สภาเกษตรกรฯ จดอนุสิทธิบัตร “บ่อเลี้ยงกุ้งและกระบวนการเลี้ยงกุังอิงธรรมชาติระบบน้ำหมุนเวียนแบบปิด”เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ชี้เป็นระบบที่สามารถแก้ไขปัญหาโรคต่างๆได้ โดยเฉพาะโรคกุ้งตายด่วน ระบุระบบนี้ เกษตรกร , ผู้ประกอบการรายเล็ก รายใหญ่สามารถใช้ระบบนี้ได้หมด
ว่าที่ร้อยตรีสมพูนทรัพย์ กล้าวิกรณ์ เลขาธิการสภาเกษตรกรแห่งชาติ เปิดเผยว่า เนื่องจากนายเดชา บรรลือเดช ผู้ทรงคุณวุฒิด้านประมง สมาชิกสภาเกษตรกรแห่งชาติได้ศึกษา ค้นคว้า ทดลองเรื่องการเลี้ยงกุ้งที่สามารถแก้ไขปัญหาโรคต่างๆในระบบเลี้ยงกุ้ง โดยเฉพาะโรคกุ้งตายด่วน(EMS)ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และยังได้ผลผลิตกุ้งเพิ่มขึ้น ปลอดภัยจากสารเคมีตกค้าง ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ช่วยให้เกษตรกรรายย่อยประกอบอาชีพเลี้ยงกุ้งได้อย่างยั่งยืน
ว่าที่ร้อยตรีสมพูนทรัพย์ กล่าวอีกว่า ระหว่างวันที่ 13-14 มีนาคม 2559 ที่สภาเกษตรกรแห่งชาติ จัดงาน “สานพลังประชารัฐสร้างเศรษฐกิจฐานรากขับเคลื่อนการพัฒนาเกษตรกรและภาคเกษตรกรรม สู่ความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” ที่เมืองทองธานี โดยนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานพิธีเปิด งาน ได้มีการจัดแสดงการเลี้ยงกุ้งรูปแบบอิงธรรมชาติและได้รับการแนะนำจากรองนายกรัฐมนตรีว่าการเลี้ยงกุ้งรูปแบบอิงธรรมชาติเป็นแนวทางแก้ไขปัญหาการเลี้ยงกุ้งที่สำคัญและยั่งยืน เห็นควรให้สภาเกษตรกรแห่งชาติดำเนินการจดสิทธิบัตรเป็นทรัพย์สินทางปัญญา
[adrotate banner=”3″]
ดังนั้น สภาเกษตรกรแห่งชาติจึงได้นำเรื่องดังกล่าวเข้าที่ประชุมและมีมติแต่งตั้งคณะอนุกรรมการดำเนินงานการจดสิทธิบัตรทรัพย์สินทางปัญญาบ่อสาธิตวิธีการเลี้ยงกุ้งรูปแบบอิงธรรมชาติ ซึ่งประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิด้านประมงจากสภาเกษตรกรแห่งชาติ ผู้แทนจากกรมทรัพย์สินทางปัญญา ผู้แทนคณะประมงจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้แทนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนงานวิจัย และผู้แทนจากกรมประมง โดยสำนักงานสภาเกษตรกรแห่งชาติเป็นเลขานุการดำเนินการจัดประชุม และดำเนินการยื่นคำขอจดอนุสิทธิบัตรทรัพย์สินทางปัญญา โดยสภาเกษตรกรฯได้ดำเนินการขอยกเว้นการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมสำหรับการขอรับสิทธิบัตร หรืออนุสิทธิบัตร ซึ่งได้รับการยกเว้นเรียบร้อยแล้ว
ทั้งนี้ เนื่องจากสำนักงานสภาเกษตรกรแห่งชาติเป็นหน่วยงานของรัฐ และการดำเนินการยื่นคำขอรับอนุสิทธิบัตรการประดิษฐ์ในชื่อ “บ่อเลี้ยงกุ้งและกระบวนการเลี้ยงกุังอิงธรรมชาติระบบน้ำหมุนเวียนแบบปิด” ได้รับการตรวจสอบการประดิษฐ์จากกรมทรัพย์สินทางปัญญาเรียบร้อยแล้ว พร้อมทั้งได้แก้ไขข้อถือสิทธิเพิ่มเติมจากเดิมคือ 2 ข้อถือสิทธิ เป็น 5 ข้อถือสิทธิ เพื่อให้ครอบคลุมสิทธิมากที่สุด ซึ่งสภาเกษตรกรฯได้จัดทำข้อเสนอเพิ่มเติมเสร็จเรียบร้อยแล้ว และเตรียมเสนอกรมทรัพย์สินทางปัญญาจดอนุสิทธิบัตรเพื่อให้เป็นสมบัติของสภาเกษตรกรฯนำเผยแพร่ให้กับพี่น้องเกษตรกรที่สนใจการเลี้ยงกุ้งด้วยวิธีอิงธรรมชาติดังกล่าวดำเนินการต่อไป
ด้านนายเดชา บรรลือเดช ผู้ทรงคุณวุฒิด้านประมง สมาชิกสภาเกษตรกรแห่งชาติ กล่าวเพิ่มเติมว่า การเลี้ยงกุ้งแบบอิงธรรมชาติระบบน้ำหมุนเวียนแบบปิดนี้จะป้องกันโรคที่เกี่ยวกับกุ้งได้แทบทุกชนิด ระบบนี้จะควบคุมได้ทั้งหมด ประเทศไทยจะเป็นประเทศที่อาหารปลอดภัย ส่งขายและเป็นที่ยอมรับของต่างประเทศได้ด้วยระบบนี้ เกษตรกร , ผู้ประกอบการรายเล็ก รายใหญ่สามารถใช้ระบบนี้ได้หมด หากเกษตรกรหรือผู้ประกอบการสนใจสามารถเข้าไปเรียนรู้เพิ่มเติมได้ที่ศูนย์เรียนรู้การเลี้ยงกุ้งแบบอิงธรรมชาติ สหกรณ์ผู้เลี้ยงกุ้งลุ่มน้ำสามร้อยยอด – ปราณบุรี จำกัด โทร.032-688-789 ,08-6368-7762 หรือนายเดชา บันลือเดช 08-9836-4133