ไชโย!!ครม.ไฟเขียวให้ “ปลากัด” เป็นสัตว์น้ำประจำชาติ

  •  
  •  
  •  
  •  

 ครม.ไฟเขียวให้ “ปลากัด” เป็นสัตว์น้ำประจำชาติ หลังจากที่กระทรวงเกษตรฯผลักดันมานานเป็นแรมปี “กฤษฎา”ชี้มีเอกลักษณ์โดดเด่นสะท้อนความเป็นคนไทยด้าน “วัฒนธรรมและประวัติศาสตร์-ความเป็นเจ้าของและเอกลักษณ์เฉพาะตัว-ประโยชน์ใช้สอย” เผยปัจจุบันความนิยมของปลากัดไทยประเภทกัดเก่งลดลง แต่เน้นความสวยงามมากขึ้น ทําให้มีการเพาะเลี้ยงทั่วประเทศและส่งออกถึง 95 ประเทศ

          วันที่5 กุมภาพันธ์ 2562 นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเข้าร่วมการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม. มีมติเห็นชอบให้ปลากัดไทยเป็นสัตว์น้ำประจำชาติ ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมประมงเสนอ โดยการดำเนินงานที่ผ่านมา กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ผลักดันเรื่องดังกล่าวมาเป็นเวลากว่าหนึ่งปี ซึ่งการเห็นชอบของที่ประชุม ครม. ในวันนี้นับว่าประสบความสำเร็จอย่างมาก ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการประชุมคณะกรรมการนโยบายการประมงแห่งชาติ ครั้งที่ 2/2560 เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2560 โดยมีพลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง       รองนายกรัฐมนตรี  เป็นประธาน ซึ่งที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้ปลากัดเป็นสัตว์น้ำประจำชาติ

          ต่อมาในการประชุมคณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติ ครั้งที่ 2/2561 เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2561 โดยมีนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี  เป็นประธาน มีมติให้ปลากัดไทยเป็นสัตว์น้ำประจำชาติ และการประชุมคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2562 เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2562 โดยมีนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี  เป็นประธาน มีมติให้ปลากัดไทยเป็นปลาประจำชาติ จนในวันนี้ได้ผ่านการเห็นชอบจาก ครม. เป็นขั้นตอนสุดท้ายเรียบร้อยแล้ว

          สำหรับสาระสำคัญของการเสนอให้ปลากัดเป็นสัตว์น้ำประจำชาติ ประกอบด้วย 3 ด้าน คือ               1. ด้านวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์  เป็นที่ทราบกันดีว่า คนไทยรู้จัก คุ้นเคย และมีความผูกพันกับปลากัดมาตั้งแต่โบราณ ซึ่งมีหลักฐานยืนยัน และเมื่อวันที่ 3 กันยายน 2556 กระทรวงวัฒนธรรมได้ประกาศขึ้นทะเบียนให้ปลากัดเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของชาติ 2. ด้านความเป็นเจ้าของ และความมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว “ปลากัดไทย” ที่เสนอให้เป็นสัตว์น้ำประจำชาติ ชื่อวิทยาศาสตร์ Betta splendens ชื่อสามัญ “Siamese Fighting Fish” หรือ “Siamese Betta” มีถิ่นกำเนิดในประเทศไทย เป็นสายพันธุ์ที่มีเอกลักษณ์โดดเด่น จนเป็นที่รู้จัก และได้รับการยอมรับกันอย่างกว้างขวางในระดับสากล ชื่อ Siamese จึงเป็นเครื่องสะท้อนอย่างชัดเจนว่า ปลากัดไทยนั้นเป็นเครื่องพิสูจน์ความเป็นเจ้าของได้ อีกทั้งไทยเป็นแหล่งอ้างอิงมาตรฐานหลักของปลากัดอีกด้วย

           3. ด้านประโยชน์ใช้สอย ปลากัดไทยได้ก่อให้เกิดประโยชน์ใช้สอยในหลายประการ โดยเฉพาะด้านการส่งเสริมการเพาะเลี้ยง และการสร้างนวัตกรรมด้านการเพาะพันธุ์ ซึ่งนําไปสู่การค้าเชิงพาณิชย์และก่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจอย่างมหาศาล ข้อมูลส่งออกปลากัดไทยกว่า 95 ประเทศ ปริมาณการส่งออกระหว่างปี 2556 – 2560 ประมาณ 20.85 ล้านตัว/ปี มูลค่าไม่ต่ำกว่า 115.45 ล้านบาท/ปี หรือ 5.42 บาท/ตัว และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นทุกปี ปัจจุบันมีการเลี้ยงปลากัดไทยทั่วโลก โดยด้านพันธุศาสตร์นั้น ชื่อของปลากัดจีน ปลากัดมาเลย์ และปลากัดอินโด แม้จะมีชื่อเรียกที่แตกต่างกันไป แต่มีที่มาจากสายพันธุ์เดียวกับปลากัดป่าของไทยทั้งสิ้น โดยจังหวัดนครปฐมเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ที่ใหญ่ที่สุด

          ปัจจุบันความนิยมของปลากัดไทยประเภทกัดเก่งนั้นลดลงมาก ขณะที่ได้รับความสนใจในด้านการพัฒนาสายพันธุ์เน้นที่ความสวยงาม ทําให้มีการเพาะเลี้ยงทั่วประเทศ มีการขึ้นทะเบียนเกษตรกรกับกรมประมง จํานวน 1,500 ราย เกษตรกรที่เพาะเลี้ยงปลากัดไทยมีการกระจายทั่วพื้นที่ของประเทศไทยจํานวน 500 ราย และมีผู้ที่เลี้ยงรายย่อย ผู้ชื่นชอบการเลี้ยงปลากัดไทยมากกว่า 100,000 ราย ซึ่งปลากัดไทยสามารถสร้างอาชีพที่มั่นคงให้กับชุมชนได้ รวมทั้งมีการเพาะเลี้ยงปลากัดเพื่อเอาไว้กัดแข่งขันเป็นกีฬา หรือนิยมเลี้ยงไว้ดูเล่นเพื่อความเพลิดเพลิน รวมถึงมอบเป็นของขวัญในวันพิเศษ และยังสามารถนําไปใช้เป็นสัญลักษณ์ของไทย ตลอดจนนําไปใช้ประกอบสินค้าและผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เพื่อสะท้อนความเป็นไทยได้  

            นายกฤษฎา กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ปลากัดไทยมีความเป็นเอกลักษณ์โดดเด่นด้านพฤติกรรมการต่อสู้ นับเป็นสัตว์น้ำเพียงชนิดเดียวของไทยที่มีลักษณะดังกล่าว เหมาะกับการเป็นสัตว์น้ำประจำชาติเนื่องจาก คล้ายกับลักษณะของคนไทยที่รักและหวงแหนชาติ ปกป้องแผ่นดินจากข้าศึก สู้รบอย่างกล้าหาญ แม้ปลากัดไทยจะมีลักษณะดุดัน แต่ในยามสงบ กลับอ่อนโยน นุ่มนวลสอดคล้องกับนิสัยคนไทย เหมือนส่วนหนึ่งของเนื้อเพลงชาติ “ไทยนี้รักสงบ แต่ถึงรบไม่ขลาด

             ทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ขอขอบคุณหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงกลุ่มคนเลี้ยงปลากัดที่ร่วมผลักดันข้อเสนอดังกล่าวนี้ รวมทั้งนักวิชาการสาขาต่าง ๆ ที่ร่วมสนับสนุนข้อมูลจนผ่านการพิจารณาและได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติ ซึ่งในวันนี้(5ก.พ.62) ครม. ก็ได้มีมติเห็นชอบให้ปลากัด เป็นสัตว์น้ำประจำชาติเรียบร้อยแล้ว ถือเป็นความภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากที่ผ่านมาได้มีการขับเคลื่อนกันอย่างเต็มที่เนื่องจากปลากัดเป็นสัตว์ที่มีเอกลักษณ์ มีถิ่นฐานอยู่ในประเทศไทย มีความผูกพันทางด้านประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม และมีผลประโยชน์ต่อเศรษฐกิจ มีการพัฒนาพันธุ์เพื่อการค้า

          “กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ยืนยันจะผลักดันเรื่องต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับปลากัดไทยให้เดินหน้าต่อไปในหลากหลายมิติยิ่งขึ้น อาทิ การค้าออนไลน์ การร่วมมือกับหน่วยงานอื่น ๆ เช่น บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ที่สนับสนุนธุรกิจสัตว์น้ำสวยงามด้วยระบบการขนส่งปลากัดภายในประเทศ ผลักดันและสนับสนุนให้เกิดความรวดเร็วและมีความปลอดภัยไปจนถึงมือลูกค้า ตลอดจนร่วมมือกับธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือเอสเอ็มอีแบงก์เพื่อพัฒนาแผนธุรกิจปลากัดไทย” รมว.เกษตรฯกล่าว