กรมประมงสั่งระดมทีมลุยพื้น ให้กำลังใจและช่วยเหลือเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่ประสบอุทกภัยจากพิษพายุโพดุล กำชับเจ้าหน้าที่ให้ลงพื้นที่ เพื่อเข้าไปแนะนำและช่วยเหลือพร้อมเร่งความสำรวจความเสียหายให้ครบทุกราย พร้อมเร่งสำรวจความเสียหายเตรียมเยียวยาและฟื้นฟูอาชีพหลังน้ำลด
จากสถานการณ์เหตุอุทกภัยซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากพายุโพดุลโหมกระหน่ำในหลายพื้นที่ของประเทศไทย ส่งผลให้เกิดฝนตกหนักอย่างต่อเนื่องเป็นบริเวณกว้างทั้งภาคเหนือและภาคอีสานจนเกิด น้ำท่วมในหลายพื้นที่ ทำให้ประชาชนรวมถึงเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำได้รับความเดือดร้อน เนื่องจากผลผลิตสัตว์น้ำที่ใกล้จับจำหน่ายได้เสียหายเกือบทั้งหมด
นายวิชาญ อิงศรีสว่าง รองอธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า กรมประมงมีความห่วงใยกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น อธิบดีกรมประมงได้สั่งการให้หน่วยงานของกรมประมงในพื้นที่ระดมทีมเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่รับฟังปัญหาและตรวจเยี่ยมเพื่อสำรวจความเสียหาย พร้อมสำรวจความต้องการฟื้นฟูอาชีพการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำและให้ขวัญกำลังใจแก่เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำและประชาชนที่ประสบอุทกภัยรวมถึงเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานของกรมประมงอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนบูรณาการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยในพื้นที่ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น การใช้เรือตรวจการประมงอพยพประชาชนไปอยู่อาศัยในที่ปลอดภัย การมอบเครื่องอุปโภค-บริโภคเพื่อช่วยเหลือการยังชีพในเบื้องต้น เพิ่มการสื่อสารทุกช่องทางเพื่อแจ้งเตือนเกษตรกรให้เฝ้าระวังสถานการณ์และให้คำแนะนำในการป้องกันความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นอย่างใกล้ชิด
ล่าสุดเมื่อวันที่ 4- 5 กันยายน 2562 ที่ผ่านมา จากการลงพื้นที่ไปตรวจติดตามสถานการณ์อุทกภัยในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (จังหวัดร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ และขอนแก่น) พบว่าสถานการณ์ยังคงมีความน่าเป็นห่วง เนื่องจากยังมีฝนตกหนักต่อเนื่อง กระแสน้ำในแม่น้ำต่างๆ เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว อีกทั้งสภาพน้ำท่วมเกิดขึ้นเป็นวงกว้างยังมีความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดความเสียหายแก่เกษตรกร โดยได้สั่งกำชับเจ้าหน้าที่ประมงให้ลงพื้นที่เพื่อเข้าไปแนะนำและช่วยเหลือพร้อมเร่งความสำรวจความเสียหายของเกษตรกรให้ครบทุกรายโดยมิให้ตกหล่น และให้ดำเนินการเสนอผลความเสียหายให้กับคณะกรรมการคณะกรรมการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติระดับอำเภอ (กชภอ.) และคณะกรรมการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติระดับจังหวัด (กชคจ.) เพื่อดำเนินการให้การช่วยเหลือเกษตรกรตามระเบียบทางราชการภายในกรอบเวลาที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์กำหนดไว้อย่างเคร่งครัด
นอกจากนี้ ให้เร่งสำรวจความต้องการการฟื้นฟูอาชีพภายหลังน้ำลด โดยให้ประสานงานกับสำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดเพื่อจัดเตรียมข้อมูลและจัดทำโครงการเสนอภาครัฐเพื่อให้การฟื้นฟูและเยียวยาเพื่อให้เกษตรกรสามารถกลับมาประกอบอาชีพเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งจากการพูดคุยกับเกษตรกรที่ประสบอุทกภัยพบว่า มีความต้องการเร่งด่วนที่ขอให้ภาครัฐช่วยแก้ปัญหา ได้แก่ ในการขอสินเชื่อเงื่อนไขพิเศษเพื่อดำเนินการฟื้นฟูบ่อเพาะเลี้ยงและชำระหนี้ค่าอาหารสัตว์น้ำ และขอพักชำระหนี้ทั้งกับธนาคารของรัฐและบริษัทเอกชนที่เป็น contract farming ขอสนับสนุนลูกพันธุ์สัตว์น้ำและปัจจัยการผลิตเพื่อให้สามารถเลี้ยงสัตว์น้ำไว้บริโภคในครัวเรือน ตลอดจนขอให้ภาครัฐจัดฝึกอบรมส่งเสริมอาชีพหลังน้ำลด เป็นต้น
สำหรับรายงานความเสียหายด้านการประมงนั้น พบว่ามี 11 จังหวัด ได้แก่ พิษณุโลก เพชรบูรณ์ กาฬสินธุ์ มุกดาหาร ขอนแก่น นครพนม มหาสารคาม อุดรธานี อุบลราชธานี ยโสธร และตรัง เบื้องต้นพบพื้นที่ เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยประมาณ 10,000 ไร่ เกษตรกรได้รับความเสียหายประมาณจำนวน 17,000 ราย ส่วนความเสียหายกำลังอยู่ในระหว่างการรวบรวมข้อมูล คาดว่าจะไม่ต่ำกว่า 300 ล้านบาท ซึ่งกรมประมงจะดำเนินการสำรวจเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่องจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย และจะดำเนินการให้ช่วยเหลือตามระเบียบของกระทรวงการคลังต่อไป
ทั้งนี้ หากเกษตรกรประสบปัญหาต้องการความช่วยเหลือต่าง ๆ สามารถติดต่อขอรับคำแนะนำหรือขอความช่วยเหลือได้ที่สำนักงานประมงอำเภอ/ สำนักงานประมงจังหวัด/ ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงในพื้นที่ หรือ กองโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริและกิจกรรมพิเศษ กลุ่มช่วยเหลือเกษตรกรและชาวประมง กรมประมง โทรศัพท์หมายเลข 0 2558 0218 และ 0 2561 4740
นอกจากนี้ กรมประมงยังได้ออกประกาศและประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนโดยตรงไปยังผู้ประกอบการที่เพาะเลี้ยงจระเข้ในทุกจังหวัด ให้เพิ่มความระมัดระวังในการควบคุม ดูแล จระเข้ที่อยู่ในครอบครองให้มากขึ้นเป็นพิเศษเพื่อป้องกันการหลุดลอดออกจากฟาร์ม และหากประชาชนพบเห็นจระเข้ในแหล่งน้ำสาธารณะหรือแหล่งน้ำธรรมชาติ โปรดแจ้งสำนักงานประมงจังหวัดในพื้นที่ได้ตลอด 24 ชั่วโมง หรือ ติดต่อกรมประมง ได้ที่โทรศัพท์หมายเลข 0 2562 0600