รัฐมนตรีประมงอียู ชูไทยเป็นตัวอย่างการยกระดับคุณภาพชีวิตแรงงานภาคประมง หลังไทยแจงเข้าร่วมอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 188 ว่าด้วยการทำงานในภาคประมงทะเลภายในปี 61 “บิ๊กฉัตร” สบช่องสั่งเดินหน้า 3 แผนเร่งแก้ประมงไอยูยูระยะ 4 เดือน
พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังเป็นประธานประชุมคณะอนุกรรมการการแก้ปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย (IUU) ว่า ที่ประชุมรับทราบผลการเดินทางเข้าร่วมงานแสดงสินค้าอาหารทะเลที่ใหญ่ที่สุดในโลก หรือ Seafood Expo Global 2018 ณ กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยี่ยม ในห้วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ของทีมประเทศไทย ซึ่งประกอบด้วยหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงเกษตรฯ โดยกรมประมง กระทรวงแรงงาน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ศปมผ. ผู้แทนภาคเอกชนและประชาสังคม ที่นอกจากจะร่วมกันชี้แจงความก้าวหน้าการแก้ไขปัญหาประมงผิดกฎหมายหรือ ประมงไอยูยูของไทยแล้ว ผู้แทนไทยยังได้เข้าร่วมในเวทีสาธารณะที่คณะกรรมาธิการสหภาพยุโรปจัดขึ้น เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในการรักษาทรัพยากรทางทะเลด้วยการทำประมงยั่งยืน และกระตุ้นเตือนให้นานาประเทศให้ความสำคัญต่อคุณภาพชีวิตของแรงงานประมงด้วย
ทั้งนี้ นอกจากไทยจะได้แสดงบทบาทร่วมเป็นหนึ่งในประเทศที่ตระหนักและให้ความสำคัญในการใช้ทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืนและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ตามที่นายคาเมนู เวลลา รัฐมนตรีกิจการประมงและสิ่งแวดล้อมสหภาพยุโรป ได้เน้นย้ำให้ทุกประเทศที่เข้าร่วมงานแสดงสินค้าประมงระดับโลก จะต้องไม่คำนึงถึงการทำการประมงเฉพาะผู้บริโภคในปัจจุบันแต่ต้องมีเหลือไว้เผื่อประชากรโลกในรุ่นต่อไปในอนาคตด้วยแล้ว ไทยยังถือโอกาสเน้นย้ำถึงเจตนารมณ์ของรัฐบาลไทยในการให้ความสำคัญของแรงงานในภาคประมงโดยทำความร่วมมือกับอียูเป็นการเฉพาะ ซึ่งแยกออกจากการแก้ไขการทำประมงผิดกฎหมาย
โดยนายอดิศร พร้อมเทพ อธิบดีกรมประมง ได้ชี้แจงในเวทีดังกล่าวว่าไทยอยู่ระหว่างการยกร่างกฎหมายเพื่อรองรับการให้สัตยาบันอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 188 ว่าด้วยการทำงานในภาคประมงทะเล เช่น ด้านสุขภาพอนามัยบนเรือ สิทธิสวัสดิการชาวประมง เป็นต้น ที่คาดว่าไทยจะสามารถให้การรับรองอนุสัญญาดังกล่าวภายปี 2561 ซึ่งสมาพันธ์ชาวประมงอียู ได้กล่าวชื่นชมประเทศไทย และร้องขอให้ทุกประเทศในกลุ่มอียูแสดงความชัดเจนในเรื่องการกำหนดมาตรฐานการทำงานบนเรือประมงเช่นเดียวกันไทย ที่นับว่าได้รับความสนใจจากสื่อต่างชาติและเผยแพร่ในสิ่งที่ไทยได้เน้นย้ำในเวทีนี้ด้วย
ขณะเดียวกัน อธิบดีกรมประมง ยังได้รายงานถึงผลการศึกษาดูงานภาคเอกชนเบลเยี่ยมที่ดำเนินธุรกิจการประมงตั้งแต่ระบบท่าเทียบเรือ การวางระบบการประมูลสัตว์น้ำ การแปรรูปขั้นต้นและระบบการขนส่งแบบครบวงจร ณ ท่าเทียบเรือซีบรู๊ค ประเทศเบลเยี่ยม ซึ่งมีหลายประเด็นที่สอดคล้องกับที่ไทยได้ดำเนินการและก้าวหน้ามากขึ้น เช่น การจัดการระบบตรวจสอบย้อนกลับสินค้าประมง ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เจตนารมณ์ของรัฐบาลในการเป็นประเทศปลอดสินค้าประมงผิดกฎหมาย หรือไอยูยูฟรีบรรลุเป้าหมาย ตามที่ไทยได้ร่วมงานกับอียูมาโดยตลอดและได้รับการพัฒนาจนเป็นที่ยอมรับ ปลาที่จับในน่านน้ำไทยสามารตรวจสอบย้อนกลับได้ ปลาที่นำเข้ามาก็มีมาตรการกลไกในการตรวจสอบย้อนกลับได้เช่นกันว่ามาจากการทำประมงที่ถูกต้อง
อย่างไรก็ตาม ช่วงสามปีที่ผ่านมาไทยเข้าสู่ปฏิรูปการประมงต้องปรับปรุงให้รวดเร็วมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะผู้บริโภคของอียูให้ความสำคัญในการเลือกซื้อสินค้าประมงที่ต้องมาจากการผลิตที่ยั่งยืน สินค้าสัตว์น้ำที่จับต้องถูกกฎหมาย ถ้าไม่สามารถตรวจสอบย้อนกลับจากฉลากบนสินค้าที่เลือกซื้อได้ว่าปลามาจากที่ใด คนอียูก็จะไม่ซื้อเพราะขาดความมั่นใจ แต่การที่เราจะกล้าประกาศได้ว่าสินค้าประมงไทยมาจากการทำประมงอย่างถูกกฎหมายเท่านั้น ภาครัฐดำเนินการเพียงฝ่ายเดียวคงไม่ได้ แต่ต้องอาศัยพี่น้องชาวประมง แพปลา ท่าเทียบเรือ และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องร่วมมือกันด้วย เช่นเดียวกับการทำประมงของเบลเยี่ยมที่กว่าจะพัฒนาแบบที่เห็นต้องอาศัยระยะเวลากว่า 20 -30 ปี โดยมีภาคชาวประมง ผู้ประกอบการประมงเป็นกลไกหลักขับเคลื่อน และภาครัฐสนับสนุน
นอกจากรับทราบผลการเดินทางเข้าร่วมงานแสดงสินค้าอาหารทะเลที่ใหญ่ที่สุดในโลก หรือ Seafood Expo Global 2018 ณ กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยี่ยม ระหว่างวันที่ 22 – 26 เมษายน 2561 แล้ว ที่ประชุมคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมายได้ให้ความเห็นชอบแผนปฏิบัติการยกระดับประสิทธิภาพการทำงานเพื่อใช้ดำเนินการในช่วงเวลา 4 เดือน ดังนี้
1.แผนปฏิบัติการพัฒนาระบบบริหารจัดการกองเรือประมง โดยกรมเจ้าท่าเป็นผู้รับผิดชอบ มีภารกิจในการสร้างระบบบริหารจัดการกองเรือประมงและเรือสนับสนุนการประมงให้สามารถติดตามและตรวจสอบข้อมูลได้แบบ Real Time อีกทั้งยังต้องกำหนดกฎเกณฑ์ กติกาในการจดทะเบียนเรือ เปลี่ยนประเภทการใช้เรือ ควบคุมเรือให้อยู่ในท่าตามกฎหมาย รวมถึงการต่อ ดัดแปลง ซ่อมเรือที่อู่ โดยใช้หลักการบริหารความเสี่ยงที่ได้มาตรฐานสากล
2.แผนปฏิบัติการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของศูนย์แจ้งเข้า-ออกเรือประมง (PIPO) โดย ศปมผ.เป็นผู้รับผิดชอบ มีภารกิจในการเพิ่มประสิทธิภาพการตรวจเข้าออกเรือประมง ณ ท่าเทียบเรือ รวมถึงการนำสัตว์น้ำขึ้นท่า การบูรณาการข้อมูลระหว่างเส้นทางการทำประมงที่ได้จากระบบติดตามเรือประมง (VMS) กับสมุดบันทึกทำการประมง (Logbook) โดยนำมาตรวจสอบข้อมูลเชิงลึกเพื่อนำไปสู่การบังคับใช้กฎหมายได้อย่างตรงตัวผู้กระทำผิด ทั้งนี้บนหลักการอำนวยความสะดวกให้ผู้ที่ปฏิบัติตามกฎหมาย บังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดกับผู้ที่ปฏิบัติผิดกฎหมาย
[adrotate banner=”3″]
3.แผนปฏิบัติการเพิ่มประสิทธิภาพการบังคับใช้มาตรการทางปกครอง โดยกรมประมงเป็นผู้รับผิดชอบ มีภารกิจในการเพิ่มประสิทธิภาพการบังคับใช้มาตรการทางปกครองต่อผู้กระทำผิดบนพื้นฐานของการบริหารความเสี่ยง เช่น การพักใช้ใบอนุญาต การเพิกถอนใบอนุญาต การสั่งกักเรือ เป็นต้น มุ่งเน้นให้การบังคับใช้เป็นไปด้วยความรวดเร็วต่อผู้กระทำผิด
ทั้ง 3 แผนปฏิบัติการถือเป็นองค์ประกอบสำคัญที่สุดในการทำงานของรัฐบาลเพื่อแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมายในช่วง 4 เดือนนี้ (พฤษภาคม – สิงหาคม) หากหน่วยงานที่รับผิดชอบปฏิบัติการได้เป็นไปตามแผนก็จะทำให้ประเทศไทยสามารถเริ่มต้นเข้าสู่การเป็นประเทศปลอดการทำประมงผิดกฎหมาย (IUU Free) ตามเจตนารมณ์ที่คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบไว้เมื่อเดือนมีนาคม 2561