กรมประมงลงนามกับพันธมิตร พัฒนาเทคโนฯบริหารจัดการน้ำ หวังช่วยลดผลกระทบผู้เลี้ยงสัตว์น้ำ

  •  
  •  
  •  
  •  

กรมประมง จับมือมูลนิธิอุทกพัฒน์ และสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ ลงนามว่าด้วยการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศทรัพยากรน้ำ เพื่อการบริหารจัดการน้ำร่วมกับกรมประมง และการขยายเครือข่ายการจัดการทรัพยากรน้ำชุมชนตามแนวพระราชดำริ เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลสารสนเทศด้านการบริหารจัดการน้ำและทรัพยากรประมงร่วมกัน หวังช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงปลาในกระชัง ทั้งในแหล่งน้ำปิด และแหล่งน้ำเปิด ให้ลดลกระทบจากสถานการณ์ด้านภัยแล้ง และอุทกภัย

     

      วันที่18 พฤศจิกายน 2562 นายสุเมธ ตันติเวชกุล ประธานกรรมการมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ พร้อมด้วย นายสุทัศน์ วีสกุล ผู้อำนวยการสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) และนายมีศักดิ์ ภักดีคง อธิบดีกรมประมง ร่วมกันลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ว่าด้วย “การพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศทรัพยากรน้ำเพื่อการบริหารจัดการน้ำร่วมกับกรมประมง และการขยายเครือข่ายการจัดการทรัพยากรน้ำชุมชนตามแนวพระราชดำริ” เพื่อสนับสนุน เชื่อมโยง รวมถึงแลกเปลี่ยนข้อมูลสารสนเทศด้านต่างๆ สำหรับการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำและทรัพยากรประมงร่วมกัน ณ มูลนิธิชัยพัฒนา

      นายมีศักดิ์  กล่าวว่า สำหรับพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงฯ ดังกล่าวนี้ นับเป็นจุดเริ่มต้นของกรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ และสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) ที่จะได้มีความร่วมมือในการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศทรัพยากรน้ำเพื่อการบริหารจัดการน้ำร่วมกับกรมประมง และการขยายเครือข่ายการจัดการทรัพยากรน้ำชุมชนตามแนวพระราชดำริ ซึ่งเป็นการสนับสนุนข้อมูลด้านทรัพยากรน้ำเพื่อประโยชน์ทางการประมง ให้เกิดการดำเนินงานแบบบูรณาการที่มีประสิทธิภาพและเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น

     นายมีศักดิ์ กล่าวอีกว่า ปัจจุบันการบริหารจัดการน้ำให้กับเกษตรกรด้านการประมงนั้นนับเป็นสิ่งสำคัญ และเป็นความจำเป็นเร่งด่วน เนื่องจากประเทศไทยมีความผันผวนของสภาพอากาศอยู่ตลอดเวลา ทำให้เกษตรกรได้รับผลกระทบทั้งจากสถานการณ์ด้านภัยแล้ง และอุทกภัย ซึ่งมักเกิดขึ้นอย่างฉับพลันทันที จนไม่สามารถบริหารจัดการกับปัญหาที่เกิดขึ้นได้โดยเร็ว

       ดังนั้น การได้รับการแลกเปลี่ยนข้อมูลของสถานการณ์น้ำจากการร่วมลงนามในครั้งนี้ จะทำให้เกิดประโยชน์ต่อการแก้ไขปัญหาด้านการบริหารจัดการน้ำให้แก่เกษตรกรได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น โดยเฉพาะเกษตรกรผู้เลี้ยงปลาในกระชัง ทั้งในแหล่งน้ำปิด และแหล่งน้ำเปิด เช่น แม่น้ำ ลำคลอง รวมถึงชายฝั่งทะเล เพื่อช่วยในการวางแผน การเฝ้าระวัง และการชดเชยเยียวยาความเสียหายหากเกิดสถานการณ์ขึ้น

       อธิบดีกรมประมง กล่าวด้วยว่า  จากการลงนามความร่วมมือในครั้งนี้ กรมประมงจะนำข้อมูลจากความร่วมมือดังกล่าวมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อเกษตรกร โดยการพัฒนาสารสนเทศด้านการประมงเพื่อให้เกษตรกรรู้เท่าทันสถานการณ์น้ำรองรับในการประกอบอาชีพและจะได้ป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น ส่งผลให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มีรายได้ที่มั่นคง สามารถเลี้ยงชีพได้อย่างยั่งยืนต่อไป