ซีพีเอฟ ประกาศจุดยืนร่วมกับ Seafood Task Force หนุนประมงใช้เครื่องมือถูกกฎหมาย

  •  
  •  
  •  
  •  


 ซีพีเอฟ ประกาศจุดยืน ร่วมกลุ่ม Seafood Task Force ภาครัฐ รวมถึงภาคประชาสังคม สนับสนุนการทำประมงโดยใช้เครื่องมือประมงที่ถูกกฎหมาย สามารถลดผลกระทบต่อระบบนิเวศน์จากการกวาดจับสัตว์น้ำ พร้อมเพิ่มประสิทธิภาพของระบบติดตามเรือประมง VMS เพื่อป้องกันทำประมงที่ผิดกฎหมาย

        น.สพ. สุจินต์ ธรรมศาสตร์ ประธานผู้บริหารฝ่ายปฏิบัติการ สายธุรกิจสัตว์น้ำ บริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ เปิดเผยว่า บริษัทได้ร่วมมือกับกรมประมงในการจัดตั้งคณะทำงานด้านการประมงอย่างยั่งยืน ประกอบด้วยตัวแทนชาวประมง ผู้เชี่ยวชาญ เจ้าของธุรกิจเรือประมงพาณิชย์ หน่วยงานรัฐ และตัวแทนจากภาคเอกชน หรือกลุ่ม Seafood Task Force  ซึ่งเป็นความร่วมมือกันของบริษัทอาหารทะเลระดับโลก เพื่อศึกษาเกี่ยวกับเทคโนโลยี และเครื่องมือประมงที่สามารถลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงลดปัญหาการทำประมง IUU ตามแนวทางขององค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization of the United Nations: FAO) องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization: ILO) และ องค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (International Organization for Migration: IOM) ซึ่งได้ประกาศเจตนารมณ์ร่วมกันที่จะป้องกันการทำประมง IUU และการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างหน่วยงาน  โดยมีจุดมุ่งหมายร่วมกันในการปกป้องทรัพยากรทางทะเล รวมทั้งแรงงานในภาคการประมง

       น.สพ. สุจินต์ กล่าวอีกว่า จากการเยี่ยมชมอุตสาหกรรมประมงอย่างยั่งยืนที่เมืองบริก ซึ่งเป็นท่าเรือประมงสำคัญของประเทศอังกฤษ  คณะทำงานได้ศึกษาและชมการสาธิตเครื่องมือประมงแบบต่างๆ เช่น การใช้อวนลากที่แบบพิเศษที่มีตาขนาดใหญ่ให้ลูกปลา และสัตว์ทะเลขนาดเล็กลอดผ่านไปได้ รวมถึงอวนลากแบบบอลลูนซึ่งสามารถนำไปต่อยอดในประเทศไทยได้

      “ประเทศไทยจะต้องหาทางปกป้องทรัพยากรทางทะเล จากการประมงที่ผิดกฎหมาย โดยคาดว่าหากนำเครื่องมือประมงที่ถูกกฎหมาย และตรงกับวัตถุประสงค์การจับจะสามารถลดการจับสัตว์น้ำที่ไม่พึงประสงค์  (By-catch) ลงได้ 50%” น.สพ. สุจินต์ กล่าว

        นอกจากนี้ คณะผู้แทนจากประเทศไทย ยังได้ศึกษาดูงานบนเรือประมงท้องถิ่น  และเรียนรู้เกี่ยวกับกฎระเบียบ รวมถึงแนวปฏิบัติที่ดีในอุตสาหกรรมประมงจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจากทั้งภาครัฐ และเอกชนของประเทศอังกฤษ เพื่อนำไปประยุกต์ใช้กับอุตสาหกรรมประมงไทย


        ทั้งนี้ ประเทศไทย และประเทศอังกฤษได้มีความร่วมมือมาอย่างต่อเนื่อง โดยการนำเทคโนโลยีที่เพิ่มประสิทธิภาพของระบบติดตามเรือประมง VMS (Vessel Monitoring System) มาใช้เพื่อให้เข้าใจถึงพฤติกรรมเรือประมงในทะเล และสามารถตรวจสอบการจับปลาที่ผิดกฎหมาย ภายใต้ข้อตกลงว่าด้วยมาตรการของรัฐเจ้าของท่า เพื่อป้องกัน ยับยั้ง และขจัดการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงานและไร้การควบคุมของ FAO (FAO Agreement on Port State Measures to Prevent, Deter and Eliminate Illegal, Unreported and Unregulated Fishing) รวมทั้งมีส่วนร่วมพัฒนาขั้นตอนการตรวจสอบเรือเข้า – ออก ท่าเทียบเรือประมง ที่มีการบันทึกข้อมูลเรือ และลูกเรืออย่างละเอียด ซึ่งจะทำให้เรือที่ทำประมงผิดกฎหมาย ไม่สามารถออกเรือ หรือนำสินค้าขึ้นฝั่งได้

           “สิ่งที่ประเทศไทยได้เรียนรู้จากประเทศอังกฤษจะมีส่วนสำคัญในการสร้างห่วงโซ่อุปทานที่ยั่งยืน และโปร่งใส รวมถึงแก้ไขปัญหาด้านสิทธิมนุษยชน และการค้ามนุษย์ให้หมดไปจากอุตสาหกรรมประมงไทย” ประธานผู้บริหารฝ่ายปฏิบัติการ สายธุรกิจสัตว์น้ำ ซีพีเอฟ กล่าว