ไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม The ASEAN Meeting on Combating IUU Fishing in Partnership with the EU เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนความรู้ เสริมสร้างความเข้าใจ และตระหนักถึงความสำคัญและความจำเป็นเร่งด่วนในการจัดตั้ง ASEAN IUU Fishing Task Force ระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน
นายลักษณ์ วจนานวัช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเปิดการประชุม The ASEAN Meeting on Combating IUU Fishing in Partnership with the EU ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 4 – 5 เมษายน 2562 ณ โรงแรมพลาซ่า แอทธินี กรุงเทพฯ ว่า ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมดังกล่าว เพื่อเป็นเวทีการพูดคุยแลกเปลี่ยนความรู้ เสริมสร้างความเข้าใจ และตระหนักถึงความสำคัญและความจำเป็นเร่งด่วนในการจัดตั้ง ASEAN IUU Fishing Task Force ระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน โดยมีผู้เชี่ยวชาญขององค์กรที่มีความเกี่ยวข้องกับระบบ Monitoring, Control and Surveillance (MCS) ผู้แทนจากสหภาพยุโรปเข้ามาให้ข้อมูลและประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องในการต่อต้านการประมง IUU ของตน และหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องของไทย ได้แก่ กรมประมง กรมเจ้าท่า ตำรวจน้ำ กรมศุลกากร ทหารเรือ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงแรงงาน เข้าร่วม
ทั้งนี้ ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้รับการจัดอันดับให้เป็นหนึ่งในผู้ผลิตประมงรายใหญ่ของโลก มีปริมาณการผลิตในภูมิภาคคิดเป็น 22% ของการทำการประมงทั่วโลก และเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจาก 33.6 ล้านตันในปี 2554 เป็น 44 ล้านตันในปี 2558 ซึ่งแสดงให้เห็นว่าอัตราการเติบโตเฉลี่ยอยู่ที่ 7.2% ต่อปี ในปี 2558 อีกทั้งยังมีเรือประมงประมาณ 850,000 ลำ ที่เปิดดำเนินการในภูมิภาค ซึ่งจากจำนวนเรือประมง ปริมาณสัตว์น้ำ และผลิตภัณฑ์ประมงที่ผ่านอุตสาหกรรมอาหารในภูมิภาคอาเซียน จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ภูมิภาคจะต้องมีบทบาทในการรับรองว่าการทำประมงในภูมิภาคอาเซียนจะปราศจากการทำประมงผิดกฎหมาย การปฏิบัติและอาชญากรรมที่เกี่ยวข้องเช่นการละเมิดสิทธิมนุษยชน รวมถึงการบังคับใช้แรงงานเด็กด้วย
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าประเทศสมาชิกอาเซียนแต่ละประเทศจะมีความเข้มแข็งอย่างมากในการติดตามควบคุมและเฝ้าระวังการทำการประมงผิดกฎหมาย แต่การจัดการกับปัญหาดังกล่าวยังมีความซับซ้อน ยกเว้นแต่เราจะร่วมมือกันในทุกมิติที่ครอบคลุมทุกด้านที่เกี่ยวข้อง โดยให้ความสำคัญกับการส่งเสริมและสร้างขีดความสามารถการดำเนินงานผ่านกลไกความร่วมมือระดับภูมิภาค จึงหวังว่าการประชุมดังกล่าวจะเป็นเวทีที่สามารถพูดคุยเพื่อหาแนวทางในการทำงานให้เกิดประสิทธิผลและได้รับการสนับสนุนจากทุกประเทศสมาชิกอาเซียน ซึ่งผลที่ได้จากการทำงานร่วมกันภายใต้ ASEAN IUU Task Force นั้น จะเป็นประโยชน์ที่ยั่งยืนของคนรุ่นใหม่ในประเทศสมาชิกต่อไป