ปิดอ่าวฝั่งอันดามัน 3 เดือนห้ามทำการประมง ฝ่าฝืนปรับถึง 30 ล้านบาท

  •  
  •  
  •  
  •  

กระทรวงเกษตรฯ ประกาศปิดอ่าวฝั่งอันดามัน ห้ามทำการประมงในพื้นที่ 4 จังหวัด “ภูเก็ต พังงา กระบี่ ตรัง” เป็นเวลา 3 เดือนฤดูปลามีไข่ วางไข่ และเลี้ยงตัวในวัยอ่อน ประจำปี 2562  ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายนจน 30 มิถุนายน ฝ่าฝืนปรับสูงสุดถึง 30 ล้านบาทพร้อมยึดเครื่องทำมาหากินทั้งหมด

          นายลักษณ์ วจนานวัช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังพิธีประกาศใช้มาตรการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำในฤดูปลามีไข่ วางไข่ และเลี้ยงตัวในวัยอ่อน ฝั่งทะเลอันดามัน ประจำปี 2562 ณ ท่าเทียบเรือศูนย์ป้องกันและปราบปรามประมงทะเลเขต 3 (กระบี่) ต.ไสไทย อ.เมือง จ.กระบี่ ว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมประมง กำหนดมาตรการเพื่อคุ้มครองพันธุ์สัตว์น้ำในฤดูสัตว์น้ำมีไข่ วางไข่ เลี้ยงตัวอ่อนมิให้ถูกทำเลยเกินสมควร โดยกำหนดห้ามทำการประมงด้วยเครื่องมือประมงทุกชนิด เว้นแต่เครื่องมือประมงบางชนิดเท่านั้นที่ทำการประมงได้ในพื้นที่ทะเล ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน ถึงวันที่ 30 มิถุนายน ของทุกปี

           เนื่องจากมีผลการศึกษาและเก็บรวบรวมข้อมูลปรากฏว่าในช่วงเวลาดังกล่าว บริเวณทะเลอันดามันในเขตท้องที่จังหวัดภูเก็ต พังงา กระบี่ และตรัง เป็นแหล่งซึ่งสัตว์น้ำบางชนิดมีไข่ วางไข่ และเลี้ยงตัวอ่อน จึงต้องมีการควบคุมการประมงและประชาสัมพันธ์ให้ชาวประมงและประชาชนทั่วไปทราบถึงเหตุผลความจำเป็น ระยะเวลา เครื่องมือห้ามทำการประมง ตามพื้นที่ที่กำหนด

อย่างไรก็ตาม กระทรวงเกษตรฯ มุ่งหวังว่าการดำเนินการดังกล่าว จะทำให้ทรัพยากรสัตว์น้ำได้มีโอกาสฟื้นฟูกลับมาอุดมสมบูรณ์ ลดความขัดแย้งในการแย่งชิงทรัพยากรในพื้นที่ระหว่างเครื่องมือประมง และให้กลุ่มชาวประมง ประชาชนทั่วไป และหน่วยงานภาครัฐ รับทราบและให้ทำความเข้าใจกับการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำในช่วงเวลาที่กำหนด อีกทั้งยังมีความเข้าใจถึงมาตรการในด้านการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรประมงด้วย ซึ่งหากมีการฝ่าฝืนจะต้องโทษตั้งแต่ 5,000 บาท – 30 ล้านบาท ตามขนาดของเรือประมง หรือ 5 เท่าของมูลค่าสัตว์น้ำที่จับได้ และจะถูกริบเครื่องมือทั้งหมด


นายลักษณ์ กล่าวอีกว่า จากการดำเนินการที่ผ่านมาพี่น้องชาวประมงทั้ง 4 จังหวัด ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี ไม่มีผู้ใดฝ่าฝืนข้อกำหนดตามมาตรการเลย ทำให้ทราบว่าพี่น้องชาวประมงต้องการเห็นความยั่งยื่นของทรัพยากรประมงในอนาคต และในภาพรวมจะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า รัฐบาลมีการเพิ่มวันทำการประมงให้กับพี่น้องชาวประมงทั้ง 22 จังหวัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งทะเลฝั่งอันดามันได้มีการเพิ่มวันประมงได้ครบทั้งปี สามารถทำประมงได้ถึง 31 มี.ค. 62 แสดงว่าทรัพยากรสัตว์น้ำหลังจากที่มีมาตรการต่าง ๆ เข้ามาดำเนินการ ทำให้ทรัพยากรสัตว์น้ำได้มีการฟื้นตัว มีการควบคุมการทำประมงให้เกิดความสมดุลกับทรัพยากรสัตว์น้ำ เกิดความยั่งยืนในอาชีพประมงต่อไป

           ในส่วนที่รัฐบาลดำเนินการและมีผลกระทบต่อพี่น้องชาวประมง ได้มีการดำเนินมาตรการหลายอย่าง โดยขณะนี้มีการออกประกาศหลายฉบับเพื่อเข้าไปดูแลผลกระทบ อาทิ เรื่องที่เพิ่งผ่านมติ ครม. ในความจำเป็นต้องลดจำนวนกองเรือประมงพาณิชย์ลง เนื่องจากทางรัฐบาลต้องการมีมาตรการนำเรือออกนอกระบบและมีการจ่ายเงินชดเชยเยียวยา

         ในเบื้องต้นมีจำนวนเรือประมาณ 305 ลำ ซึ่งรัฐบาลได้ดูแลพี่น้องชาวประมงที่ไม่ประสงค์จะทำการประมงต่อไป และพี่น้องชาวประมงที่ทำถูกต้องตามกฎหมายทุกอย่าง อีกทั้งยังมีการออกประกาศให้ประมงพาณิชย์หลายฉบับ ไม่ว่าจะเป็นการแก้ไขใบอนุญาต และการควบรวมสัตว์น้ำ เป็นต้น จะช่วยให้เกิดความยืดหยุ่นในการทำประมง

สำหรับชาวประมงพื้นบ้าน มีการกำหนดเขตที่มีความชัดเจน โดยนายกรัฐมนตรีได้สั่งการเป็นพิเศษกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ให้ดำเนินการจัดทำการพัฒนาอาชีพให้พี่น้องชาวประมงพื้นบ้านอย่างยั่งยืน ถือเป็นการเรียนรู้จากชุมชนต้นแบบจากประมงพื้นบ้านที่ประสบความสำเร็จ ซึ่งองค์ประกอบของโครงการนี้ ประกอบด้วย การพัฒนาอาชีพ การให้องค์ความรู้แก่พี่น้องชาวประมง ให้เกิดการรวมตัวกันเป็นชุมชน เพื่อนำไปพัฒนาอาชีพให้เกิดความยั่งยืน เช่น การเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าประมง หรือถ้ามีขีดความสามารถเพิ่มขึ้น ก็สามารถต่อยอดเป็นเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ได้ โดยปัจจุบันรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ลงนามในโครงการดังกล่าวเรียบร้อยแล้ว และรอนำเสนอ ครม. เพื่อดำเนินการในระยะยาวต่อไป โดยตั้งใจว่าจะดำเนินการใน 640 ชุมชน จากประมงพื้นบ้านทั่วประเทศ