อธิบดีกรมประมง เปิดห้องหลังจากรับตแหน่ง แจงนโยบายทิศทางขับเคลื่อนภาคประมงไทย เน้นการพัฒนาทุกมิติ 7 ด้าน แบบมีส่วนร่วมด้านการประมงอย่างยั่งยืน หวังเสริมสร้างความเข้มแข็ง สร้างโอกาส สร้างรายได้สู่เกษตรกรให้มากที่สุด
นายมีศักดิ์ ภักดีคง อธิบดีกรมประมง กล่าวว่า กรมประมงให้ความสำคัญกับการพัฒนาด้านการประมง แบบมีส่วนร่วมทุกมิติเพื่อความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติภายใต้หลักการ“คนอยู่ได้ ทรัพยากรยั่งยืน ไม่ฝืนพันธะสัญญา โดยให้ความสำคัญกับการพัฒนา 7 ด้านคือ1.สนองงานสถาบันพระมหากษัตริย์พระบรมราโชบายสืบสานงานโครงการพระราชดำริ โครงการพัฒนาส่วนพระองค์การพัฒนาฟื้นฟูพันธุ์ปลาไทยตามพระราชเสาวนีย์ของ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เพื่อดำรงรักษาความหลากหลายทางชีวภาพในแหล่งน้ำให้ความสำคัญ กับโครงการจิตอาสาปล่อยปลาพัฒนาคูคลอง หนองบึงรวมทั้งทะเลเพื่อบูรณะแหล่งอาศัยสัตว์น้ำ
2.การบริหารจัดการประมงอย่างยั่งยืนบนพื้นฐานวิชาการและการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน เน้นการบริหารจัดการเชิงพื้นที่ให้ชุมชนเป็นศูนย์กลางในการพัฒนาโดยยึดหลักแนวคิดพระราชทานเข้าใจ เข้าถึง พัฒนา มาเป็น หลักยึดในการทำงาน ใช้งานวิชาการเข้าไปปรับใช้กับการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำของชุมชนควบคุมการจัดการ ของคนผู้ใช้ทรัพยากร ตั้งเป้าหมายให้ชุมชนประมงน้ำจืดและชุมชนประมงทะเลได้รับการพัฒนาให้เป็นชุมชนประมง เพื่อการท่องเที่ยวในอนาคตอย่างน้อยจังหวัดละ1 แห่ง
3.มุ่งแก้ปัญหาการประมงของประเทศโดยให้ความสำคัญกับการรักษาระดับมาตรฐานการควบคุม ป้องกัน แก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมายเน้นสร้างความรู้ความเข้าใจแก่ชาวประมงบนหลักการมีส่วนร่วมและสอดคล้องกับวิถีชีวิตชาวประมง ข้อกำหนดใดที่อาจจะส่งผลให้เกิดความไม่เป็นธรรมหรือไม่สามารถปฏิบัติได้ต้องได้รับการแก้ไข ให้ความสำคัญกับการสร้างโอกาสกองเรือไทยไปสู่สากลหรือทำการประมงนอกน่านน้ำ
4.การผลิตด้านการเพาะเลี้ยง ใช้หลักตลาดนำการผลิตโดยมุ่งผลิตสัตว์น้ำที่มีมูลค่าสูงทางเศรษฐกิจและสำรวจความต้องการตลาดเป็นหลัก โดยใช้ข้อมูลการพยากรณ์ด้านการตลาดข้อมูลจากผู้แทนการค้าประเทศและข้อมูลจากทูตเกษตร เป็นต้น 5.งานวิชาการต้องตอบสนองด้านการเพาะเลี้ยงและการบริหารจัดการทรัพยากรประมง งานวิชาการต้องตอบสนองงานหลัก 2 เรื่อง คือการนำผลงานวิชาการไปพัฒนาต่อยอดด้านการส่งเสริมเพาะเลี้ยง การพัฒนาผลิตภัณฑ์ และการผลิตอื่นๆ นอกจากนี้งานวิชาการต้องสามารถตอบสนองการบริหารจัดการทรัพยากรได้อย่างเหมาะสม ทันต่อสถานการณ์ สามารถใช้สนับสนุนการออกมาตรการของฝ่ายบริหารและคณะกรรมการประมงประจำจังหวัดได้อย่างครบถ้วน
6. การขับเคลื่อนนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลมุ่งเน้นการขับเคลื่อนแผนงานโครงการที่สำคัญของรัฐบาล เพื่อให้ความช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัยพิบัติทางธรรมชาติ ตามแผนปฏิบัติการฟื้นฟูเยียวยาเกษตรกรผู้ประสบภัยฝนทิ้งช่วงและอุทกภัยปี 2562 วงเงินงบประมาณ 766.908 ล้านบาท จำนวน 2 โครงการ ได้แก่
– โครงการพัฒนาเสริมทางเลือกอาชีพด้านการประมง ส่งเสริมการเลี้ยงปลานิลแปลงเพศในบ่อดิน วงเงิน 260 ล้านบาท โดยสนับสนุนพันธุ์ปลานิลแปลงเพศ และอาหารปลาแก่เกษตรกร ในพื้นที่ประสบภัยพิบัติ 39 จังหวัด มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการฯ จำนวน 35,751 ราย
– โครงการสร้างรายได้จากอาชีพประมงในแหล่งน้ำชุมชน ส่งเสริมการเพิ่มผลผลิตกุ้งก้ามกรามในแหล่งน้ำชุมชน วงเงิน 506.908 ล้านบาท โดยสนับสนุนพันธุ์กุ้งก้ามกราม จำนวน 200,000 ตัวต่อแหล่งน้ำ ในพื้นที่ 19 จังหวัด 129 อำเภอ จำนวน 1,436 แห่ง
นอกจากนี้กรมประมงยังได้จัดทำโครงการจัดทำเรือประมงนอกระบบเพื่อการจัดการทรัพยากรประมงทะเล ที่ยั่งยืน โดยนำเรือประมงที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการของรัฐ จำนวน 305 ลำ โดยใช้งบประมาณ 764.454 ล้านบาท ซึ่งแบ่งเป็น 2 ช่วง ได้แก่ ช่วงที่ 1 ในปี 2562 จำนวน 252 ลำ เป็นงบประมาณ 467.6039 ล้านบาท ซึ่งได้ดำเนินการจ่ายเงินชดเชยให้ชาวประมงแล้ว และในปี 2563 จำนวน 53 ลำ งบประมาณ 294.8502 ล้านบาท อยู่ระหว่างการเสนอขออนุมัติความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี
7.มุ่งพัฒนากรมประมงให้เป็นบ้านที่น่าอยู่สำหรับทุกคน พัฒนาอาคารสถานที่ทำงาน พัฒนาคนให้มีความพร้อมเป็นข้าราชการกรมประมงอย่างมืออาชีพ วางระบบการแต่งตั้งโยกย้ายอย่างเป็นธรรม สร้างแรงจูงใจให้บุคลากรมีความเชื่อมั่นว่ากรมประมงเป็นสถาบันครอบครัวที่ต้องพึ่งพาการภายใต้สโลแกน“ คนสำราญ งานสำเร็จ“
” ถึงแม้ว่าการแก้ไขปัญหาการประมงในปัจจุบันจะเป็นเรื่องที่ยากและท้าทาย แต่หากเรามีแนวทางที่ชัดเจน มีความร่วมมือจากทุกภาคส่วนเชื่อมมั่นว่าพวกเราทุกคนจะช่วยกันนำความสำเร็จที่สง่างามมาสู่ภาคการประมงไทย ภายใต้วิสัยทัศน์ของกรมประมงที่ว่า เราจะเป็นหน่วยงานที่มุ่งพัฒนา
และบริหารการเปลี่ยนแปลง เพื่อนำไปสู่การประมงที่ยั่งยืน” อธิบดี กรมประมง กล่าว