ชู !! บางระกำโมเดล ส่งเสริมอาชีพประมงให้เกษตรกรในช่วงฤดูน้ำหลาก พลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส หวังแก้ปัญหาแบบเบ็ดเสร็จและยั่งยืน พร้อมดันสินค้าสัตว์น้ำแปรรูปให้มีมูลค่าเพิ่มก่อนส่งจำหน่าย เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้บริโภค
ดร.วราภรณ์ พรหมพจน์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังพิธีบันทึกข้อตกลงความร่วมมือส่งเสริมสนับสนุนการแปรรูปผลผลิตสัตว์น้ำในพื้นที่โครงการบางระกำโมเดล ณ อำเภอบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก ว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีนโยบายในการบริหารจัดการน้ำแบบชุมชนมีส่วนร่วม เพื่อป้องกันการเกิดอุทกภัยในระยะยาว ในพื้นที่ทุ่งหน่วงน้ำบางระกำ โดยกระทรวงเกษตรและหกรณ์ได้ดำเนิน “โครงการบางระกำโมเดล 60” ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2560 เป็นการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่โครงการฯ ให้เหมาะสม ซึ่งได้มีการปรับเปลี่ยนการปลูกข้าวนาปีของเกษตรกรให้เร็วขึ้นอีก 1 เดือน คือในช่วงเดือนเมษายน – กรกฎาคม เพื่อให้ทันเก็บเกี่ยวผลผลิตก่อนฤดูน้ำหลากในเดือนสิงหาคม – พฤศจิกายน และปรับใช้พื้นที่ลุ่มต่ำระหว่างลุ่มน้ำยมและน้ำน่านในเขตพื้นที่อำเภอบางระกำ อำเภอเมือง อำเภอพรหมพิราม อำเภอวัดโบสถ์ จังหวัดพิษณุโลก และอำเภอกงไกสาศ จังหวัดสุโขทัย เป็นพื้นที่หน่วงน้ำ
หลังจากนั้น ในระยะเวลา 4 เดือนของการหน่วงน้ำนี้ ทำให้เกษตรกรมีอาชีพเสริมคือการจับปลา โดยจากการสำรวจของกรมประมงพบว่า มีเกษตรกรทำการประมงในอำเภอบางระกำ จำนวน 674 ราย และเกษตรกรในอำเภอพรหมพิราม มีประมาณ 100 ราย มีผลผลิตรวมจากการประมงออกสู่ท้องตลาดเป็นจำนวนมาก ทำให้ราคาปลาตกต่ำ ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องจากผลการจับปลาในปีที่ผ่านมา (ช่วงน้ำนอง 4 เดือน) มีมากถึง 1,000 ตัน เกษตรกรจึงมีความต้องการห้องเย็นเก็บปลา เพื่อนำไปแปรรูปหรือจำหน่ายในช่วงอื่น
ปัจจุบัน (ข้อมูล ณ วันที่ 14 ก.ย. 61) พื้นที่ลุ่มต่ำทุ่งบางระกำ มีเนื้อที่รวมกันประมาณ 382,000 ไร่ ซึ่งกรมชลประทาน โดยโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษายมน่าน ได้จัดประชุมชี้แจงแผนการดำเนินการโครงการบางระกำโมเดลปี 2561 เพื่อให้ทุกภาคส่วนได้ร่วมกันแสดงความคิดเห็นและลงมติเห็นชอบในการเริ่มนำน้ำเข้าทุ่งบางระกำตามแผนที่ได้วางไว้ โดยในเบื้องต้นจะทำการผันน้ำเข้าทุ่งพื้นที่ลุ่มต่ำบางส่วนของโครงการฯ ซึ่งมีความพร้อมที่จะรับน้ำ พื้นที่รวมประมาณ 30,000 – 40,000 ไร่ ความลึกเฉลี่ยประมาณ 30 – 50 เซนติเมตร
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงได้บูรณาการร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่ ทั้งหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรฯ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อแก้ปัญหาแบบเบ็ดเสร็จและยั่งยืน ซึ่งต้องเพิ่มมูลค่าผลผลิตโดยการแปรรูปก่อนส่งจำหน่าย ได้แก่ 1) การฝึกอบรมทักษะการแปรรูปสัตว์น้ำเบื้องต้นให้กับชาวประมงเพื่อพัฒนาอาชีพ โดยทำการฝึกอบรมไปแล้วตั้งแต่ต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา จำนวน 100 คน จาก 5 อบต.ของอำเภอบางระกำ เช่น การหมักเกลือ การทำปลาร้า น้ำปลา และปลาส้ม 2) ยกระดับมาตรฐานการแปรรูปของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปรรูปสัตว์น้ำ จำนวน 3 แห่ง เตรียมจัดสร้างโรงเรือนแปรรูปปลาส้มที่ตำบลชุมแสงสงคราม และสหกรณ์ผู้ใช้น้ำตะแบกงาม และตำบลบางระกำเมืองใหม่ โดยขอการสนับสนุนงบประมาณจังหวัดพิษณุโลก 3) สนับสนุนเครื่องมือการแปรรูป เช่น ตู้แช่แข็ง ถังแช่เย็น และถังบรรจุสัตว์น้ำแปรรูปให้กับกลุ่มแปรรูป
4) จับคู่ผู้ซื้อผู้ขาย โดยจัดหาตลาดรับซื้อผลผลิตและผลิตภัณฑ์ เช่น การจับคู่ระหว่างกลุ่มแปรรูปจังหวัดชัยนาท ซึ่งใช้ปลาสร้อย ปลากระดี่ และปลาหมักเกลือ ผลิตเป็นปลาร้าจำนวนมาก จับคู่กับตลาดกลางปลาน้ำจืดจังหวัดอ่างทอง ที่เป็นแหล่งจำหน่ายปลาน้ำจืดรายใหญ่ในภาคกลาง เป็นต้น และ 5) จัดให้มีการลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือส่งเสริมสนับสนุนการแปรรูปผลผลิตสัตว์น้ำในพื้นที่โครงการบางระกำโมเดล เพื่อแสดงเจตจำนงค์ของการมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาและช่วยเหลือเกษตรกรในพื้นที่โครงการบางระกำโมเดล โดยมีหน่วยงานจากภาคราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และผู้รับซื้อผลผลิต รวม 12 หน่วยงาน เข้าร่วมลงนาม
ทั้งนี้ บันทึกข้อตกลงร่วมกันว่าด้วยความร่วมมือ พัฒนา ส่งเสริม สนับสนุนการผลิตและการตลาดผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำเพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรในพื้นที่มีอาชีพและรายได้ในช่วงฤดูน้ำหลาก มีรายละเอียด ได้แก่ 1) การร่วมบูรณาการหน่วยงานในการสนับสนุนองค์ความรู้ด้านต่าง ๆ เช่น การให้ความรู้เรื่องการรวมกลุ่ม การบริหารจัดการกลุ่ม การจัดตั้งวิสาหกิจชุมชน กลุ่มอาชีพในสังกัดสหกรณ์ การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ การแปรรูปผลผลิตสัตว์น้ำ เป็นต้น 2) การสร้างความเข้มแข็งให้กับสมาชิกกลุ่มวิสาหกิจชุมชน กลุ่มอาชีพในสังกัดสหกรณ์หรือกลุ่มแปรรูปอื่น ๆ ในการวางแผนการผลิต การคัดกรองสินค้าที่มีคุณภาพและมาตรฐานและการบริหารจัดการสินค้าแปรรูปสัตว์น้ำสู่ช่องทางการตลาด 3) มุ่งมั่นร่วมกันชี้ประเด็นและร่วมกันแก้ไขปัญหา รวมทั้งสนับสนุนการขับเคลื่อนแผนงานเพื่อการพัฒนา ทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และ ระยะยาว 4) ร่วมขับเคลื่อนด้านการตลาดและประสานงานในรูปแบบบูรณาการการบริหารจัดการด้านการตลาดให้เกิดผลสัมฤทธิ์ในเชิงประจักษ์ที่จะทำให้ผู้ร่วมดำเนินการทุกภาคส่วน มีอาชีพและมีรายได้ที่มั่นคง มีสภาพความเป็นอยู่ที่ดี และ 5) ส่งเสริมการเรียนรู้และสนับสนุนให้ผลิตและบริโภคสินค้าแปรรูปสัตว์น้ำที่มีคุณภาพสะอาด ปลอดภัย เพื่อสุขภาพที่ดีของผู้บริโภค
“หากเกษตรกรกังวลเรื่องการจับปลาในฤดูวางไข่ กรมประมงได้ผ่อนผันให้พื้นที่รับน้ำนองบางระกำเป็นพื้นที่ที่ได้รับการยกเว้นตามประกาศกรมประมง ที่กำหนดพื้นที่และเครื่องมือในการทำการประมงในฤดูปลาวางไข่แล้ว แต่ต้องไม่ใช้เครื่องมือที่ผิดกฎหมายด้วย นอกจากนี้ กระทรวงเกษตรฯ จะส่งเสริมแปลงปลูกผักลอยน้ำในช่วงน้ำนองด้วย เพื่อให้พี่น้องในพื้นที่ที่มีการคมนาคมไม่สะดวกจะได้มีพืชผักไว้บริโภคในครัวเรือน อีกทั้งจะจัดชุดเพาะพันธุ์ปลาแบบเคลื่อนที่ และฝึกอบรมให้พี่น้องเกษตรกรเพาะพันธุ์ปลาเพื่อปล่อยสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ” ดร.วราภรณ์ กล่าว
[adrotate banner=”3″]
อย่างไรก็ตาม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะดูแลและใส่ใจพี่น้องเกษตรกรในพื้นที่รับน้ำอย่างใกล้ชิด โดยจะสร้างโอกาส สร้างอาชีพให้เกิดขึ้นในพื้นที่ดังกล่าวได้อย่างยั่งยืน และเชื่อมั่นว่า พื้นที่บางระกำเมื่อเป็นบางระกำโมเดลแล้ววิถีชีวิตจะเปลี่ยนไป ช่วงทำนาก็จะปลูกข้าว ช่วงหน้าน้ำหลากก็จะทำการประมง และแปรรูปสัตว์น้ำด้วย ซึ่งสินค้าของบางระกำจะต้องมีคุณภาพเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคทั้งคนไทยและต่างประเทศต่อไป นอกจากนั้น ในอนาคตจะมีการขยายผลการส่งเสริมการแปรรูปสัตว์น้ำเพิ่มเติม เช่น ปลาอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์ โดยมีแผนที่จะสนับสนุนการใช้โรงอบพลังงานแสงอาทิตย์ และจะสนับสนุนการเพิ่มมูลค่า พร้อมยกระดับสินค้าแปรรูปของบางระกำให้เป็นสินค้าโดดเด่นประจำถิ่น เพื่อเป็นการสนับสนุนให้พี่น้องบางระกำมีรายได้และชีวิตความเป็นที่ดีขึ้น นับเป็นการสร้างวิกฤตให้เป็นโอกาส เสริมสร้างอาชีพและรายได้ได้อย่างมั่นคง