ยึดเขื่อนลำปาวเลี้ยงปลานิล รายได้ดี มีกำไรกระชังละ 8,000 บาท (มีคลิป)

  •  
  •  
  •  
  •  

ดลมนัส กาเจ

จากเดิมทีเกษตรกรในพื้นที่ล้อมรอบของอ่างเก็บน้ำของเขื่อนลำปาว เลี้ยงปลานิลในกระชังเป็นอาชีพเสริมรองจากการทำไร่มันสำปะหลังและไร่อ้อย แต่ปัจจุบันกลายเป็นอาชีพหลัก หลังจากที่ได้ร่วม “โครงการส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่” ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่ ปลานิลในกระชังมาตั้งแต่ปี 2559 และก่อตั้งสหกรณ์ผู้เลี้ยงปลานิลในกระชังเขื่อนลำป่าว จำกัด จนผลผลิตปลานิลได้เป็นสินค้ามาตรฐาน GAP100% ส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้ที่เป็นกำไรสุทธิจากการเลี้ยงปลานิลกระชังละถึง 8,000  บาทหรือรายละไม่น้อยกว่าปีละ 3 แสนบาท  

         นายวิชาญ อิงศรีสว่าง รองอธิบดีกรมประมง กล่าวว่า จากการลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมเกษตรกรผู้เลี้ยงปลานิลในกระชังที่เขื่อนลำป่าวแล้ว หลังจากที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่ ปลานิลในกระชัง ภายใต้ “โครงการส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่” พบว่า เกษตรกรมีความเข้มแข็งเป็นอย่างมาก จากที่เริ่มแบบต่างคนต่างเลี้ยง จนมารวมตัวเป็นวิสาหกิจชุมชน และพัฒนามาตั้งเป็นสหกรณ์ผู้เลี้ยงปลานิลในกระชังเขื่อนลำป่าว จำกัด ทำให้เกษตรกรได้รับการถ่ายทอดความรู้จากหน่วยงานภาครัฐในด้านการบริหารจัดการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอย่างครบวงจร พร้อมเชื่อมโยงสู่การตลาดเพื่อสร้างความยั่งยืนในการประกอบอาชีพ ซึ่งขณะนี้ทราบว่า การดำเนินของสหกรณ์เมื่อปีที่แล้วมีกำไร 4 ล้าน ปีนี้น่าจะ 8 ล้านบาทต่อไปน่าจะได้ปีละ 10 ล้านบาท

          ทั้งนี้เพื่อก่อให้เกิดกิจกรรมลดต้นทุนการผลิต มีอำนาจในการต่อรอง จนสามารถวัดผลสัมฤทธิ์ได้อย่างเป็นรูปธรรม ตอบโจทย์ในการเพิ่มศักยภาพ และเปิดโอกาสให้เกษตรกรรายย่อยได้รวมกลุ่มกันในการบริหารจัดการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอย่างครบวงจร

            ด้านนายราชิตร์ แก่นทอง ผู้จัดการโครงการระบบส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่(เลี้ยงปลานิลในกระชัง)จังหวัดกาฬสินธุ์ กล่าวว่า เดิมทีเกษตรกรที่อยู่บริเวณท่าเรือภูสิงห์ อ.เมือง จ.กาฬสินธุ์ มีการเลี้ยงปลานิลในกระชังในรูปแบบของต่างคนต่างเลี้ยงเป็นอาชีพเสริมจากการทำไร่มันสำปะหลัง และไร่อ้อย แต่ปัจจุบันได้หันมาทำเป็นอาชีพหลัก เพราะรายได้ดีกว่า โดยในปี 2559 มีการรวมกลุ่มเกษตรกรให้อยู่ในรูปวิสาหกิจชุมชนและพัฒนาเป็นสหกรณ์ ทำให้เกษตรกรได้รับการฝึกอบรมให้ความรู้ทั้งในด้านการเพาะเลี้ยงที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ การรวมกลุ่ม การแปรรูป การพัฒนาเข้าสู่มาตรฐานฟาร์ม GAP และการตลาด

            จากการดำเนินตั้งแต่ปี 2559 มาจนถึงปัจจุบัน มีพื้นที่ดำเนินการทั้งหมด 4 แปลง ประกอบด้วย ปี 2559 กลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้เลี้ยงปลาในกระชัง,กลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้เลี้ยงปลาในกระชังท่าเรือภูสิงห์ พื้นที่ 67 ไร่ เกษตรกร 230 ราย และ ปี 2561 กลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้เลี้ยงปลาในกระชัง,กลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้เลี้ยงปลาในกระชังท่าเรือภูสิงห์ พื้นที่ 370 ไร่ เกษตรกร 155 ราย

            “ตอนที่เราเลี้ยงแบบต่างคนต่างเลี้ยงต้องประสบปัญหากับพ่อค้าคนกลากดราคา การเลี้ยงปลานิลในกระชั่งจะมีกำไรราวกระชังละไม่เกินกระชังละไม่เกิน 3,000 บาท แต่หลังมีการรวมกลุ่มและตั้งสหกรณ์แล้วจะมีกำไรกระชังละ 7,000-8,000 บาท เกษตรกรแต่ละรายที่รวมกลุ่มเฉลี่ยรายละ 20 กระชัง จะมีรายได้ตกปีละกว่า 3 แสนบาท ปลาที่ไม่ได้ขนาดมาแปรรูปมาเป็นไส้อั่ว ปลาร้า เป็นต้นจึงขอให้เกษตรกรหันมารวมกลุ่มกัน เพราะมีอำนาจต่อรองมากกว่า ” เขา กล่าว

            ขณะที่นายเมธี  อำไพทิศ ผู้จัดการหกรณ์ผู้เลี้ยงปลานิลในกระชังเขื่อนลำป่าว จำกัด กล่าวว่า  เกษตรกรที่เป็นสมาชิกของสหกรณ์ ทางสหกรณ์จะประกันราคาให้ กก.ละ 58 บาท จากเดิมที่พ่อค้าคนกลางซื้อในราคา กก.ละ 48-58 บาท และสหกรณ์นำขายต่อที่ตลาดบริเวณจังหวัดใกล้เคียงและห้างโมเด้นเทรดตกวันละ 7.5  ตัน เกษตรกรจะมีรายได้รวมเดือนละเฉพาะกลุ่มนี้เดือนละ 18 ล้านบาท (รายละเอียดในคลิป)