“การเลี้ยงกุ้งด้วยหลัก 3 สะอาด เกษตรกรจะต้องลงทุนเพิ่มเพื่อปรับเปลี่ยนโครงสร้างฟาร์มใหม่ และต้องปรับตัวมาเป็นคนที่เอาใจใส่ ตรวจสอบสภาพบ่อและน้ำในบ่อทุกวันอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้มั่นใจว่าน้ำในบ่อเลี้ยงกุ้งสะอาดอยู่ตลอดเวลา ซึ่งช่วยให้กุ้งแข็งแรง ไม่ติดโรคง่าย กุ้งอยู่สบาย กินอาหารได้เยอะ ไม่ต้องใช้ยาหรือสารเคมีในการจัดการกับโรคเลย ทำให้ผลผลิตที่ได้เป็นไปตามเป้าหมาย”
หากย้อนไปเมื่อปี 2554 โรคระบาดในฟาร์มกุ้งขาวแวนนาไม (Penaeus vannamei) ที่เรียกว่า “โรคกุ้งและอาการตายด่วน” หรือ”โรคอีเอ็มเอส” (Shrimp Early Mortality Syndrome หรือ EMS) ที่ระบาดมาจากประเทศจีนสู่เวียดนาม และลามมาถึงประเทศไทยในปี 2554 ได้สร้างความเสียหายให้กับอุตสาหกรรมกุ้งไทยอย่างมหาศาลทั้งต่อเกษตรกรผู้เลี้ยง และอุตสาหกรรมส่งออก
แต่ในทุกวันนี้ โรคอีเอ็มเอส และโรคที่อุบัติใหม่ๆ ไม่ใช่ปัญหาของคนเลี้ยงกุ้งไทยอีกต่อไปแล้ว สืบเนื่องจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต่างสรรหาสารพัดวิธีที่จะเอาชนะโรคนี้ได้ รวมทั้ง บริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ ที่ได้ทุ่มเทความพยายามศึกษาค้นคว้าหาแนวทางที่ช่วยจัดการและแก้ปัญหาอาการกุ้งตายด่วน ซึ่งเป็นต้นเหตุทำให้ผลผลิตกุ้งไทยเสียหายไปกว่า 50% ในช่วงปี 2555-2559 ขณะเดียวกัน ช่วยเกษตรกรเพิ่มประสิทธิภาพการเลี้ยงกุ้งให้ดีขึ้น ตลอดจน พัฒนาการเลี้ยงกุ้งที่เป็นมิตรให้กับสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน
จากความเสียหายในครั้งนั้น แม้ว่าทุกคนจะรู้ว่า โรคอีเอ็มเอสมีที่มาจากเชื้อแบคทีเรีย แต่รากเหง้าของการระบาดของเชื้อโรคจริงๆ นั้น มาจากความสะอาดของบ่อเลี้ยง น้ำที่ใช้เลี้ยง และตัวลูกพันธุ์กุ้ง ดังนั้น การเลี้ยงด้วยวิธีแบบเดิมๆ ที่ผู้เลี้ยงเคยทำกันมาได้ส่งผลให้ บ่อที่ใช้เลี้ยงเกิดการทับถมของตะกอน หรือขี้เลนก้นบ่อ เป็นที่สะสมอาหารชั้นดีเชื้อโรคร้ายของกุ้ง ทำให้เชื้อโรคเกิดขึ้นและแพร่ระบาด สร้างความเสียหายให้เกษตรกรอย่างไม่สิ้นสุด
ด้วยตระหนักถึงต้นเหตุที่สำคัญ ซีพีเอฟจึงได้พัฒนาแนวทาง “3 สะอาด” ประกอบด้วย พื้นบ่อสะอาด น้ำสะอาด และ ลูกกุ้งสะอาด รวมถึงการจัดการการเลี้ยงที่และเหมาะสม บนพื้นฐานง่ายๆ ว่า โดยมุ่งเน้นขจัดต้นเหตุของการเกิดโรคในกุ้ง และปรับปรุงสภาพแวดล้อมของบ่อเลี้ยงกุ้งให้สะอาดขึ้น ช่วยให้กุ้งอยู่สบาย กินอาหารได้ดี มีอัตราการเติบโตที่ดี และช่วยป้องกันการติดเชื้อโรคต่างๆ ได้และที่สำคัญช่วยเพิ่มความสำเร็จได้อย่างยั่งยืนให้กับเกษตรกรเลี้ยงกุ้งไทย ทั้งเรื่องผลผลิตและต้นทุน รวมถึงสิ่งแวดล้อม
นายไพโรจน์ อภิรักษ์นุสิทธิ์ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ซีพีเอฟ อธิบายว่า แนวทาง “3 สะอาด” เป็นแนวทางการเลี้ยงกุ้งเพื่อความสำเร็จที่ยั่งยืน โดยมุ่งเน้นความสะอาดใน 3 ด้าน คือ “น้ำสะอาด” “ลูกกุ้งสะอาดปลอดโรค” และ “พื้นบ่อสะอาด”
“น้ำสะอาด” หมายถึง น้ำต้องมีปริมาณสารอินทรีย์ที่ละลายในน้ำ (DOC : Dissolved Organic Carbon) ในระดับต่ำ ไม่มีตะกอนและสาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงิน ไม่มีเชื้อโรคต่างๆ โดยมีการเตรียมน้ำโดยฆ่าเชื้อด้วยด่างทับทิม และต้องมีบ่อเพื่อพักน้ำไว้ใช้เติมลงบ่อเลี้ยงในระหว่างการเลี้ยงกุ้งอย่างเพียงพอ
สำหรับ “ลูกกุ้งสะอาด” ที่ปลอดจากเชื้อต่างๆ เริ่มจากพ่อ-แม่พันธุ์ ซึ่งเป็นปัจจัยที่สำคัญและมีผลต่อความสำเร็จของการเลี้ยงกุ้ง เกษตรกรควรพิจารณาเลือกใช้ลูกกุ้งที่มาจากโรงเพาะฟักที่ได้มาตรฐาน พ่อแม่พันธุ์ต้องปลอดเชื้อ กระบวนการผลิตในโรงเพาะฟักนั้นจะต้องให้ความสำคัญกับระบบไบโอซีเคียวเพื่อป้องกันการปนเปื้อนของเชื้อในทุกๆ ขั้นตอนของการผลิต
แม้ลูกพันธุ์กุ้งที่ปล่อยลงเลี้ยงจะมีคุณภาพดีแต่หากปล่อยในบ่อเลี้ยงที่ไม่สะอาดและมีการจัดการการเลี้ยงที่ไม่ดี มีสารอินทรีย์ที่ตกค้างในบ่อ เช่น ซากกุ้ง ซากแพลงตอน เศษอาหารที่เหลือจากกุ้งกินไม่หมด ของเสียที่เป็นสารอนินทรีย์ คือ ก๊าซพิษ แอมโมเนีย สิ่งเหล่านี้ล้วนทำให้กุ้งอ่อนแอเป็นโรคได้
“พื้นบ่อสะอาด” คือการจัดการพื้นบ่อเลี้ยงกุ้งให้สะอาด ไม่เป็นแหล่งสะสมของเสียที่เป็นสาเหตุของการเกิดโรคได้ เกษตรกรต้องทำความสะอาดพื้นบ่อเพื่อกำจัดแหล่งอาศัยและอาหารของเชื้อโรค ในระหว่างการเลี้ยงต้องมีการกำจัดตะกอนซึ่งเกิดจากขี้กุ้งและเศษอาหารที่เหลือจากการกินของกุ้ง โดยดูดออกจากหลุมรวมตะกอนไปเก็บไว้ในบ่อเก็บตะกอน ดังนั้น เกษตรกรต้องมีการวางแผนการเลี้ยงและทำการปรับปรุงโครงสร้างฟาร์มให้เหมาะสม โดยสัดส่วนพื้นที่ระหว่างพื้นที่เก็บน้ำต่อพื้นที่การเลี้ยงที่เหมาะสมคือ 70:30 เพื่อให้มีปริมาณน้ำสะอาดที่เพียงพอตลอดระยะเวลาการเลี้ยง และห้ามปล่อยลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ และต้องระวังอย่าให้ตะกอนเปลี่ยนเป็นสีดำหรือมีเลนเกิดขี้นซึ่งแสดงถึงการจัดการที่ไม่ดี
ด้วยหลัก “3 สะอาด” ช่วยให้กุ้งแข็งแรงมีอัตราการเจริญเติบโตที่สูงขึ้น ประกอบกับการดูแลเอาใจใส่ในของเกษตรกร จะช่วยให้ผลผลิตต่อไร่ที่เพิ่มขึ้นได้อย่างแน่นอน และจะช่วยป้องกันและลดความเสียหายจากโรคของกุ้งต่างๆ ได้อย่างยั่งยืนซึ่ง เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งสามารถนำแนวทางต่างๆเหล่านี้ไปพิจารณาปรับใช้ให้เหมาะสมกับสภาพการเลี้ยงของแต่ละฟาร์ม ซึ่งแนวทางดังกล่าว
การเลี้ยงตามแนวทาง 3 สะอาดของซีพีเอฟทำให้เกษตรกรสามารถเพิ่มผลผลิตต่อไร่ได้มากขึ้น จากเดิมที่ผลผลิต 1-3 ตันต่อไร่ เป็นเฉลี่ย 3-5 ตันต่อไร่ อีกทั้งทำให้ต้นทุนการเลี้ยงกุ้งต่อกิโลกรัมลดลง และผลผลิตมีความแน่นอน เพราะสามารถลดความเสียหายที่เกิดขึ้นจากโรคต่างๆ
นายปรีชา สุขเกษม เจ้าของฟาร์มกุ้ง “ศรีสงขลาฟาร์ม” หนึ่งในฟาร์มกุ้งของไทยที่เสียหายจากโรคตายด่วนหนักมากจนแทบเลิกการเลี้ยงกุ้งไป หลังจากนำแนวทาง 3 สะอาดตามที่ได้รับคำแนะนำจากซีพีเอฟ ฟาร์มศรีสงขลาสามารถจัดการกับโรคกุ้งได้ และผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้น ต้นทุนการผลิตลดลง
หัวใจหลักของ ศรีสงขลาฟาร์ม คือ การกำจัดของเสียที่เป็นสาเหตุหลักของโรคออกให้มากที่สุด ที่ผ่านมา ฟาร์มเน้นการบริหารจัดการน้ำในฟาร์มให้สะอาด และเตรียมปริมาณน้ำใช้ให้มีอย่างเพียงพอตลอดการเลี้ยง ทั้งฟาร์มปรับลดพื้นที่บ่อเลี้ยงกุ้งเหลือเพียงร้อยละ 30 ของพื้นที่ฟาร์มทั้งหมด และพื้นที่ส่วนใหญ่ใช้เป็นบ่อสำหรับเก็บน้ำ แบ่งเป็นบ่อปรับคุณภาพน้ำ และบ่อพักน้ำสะอาด ประการที่สอง การกำจัดของเสียในบ่อ โดยการปรับพื้นบ่อให้เป็นหลุมตรงกลาง และใช้กระแสน้ำในบ่อเลี้ยงกุ้ง เพื่อให้ของเสียไหลมารวมที่หลุมกลางบ่อให้มากที่สุด และดูดของเสียออกจากบ่อไปเก็บในบ่อบำบัดให้มากที่สุดและเร็วที่สุด เพื่อไม่ให้มีของเสียตกค้างในบ่อ ซึ่งปัจจัยดังกล่าวช่วยป้องกันกุ้งเป็นโรค และผลผลิตเป็นได้ตามเป้าหมายที่วางไว้
“ระบบ 3 สะอาดช่วยให้การเลี้ยงกุ้งมีความยั่งยืน ด้วยบริหารจัดการการเลี้ยงกุ้งดีขึ้น ในปีที่ผ่านมา ฟาร์มศรีสงขลายังไม่เจอกับโรคต่างๆ อีกเลย และการเลี้ยงได้ผลผลิตที่แน่นอน ความเสียหายระหว่างการเลี้ยงมีน้อยมาก และที่สำคัญเป็นการเลี้ยงที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพราะขี้เลนที่ดูดขึ้นมาจากก้นบ่อ เราจะเก็บไว้ในบ่อบำบัดน้ำเสียไม่ปล่อยทิ้งออกจากฟาร์ม และนำน้ำกลับมาบำบัดเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่” นายปรีชากล่าว
นายสิงหา สวัสดิภูมิ หนึ่งในเกษตรกรที่ได้ปรับเปลี่ยนการเลี้ยงกุ้งตามแนวทาง 3 สะอาด ตั้งแต่ปลายปี 2559 หลังจากประสบกับปัญหาขาดทุนหลังเจอโรคอีเอ็มเอส และมีหนี้สิน 6-7 แสนบาทจนต้องหยุดเลี้ยงไป หลังจากนำแนวทาง 3 สะอาดมาใช้ สามารถจัดการโรคอีเอ็มเอส และผลผลิตที่ได้เพิ่มขึ้นมาก
“หลังจากปรับเปลี่ยนมาใช้แนวทาง 3 สะอาด ผลผลิตจากการเลี้ยงรอบแรกก็ช่วยให้ผมสามารถใช้หนี้สินได้ และช่วยสร้างความยั่งยืนให้กับอาชีพของเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งได้จริง เพราะการเลี้ยงกุ้งมุ่งเน้นหลักพื้นฐานของการเลี้ยงสัตว์ คือ ความสะอาด ความปลอดภัยของการผลิต และต้นทุนสมเหตุสมผล เช่น ซีพีเอฟได้แนะนำหลักการทำน้ำประปามาประยุกต์ใช้ในการบำบัดน้ำที่จะนำมาใช้เลี้ยงกุ้ง และไม่ต้องใช้ยาในการรักษาโรคในกุ้ง” นายสิงหากล่าว
นายปราโมทย์ เสนาะสรรพ์ เกษตรกรสมาชิกสหกรณ์ประมงคุ้งกระเบน จ.จันทบุรี กล่าวว่า ตอนแรกตนไม่เชื่อมั่นกับแนวทาง 3 สะอาด ประกอบกับยังไม่มีเงินทุน เพราะมีหนี้สินมากกว่า 1 ล้านบาท หลังจากที่เห็นเพื่อนเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการประสบความสำเร็จ จึงตัดสินใจปรับเปลี่ยนพื้นที่ฟาร์ม 7 ไร่ ให้เป็นบ่อเลี้ยงกุ้งให้มีพื้นที่เลี้ยงขนาด 1.8 ไร่ และพื้นที่ที่เหลือทำเป็นพื้นที่พักน้ำและกักเก็บน้ำ พื้นบ่อปูพลาสติกพีอีทั่วบ่อ และเจาะหลุมกลางบ่อให้เป็นรวมของเศษอาหาร ขี้กุ้ง และขี้เลน
“การเลี้ยงกุ้งด้วยหลัก 3 สะอาด เกษตรกรจะต้องลงทุนเพิ่มเพื่อปรับเปลี่ยนโครงสร้างฟาร์มใหม่ และต้องปรับตัวมาเป็นคนที่เอาใจใส่ ตรวจสอบสภาพบ่อและน้ำในบ่อทุกวันอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้มั่นใจว่าน้ำในบ่อเลี้ยงกุ้งสะอาดอยู่ตลอดเวลา ซึ่งช่วยให้กุ้งแข็งแรง ไม่ติดโรคง่าย กุ้งอยู่สบาย กินอาหารได้เยอะ ไม่ต้องใช้ยาหรือสารเคมีในการจัดการกับโรคเลย ทำให้ผลผลิตที่ได้เป็นไปตามเป้าหมาย ซึ่งคุ้มค่ากับการลงทุนและลงแรงอย่างมากโดยสามารถทำผลผลิตจากการเลี้ยงรอบแรกด้วยหลัก 3 สะอาดสูงถึง 10 ตัน จากเดิมที่เคยได้ผลผลิตต่อไร่เพียง 2-3 ตันต่อไร่เท่านั้น” นายปราโมทย์กล่าว
นายไพโรจน์กล่าวสำทับอีกว่า การนำเทคนิคการเลี้ยงแบบ 3 สะอาดมาประยุกต์ใช้ร่วมกับการบริหารจัดการฟาร์มอย่างถูกต้องและมีความเอาใจใส่ในการดูแลตลอดการเลี้ยงอย่างจริงจัง ไม่เพียงจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการเลี้ยงและผลผลิต เกษตรกรจะสามารถจัดการกับโรคที่เกิดขึ้นในปัจจุบันหรือโรคและความท้าทายใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นในอนาคตได้ ช่วยสร้างสำเร็จที่มั่นคงให้กับเกษตรกรและอุตสาหกรรมการเลี้ยงกุ้งของไทย ตลอดจนสร้างความเชื่อมั่นไทยให้กับคู่ค้าและผู้บริโภคทั่วโลกในฐานะผู้ผลิตอาหารคุณภาพและปลอดภัยที่ยั่งย
ทั้งหมดนี้คือ เคล็ดลับสร้างความสำเร็จที่ยั่งยืนให้คนเลี้ยงกุ้งไทย ให้รอดพ้นจากภัยคุกคามของโรคต่างๆได้