‘ซั้งกอ’ ต่อชีวิตประมงชายฝั่ง

  •  
  •  
  •  
  •  
 

\'ซั้งกอ\' ต่อชีวิตประมงชายฝั่ง thaihealth

ชาวบ้านช่วยกันแบกทางมะพร้าว และแท่งปูน ลงเรือที่หาดสามร้อยยอด จ.ประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งถ้ามองย้อนหลังไปใน 5 ปี พื้นที่นี้ปริมาณสัตว์น้ำจากการทำประมงชายฝั่งของชาวบ้านนั้นลดลงอย่างน่าใจหาย การทำ “ซั้งกอ” แบบง่าย ๆ โดยใช้วัสดุที่ไม่แพงมากนัก ถือเป็นทางรอด ที่จะทำให้ปริมาณสัตว์น้ำเพิ่มขึ้น และเป็นแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์น้ำในทะเล…

สินสมุทร แดงตนุ ชาวประมงพื้นบ้านในพื้นที่ อ.สามร้อยยอด จ.ประจวบคีรีขันธ์ เล่าว่า ด้วยความที่สัตว์น้ำมีน้อยลง จึงมีการทำ “ซั้งกอ” เพื่อฟื้นฟูแหล่งเพาะพันธุ์ให้กับสัตว์น้ำซึ่งหลายปีที่ผ่านมาปัญหานี้เริ่มเห็นชัดเจนขึ้นเรื่อย ๆ ด้วยปริมาณคนที่เยอะขึ้น ทำให้ทรัพยากรมีปริมาณไม่เพียงพอ โดยแต่ก่อนจะมี ปลาทู มาก แต่เดี๋ยวนี้หายากขึ้นทุกที

แนวคิดซั้งกอ เกิดจากภูมิปัญญาสมัยก่อนที่ใช้ในการดักปลากลางทะเล โดยจะทิ้งซั้งกอลงในทะเล แล้วให้ชาวประมงดำน้ำลงไปดูว่ามีปลาอยู่หรือไม่ ถ้ามีอยู่ก็ใช้อวนล้อมรอบพื้นที่นั้น แล้วไล่ปลาให้มาติดในอวน ซึ่งสมัยก่อนจะ ใช้ทางมะพร้าวทำเป็นซั้งกอ เพราะไม่ต้องใช้ทุนสูง

การทำซั้งกอของชาวบ้านปัจจุบันไม่ได้แตกต่างจากเดิม เพียงแต่จะไปวางในน้ำตื้น ทำให้ต้องปรับเปลี่ยนอุปกรณ์ที่ใช้ให้เล็กลงจากเดิม โดยกระบวนการทำซั้งกอต้องมี ลำไม้ไผ่ ที่ใช้เป็นแกน แล้วเจาะรูให้น้ำเข้าไปในไม้ไผ่ และนำทางมะพร้าวมาติดทั้งสองข้างของลำไม้ไผ่ โดยทางมะพร้าวจะอยู่ได้ 1-2 ปี แต่ถ้าทางมะพร้าวที่วางไว้ในทะเลมีน้อยลงก็เอาทางมะพร้าวลงไปเพิ่มอีกได้

\'ซั้งกอ\' ต่อชีวิตประมงชายฝั่ง thaihealth

“ซั้งกอ” ทำได้หลายรูปแบบ บางพื้นที่ทำเป็นแบบพุ่มลอยน้ำ บางแห่งใช้แหเก่า อวนเก่า ผูกกับไม้ไผ่แล้วทิ้งไว้กลางทะเล ซึ่งส่วนประกอบหลักในการทำซั้งกอ ที่ต้องมีคือ ไม้ไผ่ เชือก และปัจจุบันมีการใช้แท่งซีเมนต์ หรือบางพื้นที่ใช้ถุงทราย ขณะที่ส่วนประกอบอื่น ๆ จะขึ้นอยู่กับวัสดุที่มีในท้องถิ่นนั้น ๆ

ซั้งกอที่ทำขึ้นจะประกอบบางส่วนตั้งแต่บนบก แล้วผูกเชือกกับแท่งซีเมนต์กันกลางทะเล ก่อนจะทิ้งลงน้ำ ซึ่งความลึกที่เหมาะสมในการวางจะอยู่ที่ประมาณ 10 เมตร เพราะเป็นระดับที่พอดี หากลึกเกินกว่านี้จะทำให้ไม้ไผ่ที่เตรียมจมมิดไปใต้น้ำทั้งหมด ทำให้ชาวประมงที่มาวางอวนไม่เห็นว่าพื้นที่นั้นมีซั้งกอวางอยู่ และอาจทำให้เกิดอันตรายต่อสัตว์น้ำและชาวประมงได้

ชาวบ้านจะใช้มีดบั้งท่อนไม้ไผ่ให้เป็นรูทุกปล้อง เพื่อให้น้ำไหลเข้าไปในปล้องไม้ไผ่ จะได้จมน้ำ ขณะเดียวกันก็ใช้เชือกไนลอนยาว 2-3 เมตร ผูกกับโคนไม้ไผ่ ส่วนปลายอีกด้านผูกเชือกไว้กับกระสอบทราย ขณะที่อีกส่วนจะผูกทางมะพร้าวตรงกลางลำไม้ไผ่

เมื่อเสร็จแล้วก็จะช่วยกันยกแท่งปูนและกระสอบทรายทิ้งลงน้ำ ซึ่งน้ำหนักของกระสอบทรายจะดึงรั้งไผ่ทั้งลำให้ดิ่งลงสู่ก้นทะเลในลักษณะแนวตั้งกับพื้น โดยทางมะพร้าวที่ผูกไว้กลางลำไผ่จะแผ่ออก ซึ่ง ซั้งกอ…พออยู่ใต้น้ำจะแผ่ออกคล้ายต้นไม้มีกิ่งใบ เป็นที่พักอาศัยของปลาต่าง ๆ

\'ซั้งกอ\' ต่อชีวิตประมงชายฝั่ง thaihealth

การวางซั้งกอในพื้นที่ทะเลสามร้อยยอด จะวางไว้ในระยะทาง 500 เมตรจากฝั่ง เพราะสัตว์น้ำต่าง ๆ เวลาวางไข่จะมาวางในพื้นที่นี้ เหมือนกับปะการังเทียมที่นิยมทำกัน

สำหรับการชักชวนชาวบ้านให้มาทำซั้งกอ ต้องมีการทำความเข้าใจให้เห็นถึงประโยชน์ ซึ่งในพื้นที่อื่น ๆ ก็ทำแล้วได้ผล โดยเฉพาะในพื้นที่ปากน้ำที่ออกสู่ทะเล ตอนนี้ชาวบ้านหลาย ๆ ที่ทำกันเพื่อฟื้นฟู โดยเฉพาะในพื้นที่เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ แต่การทำของพื้นที่อื่น ๆ อาจแตกต่างกันออกไป เช่นบางพื้นที่ทำเป็นพื้นที่เพาะเลี้ยงหอย และเป็นที่หลบของสัตว์น้ำไปในตัวด้วย ซึ่งพฤติกรรมของสัตว์น้ำ ถ้าได้วางไข่ที่ไหนแล้ว ฤดูกาลถัดไปก็จะมาวางไข่ที่เดิม

ในส่วนของพื้นที่นี้ ชาวบ้านในหมู่บ้านเพิ่งเริ่มวางซั้งกอ ตอนนี้ก็ได้มีการกำหนดพื้นที่วาง และเน้นย้ำให้ไปวางที่เดิมให้เต็มพื้นที่ โดยยังไม่มีการกำหนดขยายพื้นที่ แต่จะรอให้พื้นที่ที่วางไว้กลับมาอุดมสมบูรณ์เสียก่อน

“ทางมะพร้าวที่นำมาทำซั้งกอ ชาวบ้านจะช่วยกันหามา ส่วนไม้ไผ่ก็ไปซื้อในราคาไม่แพงมาก โดยชาวบ้านจะรวมตัวกันทำ โดยตอนนี้เริ่มเห็นผลบ้างแล้ว เพราะเริ่มมีปลาเข้ามาอาศัยในพื้นที่ ซึ่งชาวบ้านมีการออกกฎกันว่า ห้ามวางอวนในพื้นที่ซั้งกอ”

ตอนนี้คนที่ทำประมงชายฝั่งหลายคนเลิกอาชีพแล้วมาทำงานบนฝั่งมากขึ้น ด้วยข้อจำกัดของรัฐที่จำกัดเครื่องมือในการทำประมง และมีการปิดอ่าวทำให้ช่วงเวลาในการหาปลาลดลง เหล่านี้มีผลกระทบต่อการหากิน ซึ่งชาวประมงชายฝั่งในพื้นที่ตอนนี้ต้องกู้หนี้ยืมสินกันมากขึ้น

\'ซั้งกอ\' ต่อชีวิตประมงชายฝั่ง thaihealth

ในช่วงมรสุมจะมา ช่วงเดือนพฤศจิกายน ถึงกุมภาพันธ์ เรือของชาวประมงชายฝั่งจะออกหากินไม่ได้ ทำให้ขาดรายได้ หลังจากนั้นอีกเดือนหนึ่งจึงสามารถหากินได้ แต่อีกเดือนถัดมามีการปิดอ่าวอีก สิ่งนี้ทำให้ช่วงเวลาหากินของชาวประมงชายฝั่งน้อยลง แถมตอนนี้กฎที่ออกมายังกำหนดว่าต้องมีนายท้าย ทำให้ค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น จึงทำให้ชาวประมงชายฝั่งหลายคนเลิกอาชีพนี้

เสียงจากพื้นที่ระบุด้วยว่า “การออกกฎที่ควบคุมการทำประมงชายฝั่ง อยากให้ภาครัฐทบทวน หรือลงมาสำรวจและรับฟังความคิดเห็นชาวประมงชายฝั่งในพื้นที่บ้าง ซึ่งตอนนี้หลายคนต้องกู้หนี้ยืมสิน เพราะไม่มีทุน แล้วไหนลูกจะต้องเรียนอีก”

ด้าน สนั่น สร้อยสม ผู้ใหญ่บ้านหนองข้าวเหนียว อ.สามร้อยยอด จ.ประจวบคีรีขันธ์ ระบุว่า จากการประชุมภายในหมู่บ้าน หลายคนลงความเห็นว่า ปัญหาของสัตว์น้ำที่ลดลงมีผลกระทบต่อชาวบ้านที่ทำประมงชายฝั่ง สิ่งนี้จึงทำให้เกิด โครงการวาง “ซั้งกอ” ในพื้นที่ทะเลสามร้อยยอด และพยายาม ต่อยอดในการทำ “ธนาคารปู” ที่จะเป็นแหล่งเพาะเลี้ยงลูกปูก่อนปล่อยคืนทะเล ซึ่งโครงการนี้ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

ทุกวันนี้พอชาวประมงจับปูได้ หากมีปูไข่ก็จะนำไปฝากไว้ที่ ธนาคารปู เพื่อทำการเขี่ยไข่ออกไว้ในบ่อ เพื่ออนุบาลลูกปูก่อน ซึ่งหลังจากเขี่ยไข่ปูเสร็จก็จะนำแม่ปูปล่อยลงสู่ทะเลต่อไป

“ส่วน ซั้งกอ ความคาดหวังของชาวบ้านในการทำเพื่อที่จะฟื้นฟูสัตว์น้ำค่อนข้างมีมาก สำหรับผู้ที่ดูแลโครงการแล้ว ก็พยายามให้ชาวบ้านร่วมมือกันทำอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดความยั่งยืนในพื้นที่” …นี่เป็นเสียงอีกส่วนจากพื้นที่นี้

…การ “ฟื้นฟูสภาพแวดล้อมในทะเล” ของชาวบ้าน นอกจากเป็นการ “เพิ่มประชากรสัตว์น้ำ” ที่เกี่ยวโยงกับปากท้องของแต่ละคนแล้ว ในภาพรวมก็ถือเป็นการสร้างสิ่งดี ๆ ให้ฟื้นคืนมา…สร้างความยั่งยืนให้กับชุมชนด้วย

ที่มา : http://www.thaihealth.or.th 

ภาพเว็บไซต์ pptvhd36.com จากรายการ เช้าปลุกข่าว