เลี้ยงกุ้งแบบกรีนฟาร์ม รักษ์โลก..ลดต้นทุน

  •  
  •  
  •  
  •  

“เลี้ยงกุ้งแบบกรีนเทคโนโลยี หรือกรีนฟาร์ม ไม่มีสูตรตายตัว เพราะสภาพพื้นที่แต่ละแห่งไม่เหมือนกัน แต่มีเป้าหมายไปในทิศทางเดียวกัน คือ ลดต้นทุนควบคู่กับการฟื้นฟูและอนุรักษ์สภาพแวดล้อม ฟาร์มแต่ละแห่งจึงมีสูตรการเลี้ยงไม่เหมือนกัน ที่นี่จะเน้นใช้โพรไบโอติกส์ จุลินทรีย์ สารชีวภัณฑ์ ทดแทนสารเคมีและยาปฏิชีวนะไม่ปล่อยน้ำลงแหล่งน้ำสาธารณะ ใช้น้ำระบบหมุนเวียนนำกลับมาใช้ใหม่ ทำให้ลดต้นทุนไปได้ครอปละ 15-20%”


อานันต์ จุงจิตร์ ผู้จัดการศูนย์วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีสัตว์น้ำ คาร์กิลล์ ประจำประเทศ ไทย ต.โรงเข้ อ.บ้านแพ้ว จ.สมุทรสาคร บอกถึงการเลี้ยงกุ้งแบบกรีนฟาร์มสูตรของตัวเอง…เนื้อที่ 43 ไร่ ประกอบไปด้วยแล็บทดลองที่ทันสมัย 10 ไร่, บ่อเลี้ยงขนาด 5 ไร่ 2 บ่อ, ขนาด 4 ไร่ 2 บ่อ และขนาด 2 ไร่ 2 บ่อ…ที่เหลือเป็นบ่อพักน้ำลึก 2.5 เมตร

เริ่มต้นเลี้ยง…เอาน้ำเข้าบ่อ ฆ่าเชื้อด้วยคลอรีน 90% ไร่ละ 40 กก. ทิ้งไว้ 2 วัน

จากนั้นลงปูนมาร์ลไร่ละ 5 กก. รำละเอียดไร่ละ 0.5 กก. ทำติดต่อกัน 4-5 วัน…ช่วงนี้สาด จุลินทรีย์ที่ขายตามร้านทั่วไปวันเว้นวัน พร้อมกับ ทำน้ำหมัก หัวเชื้อจุลินทรีย์ (ปม.1) 2 ซอง ละลายน้ำ 200 ลิตร หมักกับกากน้ำตาล 5 กก. ทิ้งไว้ 1 วัน สาดลงบ่อให้หมดหลังจากนั้น 2-3 วัน จะเริ่มเห็นสัตว์หน้าดินอยู่ในบ่อ…ปล่อยลูกกุ้งไร่ละ 120,000 ตัว ช่วง 3-4 วันแรกไม่ต้องให้อาหารเพราะมีสัตว์หน้าดินให้จับกิน

เข้าวันที่ 4 นำอาหารลูกกุ้งมาคลุกเคล้ากับแร่ธาตุ วิตามิน จุลินทรีย์ เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้กุ้ง ป้องกันตั้งแต่เริ่มเลี้ยง ไม่ใช่มาแก้ปัญหาที่ปลายเหตุเคล็ดลับการให้อาหาร….จะให้เมื่อน้ำมีอุณหภูมิตั้งแต่ 28 °C ขึ้นไป หากฝนตกอุณหภูมิลดลงมาเหลือ 27.5 °C จะลดอาหารเหลือ ครึ่งหนึ่ง แต่หากต่ำกว่า 27 °C จะงดให้อาหารมื้อนั้น…เพราะอุณหภูมิต่ำกุ้งจะไม่กินอาหาร ให้ไปนอกจากจะเปลืองยังทำให้น้ำเน่า


ส่วนการตีน้ำ จะใช้วิธีวัดค่าออกซิเจน…วัดครั้งแรก 05.30 น. ครั้งต่อมา 15.00 น. และครั้งสุดท้าย 21.00 น. ตอนกลางวันต้องคุมปริมาณออกซิเจนไม่ให้ต่ำกว่า 6-7 ppm. ตอนหัวค่ำและกลางคืนต้องไม่น้อยกว่า 5 ppm. หากค่าออกซิเจนตกต้องตีน้ำมาก ไม่ตกตีน้ำน้อย แต่ต้องตีน้ำตลอด 24 ชั่วโมง ส่วนความเค็มให้อยู่ที่ระดับ 5 ppt.


เลี้ยงจบครอป สูบน้ำสูบเลนเข้าบ่อพัก บำบัดด้วยปลานิลและจุลินทรีย์ ใช้น้ำระบบหมุนเวียนไปเรื่อยๆ จึงไม่มีการปล่อยน้ำลงแหล่งน้ำสาธารณะ แถมยังได้ผลผลิตทั้งกุ้งและปลาในคราเดียวกันอีกด้วย


ใช้เวลา เลี้ยง 90 วัน ได้กุ้งขนาด 50 ตัว/กก. ไร่ละ 2 ตัน ถึงระยะเวลาจะไม่ต่างจากการเลี้ยงแบบปกติ แต่ช่วยลดต้นทุน ค่าบำบัดน้ำ ยาฆ่าเชื้อ ยาปฏิชีวนะ ช่วยลดต้นทุนการเลี้ยงได้บ่อละ 60,000 บาทเลยทีเดียว.

ที่มา :  ไทยรัฐ : โดย…กรวัฒน์ วีนิล  : อ่านเพิ่มเติม :https://www.thairath.co.th/content/1346635