“วอลล์มาร์ท”ชูไทยผู้นำแก้ปัญหาแรงงานในอาเซียน

  •  
  •  
  •  
  •  

“ทูตวีรชัย”แจงภาคเอกชนผู้นำเข้าระดับโลก ตอบรับเชื่อมั่นระบบการแก้ไขปัญหาประมงไอยูยูและแรงงานของไทยเดินถูกทาง ด้าน “วอลล์มาร์ท” ยกไทยผู้นำแก้ปัญหาแรงงานในภูมิภาคอาเซียน หนุนช่วยร่วมมือขยายผลประเทศเพื่อนบ้าน

          นายวีรชัย พลาศรัย เอกอัครราชทูตไทยประจำสหรัฐอเมริกา เปิดเผยภายหลังการเสวนาผู้นำเข้าอาหารทะเลและสื่อมวลชนในหัวข้อ เส้นทางสู่การประมงที่ยั่งยืนของประเทศไทย  หรือ “Thailand’s Path to Sustainable Fisheries”ภายในงานแสดงสินค้า Seafood Expo North America 2018 ซึ่งสหรัฐอเมริกาจัดขึ้นระหว่างวันที่ 11 – 13 มีนาคม 2561 ณ กรุงบอสตัน สหรัฐอเมริกา ว่า   ตามที่พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย มอบหมายให้เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมงานแสดงสินค้าอาหารทะเลที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอเมริกาเหนือครั้งนี้ มีผู้ซื้อขายและจำหน่ายอาหารทะเลทั่วโลกสนใจเข้าร่วมรับฟังการเสวนาครั้งนี้จำนวนมาก

        ที่สำคัญได้แสดงความชื่นชมในทิศทางการแก้ไขปัญหาประมงผิดกฎหมายหรือประมงไอยูยูของไทย โดยมีผู้แทนหน่วยงานภาครัฐร่วมชี้แจงในครั้งนี้ ได้แก่ กระทรวงเกษตรฯ โดยกรมประมง กระทรวงแรงงาน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สมาคมแช่เหยือกแข็งไทย ศูนย์อภิบาลผู้เดินทางทางทะเล (Stella maris) ร่วมชี้แจงสถานการณ์ที่เป็นจริงและถูกต้องของประเทศไทย

          สำหรับการชี้แจงข้อมูลให้นานาประเทศรู้รับทราบในครั้งนี้ ถือเป็นครั้งแรกที่มีการออกมาอธิบายความก้าวหน้าการดำเนินงานของไทยทั้งในเรื่องการขจัดการทำประมงผิดกฎหมาย การแก้ไขปัญหาแรงงาน และการค้ามนุษย์อย่างครบถ้วนทุกแง่มุม ซึ่งผู้แทนจากประเทศผู้นำเข้ามีความสนใจและสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม โดยเฉพาะผู้นำเข้าสำคัญของสหรัฐฯ คือ วอลล์มาร์ท ที่ชื่นชมไทยในการแก้ปัญหาทั้งสองเรื่องนี้ได้อย่างชัดเจน และยอมรับไทยเป็นผู้นำในการต่อสู้การประมงผิดกฎหมาย แรงงานผิดกฎหมาย แรงงานบังคับ การค้ามนุษย์  เนื่องจากไทยมีกฎหมายที่ดี มีระบบจัดการที่ชัดเจน และมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเต็มที่ โดยกำหนดเป็นนโยบายและเห็นความจำเป็นที่และเป็นสิ่งที่ถูกต้องที่จะต้องทำ

          “ภาคเอกชนนับว่ามีสำคัญที่สุดไม่ว่าของไทยหรือของต่างประเทศเราต้องทำงานร่วมกันหมด รัฐบาลเอกชน ภาคประชาสังคม ซึ่งภาคเอกชนของสหรัฐก็มีความก้าวหน้าในแง่แนวความคิด และไม่ได้ยอมรับอะไรง่ายๆ ไม่เชื่ออะไรง่ายๆ ดังนั้น วันนี้ที่มาพูดอธิบายให้เค้าฟัง เมื่อเค้าซักถามถึงจุดหนึ่งก็รู้ว่าเราจริงใจและตรงไปตรงมา เราไม่ได้บอกว่าทุกอย่างดีหมด  ทุกอย่างสมบูรณ์แบบไปหมด แต่เรากำลังบอกว่าเราทำอะไร และได้ผลดี มีความก้าวหน้าอย่างยิ่งในรอบ 3 ที่ผ่านมา ” นายวีระชัย กล่าว

       เอกอัครราชทูตไทยประจำสหรัฐอเมริกา กล่าวอีกว่า ภาคเอกชนรายใหญ่ของสหรัฐ คือ วออลล์มาร์ทมองว่าไทยมีความก้าวหน้าเป็นผู้นำ โดยเฉพาะในเรื่องแรงงาน เค้าก็เลยมาคุยว่าอยากร่วมมือกับเราเพิ่มเติมว่าในการไปจัดซื้อเพื่อนำเข้าสินค้าประมง อยากให้ไทยไปร่วมมือกับเค้าไปดูว่าประเทศข้างเคียงให้ขจัดปัญหาแบบที่ไทยทำ โดยเฉพาะปัญหาแรงงานที่สหรัฐฯให้ความสำคัญ จึงถือว่าครั้งเป็นการยอมรับบทบาทของไทยที่ชัดเจน

          ด้านนายอดิศร พร้อมเทพ อธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า ได้ชี้แจงถึงความก้าวหน้าการแก้ไขปัญหาประมงไอยูยูว่า ขณะนี้ถือว่าการจัดระบบต่างๆ เสร็จแล้ว 100% มีระบบติดตามเรือวีเอ็มเอส มีศูนย์เฝ้าระวังซึ่งติดต่อประสานงานได้ทั้งหมด มีระบบตรวจสอบย้อนกลับทั้งปลาภายในประเทศ และปลาจากต่างประเทศ หรือการออกกฎหมายต่างๆ ไปได้เกือบ 100% แต่การดำเนินการยังเพิ่งเริ่มต้น ความเช้าใจของชาวประมงและผู้ประกอบการทั้งหลายเพิ่งเริ่มต้น ที่ต้องเร่งดำเนินการปรับปรุงพัฒนาต่อไป

        อย่างไรก็ตาม ในระยะเวลา 3 ปีในด้านประมงทั่วโลกต้องถือว่าเราก้าวกระโดดอย่างไกลมาก บางประเทศใช้เวลาเป็นสิบปีกว่าจะถึงจุดนี้ได้ แต่ไทยต้องไปต่อเพราะการบริหารความยั่งยืนมีส่วนที่เกี่ยวข้องหลายด้านมาก ขณะเดียวกัน วันนี้ประเทศไทยก็มีนโยบายใหม่ออกมาจากคณะกรรมการประมงแห่งชาติที่จะมุ่งเป้าหมายให้ไทยเป็นไอยูยูฟรี คือ สัตว์น้ำที่จับในประเทศจะไม่มีการทำประมงผิดกฎหมาย สัตว์น้ำที่นำเข้าก็จะไม่มีมาจากการทำประมงผิดกฎหมาย และสัตว์น้ำที่ส่งออกก็จะไม่มีการทำประมงที่ผิดกฎหมาย

          นี่คือสิ่งที่เป็นความตั้งใจและนโยบายใหม่รัฐบาลกำลังเริ่มต้นและบรรลุวัตถุประสงค์ได้ แต่ทั้งหมดก็ต้องอาศัยเวลา เราทำมาอย่างรวดเร็วก็มีผลกระทบต่อชาวประมง ผู้ประกอบการ ผู้ส่งออก ก็จะต้องมีความร่วมมือและช่วยกันทำต่อไป เรายังทำไม่สำเร็จทีจะบอกว่าประมงไทยยั่งยืนแล้ว เรื่องทรัพยากรก็ต้องใช้เวลา แต่เราก็มาในเส้นทางที่ถูกต้องและจะเดินต่อไป เป็นความมุ่งมั่นของรัฐบาล และวันนี้ชาวประมง ผู้ประกอบการก็ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี และทรัพยากรสัตว์น้ำก็เริ่มมีมากขึ้น เพื่อไปถึงเป้าหมายของการปฏิรูปการประมง เพื่อความมั่นคงของทรัพยากร อาชีพประมง อุตสาหกรรม ที่คือความตั้งใจสูงสุดของรัฐบาล 

[adrotate banner=”3″]

          ขณะที่ พล.ต.ท. จารุวัฒน์  ไวศยะ  ประธานคณะอนุกรรมการกฎหมายและการดำเนินคดี ศปมผ. เปิดเผยว่าได้ชี้แจงถึงผลการบังคับใช้กฎหมายของไทย ทั้งตามพระราชกำหนดการประมง 2558 ดำเนินการจับกุมกว่า4,000 คดี การค้ามนุษย์ตาม พรบ.ป้องกันปราบปรามการค้ามนุษย์ 80 กว่าคดี ซึ่งเราเร่งมือฝึกอบรมคน สอนคนวิธีการรวบรวมคดีค้ามนุษย์ซึ่งได้ผลเป็นอย่างดีพอสมควร ถืงแม้ว่าคดียังไม่มากเราก็ชี้แจงเค้าทราบว่าคดีค้ามนุษย์ที่มีอัตราโทษรุนแรง

           ในส่วนของแรงงานของกระทรวงแรงงานเราก็เริ่มจัดระเบียบในเรื่องของแรงงานเพื่อนบ้านที่เข้ามาทำงานในประเทศไทย ให้แรงงานทุกอย่างขึ้นมาบนดิน หรือมีความถูกต้อง เพื่อนำไปสู่กระบวนใช้แรงงานที่ถูกกฎหมายมากขึ้น  ไม่เอาเปรียบแรงงาน ทำให้ระบบที่มันเคยอยู่ใต้ดินหมดไป โดยได้เน้นย้ำว่าไทยสถานจริงจังในการบังคับใช้กฎหมาย และทำความเข้าใจกับผู้เกี่ยวข้องในทุกภาคส่วนในเรื่องคดีประมง โดยเราจะมีการสัมมนาระหว่างพนักงานสอบสวน อัยการที่ทำสำนวนฟ้อง และผู้พิพากษาซึ่งเป็นองค์คณะตัดสินคดีประมง เพื่อให้มีความเข้าใจในปัญหาของประมงให้ไปในทิศทางเดียวกัน ระหว่างวันที่ 16 – 18 มีนาคมนี้ ณ จังหวัดชลบุรี เพื่อให้ประสิทธิภาพการบังคับใช้กฎหมายเราดียิ่งขึ้น

          ส่วนนายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ นายกสมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย เปิดเผยว่า ภาคเอกชนพร้อมให้ความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาไอยูยูและปัญหาแรงงานกับรัฐบาลที่ถือว่าเป็นรัฐบาลที่แก้ไขปัญหาอย่างเต็มที่ที่สุด ซึ่งทั้ง 3 สมาคม ได้แก่ สมาคมแช่เหยือกแข็งไทย สมาคมทูน่าไทย สมาคมอาหารสำเร็จในรูป ที่เป็นสมาคมในการส่งออกสินค้าประมงหลัก ยอดส่งออกสินค้าประมงประมาณ 3 แสนล้านบาท

         ดังนั้น ต้องมีความร่วมมือกับทางภาครัฐ ไม่ใช่แค่กรมประมง กระทรวงเกษตรฯ แต่ปัญหาค้ามนุษย์หรือไอยูยูเกี่ยวพันกับหลายกระทรวง แม้ปัจจุบันปัญหาดังกล่าวจะยังไม่มีผลกระทบกับการส่งออกสินค้าประมง และเชื่อมั่นว่าลูกค้าสหรัฐอเมริกา ยุโรป มีความเชื่อมั่นสินค้าประมงไทย เพราะรัฐบาลมุ่งดำเนินการแก้ปัญหาเพื่อให้มีการทำประมงอย่างยั่งยืนคือสิ่งที่ถูกต้อง ขจัดปัญหาการค้ามนุษย์คือสิ่งที่ถูกต้อง แต่อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ภาคเอกชนอยากฝากรัฐบาลคือ การเพิ่มปริมาณวัตถุดิบประมงให้มากขึ้นโดยหันมาส่งเสริมการประมงเพาะเลี้ยงมากขึ้น สร้างความร่วมมือนานาชาติในการทำประนอกน่านน้ำ และสนับสนุนเงินกู้ยืมให้ภาคเอกชนปรับปรุงเรือให้สอดคล้องกับระเบียบโลกให้สามารถออกไปทำการประมงได้