“ลักษณ์” ย้ำก.เกษตรฯ-ส.ประมงฯต้องจับมือแก้ทุกปัญหา
“ลักษณ์” ย้ำหนักแน่นกระทรวงเกษตรฯ จะร่วมกับสมาคมการประมงแห่งประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง เน้นให้เกิดความร่วมมืออย่างมีเอกภาพทั้งภาครัฐ ภาคชาวประมง ภาคแรงงาน เพื่อแก้ทุกปัญหาการประมงของไทยมีความยั่งยืน ชี้ภาคประมงมีความต่อเศรษฐกิจของประเทศ สามารถส่งออกได้ปีละกว่า แสนล้านบาท
นายลักษณ์ วจนานวัช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเปิดการประชุมใหญ่สามัญ ประจำปี พ.ศ. 2561 ของสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย ณ โรงแรมเซ็นทรัลเพลส ต.มหาชัย อ.เมือง จ.สมุทรสาคร ว่า ปัจจุบันประชากรโลกเพิ่มขึ้นอย่างมาก จากที่ในปี 2530 มีประชากรไม่ถึง 5 พันล้านคน เพิ่มขึ้นเป็นกว่า 7 พันล้านคนในปี 2560 คาดการณ์ว่าประชากรจะเพิ่มขึ้นอีกเป็นกว่า 9 พันล้านคนในปี 2590
ดังนั้นความมั่นคงทางอาหาร จึงเป็นประเด็นสำคัญที่กำลังท้าทายมนุษยชาติ และจะทวีความเข้มข้นยิ่งขึ้น สวนทางกับจำนวนทรัพยากรที่นับวันจะลดน้อยลง ด้วยเหตุนี้ การประมงจึงได้รับการยอมรับว่ามีความสำคัญที่มีส่วนส่งเสริมให้เกิดความมั่นคงทางอาหารแก่มนุษย์ทั่วทั้งโลก องค์การสหประชาชาติจึงประกาศให้การประมงเป็นส่วนหนึ่งของวาระของการพัฒนาอย่างยั่งยืน
ในส่วนของประเทศไทยก็เล็งเห็นถึงความสำคัญในเรื่องดังกล่าว สมาคมการประมงแห่งประเทศไทยจึงได้มีการจัดการประชุมใหญ่สามัญขึ้นเป็นประจำทุกปี ซึ่งปัจจุบันมีสมาชิกทั้งหมด 57 องค์กร ประกอบด้วย สมาคมประมง สหกรณ์การประมง กลุ่มเกษตรกรประมง อีกทั้งยังมีสมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย สมาคมการประมงนอกน่านน้ำไทย และสมาคมผู้ผลิตปลาป่นไทย เป็นสมาชิกด้วย และมีการดำเนินกิจกรรมต่อเนื่องมาตลอด เพื่อร่วมกันหาแนวทางแก้ไขปัญหาให้กับพี่น้องชาวประมง และประสานงานกับรัฐบาลในเรื่องไอยูยูอย่างเข้มแข็ง
นายลักษณ์ กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมาการประมงของประเทศไทยได้มีการผลิตและส่งออกผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ จนทำให้กลายเป็นประเทศผู้ผลิตประมง อันดับที่ 15 ของโลก ส่งออกสินค้าประมง อันดับที่ 4 ของโลก สามารถนำรายได้เข้าประเทศในปี 2559 มากถึง 111,343 ล้านบาท/ปี หรือราว 10% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศภาคการเกษตร คือ 1,199,426 ล้านบาท หากรวมถึงอุตสาหกรรมต่อเนื่องจากการประมง ซึ่งถูกนับอยู่ในภาคโรงงานอุตสาหกรรมการผลิตทั้งหมดด้วยแล้ว การประมงทั้งระบบตั้งแต่เรือจับ ล้ง โรงงานแปรรูป ถึงผู้ส่งออกสินค้า ก่อให้เกิดการจ้างงานภายในประเทศ ทั้งทางตรงและทางอ้อม อีกมากกว่า 1 ล้านคน
อย่างไรก็ตาม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้เร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย (ไอยูยู) เพื่อให้การทำประมงของไทยเกิดความมั่นคงอย่างยั่งยืน ซึ่งปัจจุบันได้มีการปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องมาอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งยังมีการจัดการกองเรือประมง การติดตามเฝ้าระวัง การตรวจสอบย้อนกลับ การบังคับใช้กฎหมาย รวมถึงการให้ความสำคัญในด้านแรงงานอีกด้วย
“ กระทรวงเกษตรฯ จะร่วมหารือกับสมาคมการประมงแห่งประเทศไทยอย่างสมำเสมอ เพื่อให้เกิดความร่วมมือกันในการดำเนินอย่างมีเอกภาพทั้งภาครัฐ ภาคชาวประมง ภาคแรงงาน โดยจะนำทุกปัญหาทุกอุปสรรคมาระดมความคิดเห็น และร่วมกันหาแนวทางแก้ไข ซึ่งจะทำให้การประมงของไทยมีความยั่งยืน และสามารถสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจให้กับประเทศต่อไป” นายลักษณ์ กล่าว
[adrotate banner=”3″]
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรฯกล่าวต่อไปว่า ขอเน้นย้ำในการขอความร่วมมือจากพี่น้องชาวประมงในเรื่องการสร้างความรู้ความเข้าใจในการกรอกข้อมูลใน LOGBOOK ของไต๋เรือ ที่จะเป็นประโยชน์ในการใช้งานทางวิทยาศาสตร์และการตรวจสอบย้อนกลับ และเป็นเครื่องยืนยันพฤติกรรมของเรือได้ อีกทั้งการให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการรวมตัวของแรงงานและการคุ้มครองแรงงาน รวมถึงการติดตามเรือ 103 ลำ ซึ่งขอให้สมาคมทุกแห่งสนับสนุนการทำงานของกรมเจ้าท่าด้วย