เห็นชัดผลกระทบที่เกิดขึ้นตามลำน้ำโขง หลังมีการสร้างเขื่อนเขื่อนไซยะบุรี ทำให้แม่น้ำโขงลดระดับลงอย่ารุรแรงจนเห็นสันดรกลางแม่น้ำ สัตว์เริ่มสูญพันธ์ของสัตว์น้ำ ระบบนิเวศกระทบอย่างหนัก ชาวประมงผู้เลี้ยงปลากระชังประสบกับปัญหาน้ำขึ้นน้ำลง ส่งผลให้ปลาในกระชังน็อคน้ำและเลี้ยงไม่โต แถมยังพบปัญหาด้านคุณภาพน้ำ ที่มีตะกอนมากผิดปกติ จนปลาทยอยตายรายวัน ล่าสุดกรมประมงได้รวบรวมข้อมูลพร้อมหาแนวทางแก้ไขต่อไป
ในระหว่างวันที่ 26 – 27 กรกฏาคม 2562 ที่ผ่านมา ผศ.ดร.ธนพร ศรียากูล ที่ปรึกษาอธิบดีกรมประมง พร้อมนายประเทศ ขอรักษ์ ผู้ตรวจราชการกรมประมง นายสง่า สีสง่า ผู้อำนวยการกองวิจัย และพัฒนาประมงน้ำจืด นายบุญส่ง ศรีเจริญธรรม ผู้เชี่ยวชาญด้านนิเวศวิทยา พร้อมคณะประมงจังหวัดหนองคาย ได้ลงพื้นที่ร่วมประชุมและตรวจเยี่ยมพื้นที่ รับฟังสถานการณ์ปัญหาและผลกระทบของประชาชนลุ่มน้ำโขง กรณีความผันผวนของแม่น้ำโขงที่ส่งผลกระทบต่ออาชีพประมงของชุมชนริมโขง ณ อำเภอเมือง และอำเภอสังคม จังหวัดหนองคาย
จากการตรวจเยี่ยมและรับฟังสถานการณ์ปัญหาจากประชาชนในพื้นที่พบว่า ชาวประมงผู้เลี้ยงปลากระชัง นอกจากจะประสบปัญหาเรื่องต้นทุนการผลิตสูงและราคาผลผลิตตกต่ำแล้ว ยังมีปัญหาการเพาะเลี้ยง จากการที่น้ำโขงขึ้นลงรายวัน มีความยุ่งยากในการขนกระสอบอาหารขึ้นลง ตามระดับน้ำโขงที่ผันผวน และที่สำคัญคือ ปลากระชังน็อคน้ำและเลี้ยงไม่โต อีกทั้งมีปัญหาด้านคุณภาพน้ำ มีตะกอนมากผิดปกติ ปลาทยอยตายรายวัน ทางคณะกรมประมง ได้รวบรวมข้อมูลพร้อมหาแนวทางแก้ไขต่อไป
จากนั้นที่ปรึกษาอธิบดีกรมประมงและคณะได้ลงพื้นที่ ตำบลบ้านม่วง อำเภอสังคม จังหวัดหนองคาย พบว่า แม่น้ำโขงลดระดับลงมาก ส่งผลต่อการสูญพันธ์ของสัตว์น้ำและระบบนิเวศได้รับผลกระทบอย่างหนัก
ผศ.ดร.ธนพร กล่าวว่า เท่าที่เราลงพื้นที่มา ก็ยังไม่เห็นหน่วยงานของรัฐในส่วนกลางที่ลงมาจับประเด็นเรื่องนี้ ที่จะเป็นประเด็นจะขยายการแก้ไขในเชิงโครงสร้างหรือในเชิงระบบใหญ่ต่อไป ก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ที่จะมาเริ่มจากเรื่องของการสงวนรักษา ความหลากหลายทางชีวภาพของทรัพยากรเป็นจุดเริ่มต้น เป็นสิ่งที่ดี เพราะคนในสังคมก็เห็นความสำคัญร่วมกันอยู่แล้ว
สรุปประเด็นแรก ที่ทางกรมประมงจะดำเนินการคือวันอังคารนี้จะหารือแล้วก็นำเข้าที่ประชุมหาแนวทางการทำงานต่อไปทางด้านทรัพยากรสัตว์น้ำ เป็นระบบแจ้งเตือนที่เกี่ยวข้องกับการทำประมง ซึ่งพี่น้องที่ทำการประมงตลอดลำน้ำโขง ก็จะมีการแจ้งเตือนในภาษาเดียวกันของคนหาปลา นายอำเภอสังคมและคุณมนตรี จันทวงศ์ พูดในทางที่ตรงกันว่า บางทีการสื่อสารข้อมูลของหน่วยงานที่ออกมา มันแปลงเป็นภาษาที่ผู้คนที่อยู่ในพื้นที่ ที่คนทำในกิจกรรมนั้นๆเข้าใจไม่ได้ ทางกรมประมงก็จะลองไปเซตระบบนี้มา จะใช้ตัวชี้วัด (Indicator) จะเลือกใช้ในส่วนที่มีประโยชน์ และตัดในบางส่วนที่ไม่มีประโยชน์ แล้วย่อยให้เป็นภาษาที่มันง่ายๆ ที่จะทำให้ผู้คนที่อยู่ในพื้นที่นั้นๆเข้าใจ เมื่อพี่น้องประมงเข้าถึงตรงนี้ด้วยภาษาง่ายๆแล้วเข้าใจง่าย มันก็มีโอกาสจะแพร่ไปถึงพี่น้องที่ทำอาชีพอื่นๆด้วย เช่นเดียวกัน
ประเด็นที่สอง สิ่งที่จะทำร่วมกัน คือเรื่องพื้นที่อนุรักษ์ ความหลากหลายของทรัพยากรสัตว์น้ำ ซึ่งก็มีอยู่สองรูปแบบ รูปแบบที่ 1 คือ เป็นพื้นที่อนุรักษ์โดยเด็ดขาด ซึ่งก็จะมีกลไกอำนาจตามมาตรา 56 หรือแบบที่ 2 จะเป็นรูปแบบการบริหารจัดการ โดยการถูกออกแบบให้ยืดหยุ่นผ่านกลไกคณะกรรมการประจำจังหวัด ที่สามารถบริหารจัดการ เป็นช่วงเวลา เป็นบางเครื่องมือ เป็นส่วนที่ทางกรมประมงจะต้องทำงานร่วมกับเครือข่ายต่อ เพื่อให้เกิดภาพตรงนี้
ประเด็นที่สาม เรื่องทางเทคนิคเกี่ยวกับเรื่องบันไดปลาในฝายต่างๆ ตามลุ่มน้ำสาขา เกี่ยวกับฝายรุ่นเก่า ทางกรมประมงจะรับไปปรึกษาหารือกับทางชลประทานและกรมทรัพยากรน้ำ หลายฝายเห็นด้วยกับทางนายก อบต.บ้านม่วง นายศิริศักดิ์ เบ้าแก้ว ที่นำเสนอว่าเกินความสามารถขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แต่จะกลับไปปรึกษากับทางกรมชลประทานให้ ในส่วนเรื่องฝายใหม่ ทางชลประทานได้ออกแบบเกี่ยวกับเรื่องสะพานปลา รูปแบบก็อยู่กับชลประทานตลอด เรื่องการฝึกอบรมกับเรื่องโมบายยูนิคก็เช่นเดียวกัน จะกลับไปนำเรียนท่านอธิบดีกรมประมง ให้กองงานที่รับผิดชอบลงมาทำงานร่วมกับพี่น้องประชาชน จะได้ทำพร้อมๆกัน หลายๆกิจกรรม
เรื่องสุดท้าย เป็นเรื่องของหน่วยงานภาครัฐ เรื่องนี้นี้ไม่ได้แก้ตัว และไม่จำเป็นต้องแก้ตัว เพราะว่าสภาพของกรมประมง และสภาพของพี่น้องประชาชน มีสภาพเดียวกัน เราก็ต้องยอมรับว่า กลไกการสื่อสารภายในของรัฐเอง มันก็ยังมีช่องว่างอยู่ อย่างไรก็ตาม ในเรื่องนี้หน่วยงานก็ต้องการดูแค่เรื่องอุทกภัยและเรื่องภัยแล้ง แต่เขาอาจจะไม่คิดว่าในน้ำมันมีปลาอยู่ เขาก็อาจจะลืมผลกระทบตรงนี้ ตัวละครที่ไม่ได้เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับการสื่อสารข้อมูลตรงนี้ คือกรมประมง กรมที่ดูสัตว์น้ำ ต้องมีในโครงสร้างใหญ่ จุดตรงไหนที่กรมประมงจะเข้าไปได้ การเข้าไปกรมประมงก็เพื่อจะได้รับข้อมูล เช่นแผนการระบายน้ำของเขื่อนไซยะบุรี ถ้ากรมประมงไม่มาวันนี้ก็จะไม่ทราบข้อมูลเกี่ยวกับเขื่อนไซยะบุรี ทาง กฟผ เองก็คงคิดว่ากรมประมง ไม่น่าจะต้องรู้ เพราะเขาก็คงคิดว่าระบายน้ำก็ระบายไป แต่ที่มาตรงนี้ เราก็จะได้รวบรวมข้อมูลต้นเรื่องไปคุยกับเขา ขอทราบแผนระบายน้ำบ้าง
เนื่องจากทางประมงตลอดลำน้ำโขงก็เดือดร้อน ตรงนี้เป็นวิกฤตที่ทำให้กรมประมงมีโอกาส ขอพื้นที่เข้าไปมีส่วนร่วมเพื่อการนำข้อมูลมาทำเป็นระบบแจ้งภัยกับพี่น้องประชาชน เพื่อเป็นบทบาทให้กรมประมงเข้าไปอยู่ตรงนั้นมากขึ้น เพราะตอนนี้ไม่มีที่ตรงนั้นเลย
“สิ่งที่เราเรียนรู้จากวันนี้ การทำงานร่วมกัน ระหว่างเครือข่ายสภาองค์กรชุมชนลุ่มน้ำโขง 7 จังหวัดภาคอีสาน กับทางกรมประมง ก็ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่จะทำงานร่วมกัน โดยมีข้อสรุปว่าผู้ประสานงานเครือข่ายสภาองค์กรชุมชนลุ่มน้ำโขง 7 จังหวัดภาคอีสาน คือคุณอ้อมบุญ ทิพย์สุนา และผู้ประสานงานฝ่ายกรมประมง คือ ผม ผศ.ดร.ธนพร ศรียากูล ทั้งนี้ คณะจะได้นำเสนอข้อมูลข้อเสนอของประชาชนลุ่มน้ำโขงต่อท่าน อธิบดีกรมประมง ในวันอังคารที่ 30 กรกฏาคม 2562 นี้อย่างเร่งด่วน” ผศ.ดร.ธนพร กล่าว