กรมประมงออกประกาศ ขอความร่วมมือ “งดปล่อยปลาบึกลงแม่น้ำโขงและแม่น้ำสาขา” เน้นเฉพาะปลาบึกที่ผลิตจากโรงเพาะฟัก อ้างเหตุผลจะเป็นการทำลายความหลากหลายทางพันธุกรรมของประชากรปลาบึกธรรมชาติที่มีแห่งเดียวในโลก
นายอดิศร พร้อมเทพ อธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า ทางกรมประมง ได้ออกหนังสือแจ้งขอความร่วมมืองดเว้นการปล่อยปลาบึก ที่ผลิตจากโรงเพาะฟักลงในแม่น้ำโขง และแม่น้ำสาขาของแม่น้ำโขง อาทิ ภาคอีสาน : แม่น้ำพอง แม่น้ำชี แม่น้ำมูล และแม่น้ำสงคราม ภาคเหนือ : แม่น้ำอิง แม่น้ำกก รวมถึงแม่น้ำสายอื่นๆ ที่เชื่อมต่อสู่แม่น้ำโขงด้วย
ทั้งนี้เพื่อเป็นการอนุรักษ์ประชากรธรรมชาติของปลาบึกในแม่น้ำโขงให้คงอยู่อย่างยั่งยืน ซึ่งพิจารณาจากการศึกษาวิจัย โดยดูได้จากรายงานผลการศึกษาของ Dr. Kai Lorenzen และคณะ (2006) เรื่อง Development of a conservation strategy for the critically endangered Mekong giant catfish ว่า การปล่อยปลาบึกที่ผลิตจากโรงเพาะฟักลงในแม่น้ำโขงและแม่น้ำสาขาของแม่น้ำโขง จะเป็นการทำลายความหลากหลายทางพันธุกรรมของประชากรปลาบึกธรรมชาติที่มีแห่งเดียวในโลก
ถึงแม้ว่าปลาบึก ซึ่งเป็นปลาน้ำจืดขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ปัจจุบันจะถูกขึ้นบัญชีสัตว์คุ้มครองของอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง (CITES) บัญชีหมายเลข 1 คือ ห้ามมิให้ทำการค้าขายปลาบึกธรรมชาติโดยเด็ดขาดไปแล้ว และประเทศไทยได้มีการออกกฎหมายห้ามจับปลาบึก ตั้งแต่เมื่อปี 2549 แล้วก็ตาม สถานภาพประชากรปลาบึกในลุ่มน้ำโขง ก็ยังน้อยลงอยู่ดี ดังนั้น หากมีความประสงค์จะปล่อยปลาบึก ขอให้ปล่อยลงในแหล่งน้ำปิดเท่านั้น