้เกิดความยืดหยุ่นในการแก้ไขใบอนุญาตทำการประมงพาณิชย์ในระหว่างรอบปีการประมง และเพื่อลดความเดือดร้อนให้แก่พี่น้องชาวประมงในการประกอบอาชีพทำการประมง ได้แก่ ให้สามารถแก้ไขรายการผู้รับอนุญาต ชื่อเรือประมง รวมทั้งขนาดเรือประมงให้ตรงกับทะเบียนของกรมการปกครองและกรมเจ้าท่าได้ เช่น แก้ไขชื่อเรือประมงให้ตรงกับทะเบียนเรือ เป็นต้น,  ให้สามารถนำเรือประมงลำอื่นมาทดแทนเรือประมงที่ได้รับอนุญาตได้ เช่น กรณีเรือที่ได้รับอนุญาตเกิดเรือจม ไฟไหม้ ชำรุดเสื่อมสภาพ เป็นต้น, ให้สามารถขอเปลี่ยนแปลงเครื่องมือทำการประมงที่ได้รับอนุญาตจากเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพสูง ไปยังเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพต่ำกว่าได้ เช่น จากเครื่องมืออวนลากคู่เป็นอวนลากเดี่ยว หรือจากเครื่องมืออวนลาก ไปเป็นเครื่องมือลอบ เป็นต้น,

     ให้ผู้ได้รับใบอนุญาตซึ่งได้รับผลกระทบจากมาตรการปิดอ่าว หรือลมมรสุม สามารถขอย้ายพื้นที่ทำการประมงเป็นการชั่วคราวในระหว่างปีการประมงได้ เช่น เครื่องมืออวนล้อมจับฝั่งอ่าวไทยเมื่อถึงระยะเวลาปิดอ่าว ก็สามารถย้ายไปทำการประมงฝั่งอันดามันได้ หรืออวนครอบหมึกจากฝั่งอ่าวไทยย้ายไปทำการประมงฝั่งอันดามัน ในช่วงมรสุมได้ เป็นต้น, ให้ผู้ได้รับใบอนุญาตที่มิได้ออกทำการประมงสามารถยกสิทธิปริมาณสัตว์น้ำที่ได้รับการจัดสรรในรอบปีการประมงนั้น ให้แก่เรือประมงลำอื่นในกลุ่มสัตว์น้ำเดียวกันในปีการประมงนั้นๆ ได้ เช่น เครื่องมืออวนลากคู่ อวนลากแผ่นตะเฆ่ และอวนลากคานถ่าง สามารถนำปริมาณสัตว์น้ำที่ยังไม่ได้ใช้มายกสิทธิให้เรือลำอื่น โดยวิธีการขายหรือการยกให้ เป็นต้น, และ ให้ผู้รับอนุญาตที่ใช้เครื่องมือประสิทธิภาพสูงที่มีการควบคุมวันทำประมง สามารถนำใบอนุญาตจากเรือประมงลำอื่นมาควบรวมเพื่อเพิ่มจำนวนวันทำการประมงได้ โดยต้องนำเรือที่ถูกควบรวมออกนอกระบบ (นำไปทำลาย ขายต่อไปต่างประเทศ หรือเปลี่ยนประเภทเรือไปนอกภาคประมง)

     3. สำหรับประเด็นการเพิ่มวันทำการประมงให้ผู้รับใบอนุญาตทำการประมงพาณิชย์ที่กรมประมงออกประกาศ เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2562 นั้น เป็นการดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของชาวประมงที่มีข้อเรียกร้อง เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2562 โดยกรมประมงได้นำปริมาณสัตว์น้ำที่ได้จัดสรรไว้แล้ว แต่ยังไม่ได้จับมาใช้ประโยชน์ จึงมีปริมาณสัตว์น้ำคงเหลือที่สามารถนำมาจัดสรร เพิ่มวันทำการประมงได้กับทุกเครื่องมือทำการประมงที่ควบคุมวัน ให้สามารถทำการประมงได้ตลอดทั้งปีจนถึงวันที่ 31 มีนาคม 2563 และเครื่องมืออวนลากในอ่าวไทยให้เพิ่มวันทำการประมงได้จำนวน 30 วัน

       การดำเนินการดังกล่าวเป็นการดำเนินการตามปกติที่เคยปฎิบัติติดต่อกันมาโดยใช้หลักการเดียวกัน โดยย้อนไปเมื่อครั้งที่ 1 เดือนมกราคม 2561 ได้มีการเพิ่มวันทำการประมงให้กับเครื่องมือประมงที่ควบคุมวันทุกประเภททำการประมงได้ตลอดทั้งปี และอวนลากฝั่งอ่าวไทยเพิ่มให้จำนวน 42 วัน ครั้งที่ 2 เดือนมกราคม 2562 เพิ่มวันทำการประมงให้กับเครื่องมือประมงที่ควบคุมวันทุกประเภททำการประมงได้ตลอดทั้งปี และอวนลากฝั่งอ่าวไทยจำนวน 24 วัน ซึ่งการจัดสรรในลักษณะนี้ เป็นการกระจายทรัพยากรของชาติซึ่งเป็นของส่วนรวมให้แก่ผู้ใช้ทรัพยากรเข้าถึงอย่างเท่าเทียมกัน โดยคำนึงถึงประโยชน์สาธารณะเป็นสำคัญ

      สำหรับประเด็นการยกสิทธิที่กำหนดในกฎกรทรวงฯ เป็นการวางกรอบแนวทางไว้ล่วงหน้า เพื่อให้เกิดความยืดหยุ่นในการแก้ไขปัญหาจำนวนวันทำการประมงเป็นรายบุคคล ซึ่งมีขั้นตอนและกระบวนการในการดำเนินการขอแก้ไขใบอนุญาตในแต่ละราย ทั้งผู้ยกเลิกสิทธิและผู้ขอรับสิทธิจึงจำเป็นต้องมีระยะเวลาในการดำเนินการ กรมประมงจะเปิดให้สามารถดำเนินการได้ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2563 เป็นต้นไป ทั้งนี้ที่กล่าวไปข้างต้นนั้น เพื่อเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนที่จะเกิดขึ้นกับพี่น้องชาวประมง และช่วยให้พี่น้องชาวประมงสามารถที่จะประกอบอาชีพต่อไปได้ ควบคู่กับการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำให้เกิดความสมดุลและยั่งยืน