ไทยดันให้จัดตั้งเครือข่ายต่อต้านประมง IUU ในระดับภูมิภาคเข้าที่ประชุมสุดยอดอาเซียน

  •  
  •  
  •  
  •  

ไทยเสนอแนวคิด ให้จัดตั้งเครือข่ายอาเซียน เพื่อการต่อต้านการประมง IUU ต่อที่ประชุมผู้นำอาเซียน หวังขยายประโยชน์ทางเศรษฐกิจอุตสาหกรรมประมงในอาเซียน 

      นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ในช่วงการประชุม ASEAN SUMMIT ครั้งที่ 35 ซึ่งประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ ระหว่าง 2 – 3 พฤศจิกายน 2562 ฝ่ายไทยได้เสนอแนวคิดในการจัดตั้งเครือข่ายอาเซียนเพื่อการต่อต้านการประมง IUU ต่อที่ประชุมผู้นำอาเซียน เพื่อตอกย้ำความสำคัญของความร่วมมือต่อต้าน IUU (Concept Proposal on the Establishment of the ASEAN Network for Combating IUU Fishing: AN-IUU) และขยายประโยชน์ทางเศรษฐกิจอุตสาหกรรมประมงในอาเซียน

       สำหรับข้อเสนอแนวคิดในการจัดตั้งเครือข่ายอาเซียนเพื่อการต่อต้านการประมง IUU ถือเป็นกรอบการดำเนินงาน สำหรับแลกเปลี่ยนข้อมูลและเสริมสร้างขีดความสามารถระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน และนำไปสู่ความสำเร็จในเรื่องการต่อต้านการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (IUU fishing) ระดับภูมิภาคในการพัฒนา platform แบบ real time โดยจะมุ่งเน้นในเรื่องการบังคับใช้กฎหมายภายในและกฎหมายของแต่ละประเทศ รวมถึงช่วยเพิ่มขีดความสามารถของประเทศสมาชิกอาเซียนในการตรวจสอบ ควบคุม และเฝ้าระวัง ในการต่อสู้กับ IUU fishing ผ่านการเผยแพร่แนวปฏิบัติที่ดี (best practice)

      โดยเฉพาะเรื่องความพยายามในการเฝ้าระวังความมั่นคงปลอดภัยในริมทะเล (Maritime Domain urveillance) และตรวจสอบกิจกรรมของเครือข่าย    ทั้งนี้ แนวคิดดังกล่าว ได้ผ่านการเห็นชอบจาก ที่ประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านการเกษตรและป่าไม้ ครั้งที่ 41 (ASEAN Ministers on Agriculture and Forestry: AMAF) เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2562 ณ ประเทศบรูไนดารุสซาลามเรียบร้อยแล้ว

       นายระพีภัทร์ กล่าวต่อไปว่า หากมองย้อนถึงตลาดส่งออกสินค้าประมงไทยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (2557 – 2561) พบว่า จีน และ อาเซียน ส่งออกเติบโตมากสุด โดยจีน เติบโตเฉลี่ยร้อยละ 17.4 และอาเซียน เติบโตร้อยละ 10.4 ตามลำดับ และหากพิจารณาภาพรวมเฉพาะปี 2561 พบว่า ไทยยังคงติดอันดับ 10 ของผู้ส่งออกสินค้าประมงในตลาดโลก โดยมีมูลค่าส่งออกกว่า 71,517 ล้านบาท ร้อยละ 1.6 ของตลาดโลก คู่ค้าสำคัญ 5 อันดับแรก ได้แก่ ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา จีน อาเซียน และสหภาพยุโรป ตามลำดับ ซึ่งมีมูลค่าส่งออกกว่า 47,153 ล้านบาท หรือร้อยละ 74.4 ของตลาดโลก

       ทั้งนี้ การทำประมงอย่างยั่งยืน เป็นหนึ่งในลำดับความสำคัญที่จะผลักดันในช่วงที่ไทยเป็นประธานอาเซียน ซึ่งที่ผ่านมา ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีก้าวหน้าในการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมายจนประสบความสำเร็จ โดยมีกลไกแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมายที่เข้มแข็งที่สุดในภูมิภาค จนสามารถเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับประเทศต่างๆ ที่มีปัญหาเดียวกันได้ ดังนั้น เชื่อมั่นว่า บทบาทของไทยในในฐานะประเทศที่ริเริ่มการจัดตั้งเครือข่ายอาเซียนเพื่อการต่อต้านการประมง IUU จะเป็นการเสริมสร้างความมั่นคงด้านอาหาร และเพิ่มขีดความความสามารถการแข่งขันทางเศรษฐกิจของอุตสาหกรรมประมงอาเซียนให้เข้มแข็งร่วมกัน

ภาพ:ข่าวทำเนียบรัฐบาล