“จิตรลดา 3” และ “จิตรลดา 4” ปลานิลพระราชทานสู่สัตว์เศรษฐกิจหมื่นล้าน

  •  
  •  
  •  
  •  

ปัจจุบันการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำได้ทวีความสำคัญมากยิ่งขึ้น เพราะไม่เพียงเป็นแหล่งอาหารโปรตีนจากเนื้อสัตว์ที่ราคาย่อมเยา หากยังสามารถเพาะเลี้ยงเป็นสัตว์เศรษฐกิจที่สร้างรายได้ ดังเช่น ปลานิลที่กรมประมงได้ทำการคัดเลือกและปรับปรุงพันธุ์ และตั้งชื่อพันธุ์ว่า “จิตรลดา 3” และ “จิตรลดา 4”

ปลานิล มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Oreochromis niloticus (Linn.) โดยที่มาของชื่อชนิด niloticus นี้ มาจากคำว่า Nile หรือ แม่น้ำไนล์ ซึ่งเป็นถิ่นกำเนิดของปลาชนิดนี้ ปลานิลถูกนำเข้ามาในประเทศไทยครั้งแรกโดยสมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งพระอิสริยยศ มกุฎราชกุมารแห่งประเทศญี่ปุ่น ได้ทรงจัดส่งมาทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เมื่อวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2508 และต่อมาในวันที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2509 ได้พระราชทานชื่อปลาชนิดนี้เป็นภาษาไทยว่า “ปลานิล” ซึ่งมีความหมายว่ามีสีดำ หรือ สีนิล โดยออกเสียง nil ตามพยางค์ต้นของชื่อชนิด niloticus นั่นเอง  ในระยะแรกพระองค์ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ปล่อยปลานิลลงเลี้ยงในบ่อภายในบริเวณพระตำหนักจิตรลดา

เพื่อทรงทดลองเลี้ยงและให้กรมประมงจัดส่งเจ้าหน้าที่วิชาการมาตรวจสอบการเจริญเติบโต และศึกษาด้านชีววิทยาของปลานิลเป็นประจำ จนเมื่อทรงเห็นว่าสามารถเลี้ยงได้ผลดี ก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ขยายพันธุ์เพื่อนำไปแจกจ่ายให้ราษฎรเลี้ยงต่อไป

นายอดิศร พร้อมเทพ อธิบดีกรมประมง เคยเล่าว่า  ด้วยพระวิสัยทัศน์กว้างไกลของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่ต้องการให้ประชาชนชาวไทยมีการกินดีอยู่ดี มีแหล่งอาหารโปรตีนราคาถูกไว้รับประทาน โดยเมื่อวันที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2509 พระองค์ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานลูกพันธุ์ปลานิลความยาว 3 – 5 เซนติเมตร จำนวน 10,000 ตัว ให้แก่กรมประมง เพื่อนำไปขยายพันธุ์ที่แผนกทดลองและเพาะเลี้ยง ในบริเวณเกษตรกลาง บางเขน กรุงเทพฯ และสถานีประมงต่างๆ ทั่วประเทศ เพื่อทำการขยายพันธุ์และแจกจ่ายให้กับราษฎรผู้สนใจนำไปเลี้ยง

ในเวลาต่อมาได้เป็นที่รู้จักแพร่หลายทั่วโลกในนาม “Chitralada tilapia” หรือ “ปลานิลจิตรลดา” ที่คนไทยรู้จักนั่นเอง  ต่อมากรมประมงโดยกองวิจัยและพัฒนาและพันธุกรรมสัตว์น้ำได้ดำเนินการปรับปรุงพันธุ์ปลานิล โดยเริ่มต้นจากสายพันธุ์จิตรลดาในระยะแรก และได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง จนปัจจุบันได้ปลานิลพันธุ์ปรับปรุงที่มีลักษณะดีเป็นที่ต้องการของเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเป็นอย่างมาก

ผู้เขียน ดล  เบ็ญอาหวัง