โปรดใช้ดุลพินิจ!!อย่ามองข้ามโทษของกัญชา

  •  
  •  
  •  
  •  

อาหมัด เบ็ญอาหวัง

         พลันที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติปลดล็อก “พืชกัญชา”  ออกจากยาเสพติดให้โทษประเภท 5 และสามารถใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ได้ ตั้งเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2561 ทำให้คนไทยตื่นตัว ส่วนหนึ่งเกิดอาการอยากปลูกกันชา เพราะเห็นตัวเลขของรายได้นั้นถือว่าค่อนข้างจะดีเสียทีเดียว อีกส่วนถึงมองถึงการเข้าถึงยารักษาโรคร้ายด้วยน้ำมันกัญชา โดยเฉพาะโรคมะเร็งที่มีการกล่าวอ้างถึงสรรพคุณว่า น้ำมันกัญชารักษาโรคมะเร็งได้ รวมถึง รักษาภาวะเกร็งในโรคทางระบบประสาท รักษาโรคลมชัก รักษาพากิสัน (Parkinson) บางอาการ  เพิ่มน้ำหนักในผู้ป่วยโรคเอดส์ รักษาโรควิตกกังวล เป็นต้น

            ทว่า…ในความเป็นจริงนั้น คนไทยเราส่วนใหญ่ยังไม่ทราบแน่ชัดว่า กัญชาที่คุณสมบัติดังกล่าว จะเป็นสายพันธุ์อะไร เพราะกัญชาในโลกใบนี้มีมากมายหลายสายพันธุ์นักนัก แม้แต่กัญชาของไทยเราเองก็มีหลายสายพันธุ์ ซึ่งที่บอกว่า ว่ากัญชาไทยที่ดีที่สุดคือสายพันธุ์หางกระรอกนั้น ส่วนใหญ่จะเป็นการเชยชมของนักเสพกัญชาเสียมากกว่า

           ก็เป็นเรื่องที่ดี ที่คณะนวัตกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยรังสิต ได้มีศึกษาพืชกัญชา ทั้งเอกสารต่างประเทศ และในประเทศ ทุกมิติ ทั้งสายพันธุ์ ขั้นตอนการปลูก ดูแล รวมทั้งสรรพคุณด้านการแพทย์ จนในที่สุดคณะนวัตกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยรังสิต ได้จัดโครงการเปิดสอนวิชากัญชาศาสตร์ ทั้งนี้เพื่อผลิตบุคลากรที่มีคุณภาพสู่สังคมป้อนตลาดอาชีพในประเทศและต่างประเทศ โดยหลักสูตรที่เปิดสอนนั้นมีตั้งแต่อาชีพปลูกกัญชาทางการแพทย์อย่างไร ให้สารออกฤทธิ์ทุกครั้ง และปลูกอย่างไร ให้ดอกกัญชามีสีสวย รวมทั้งผลิตภัณฑ์พันธุ์กัญชาตัวเมียอย่างไร   เพื่อผลิตบุคลากรให้ได้คุณภาพสู่สังคมต่อไป โดยหลักสูตรการสอนเหล่านี้ จะรับนักศึกษาใหม่ที่มีคุณสมบัติสำเร็จกาศึกษาระดับ ม.6 หรือเทียบเท่าทั้งสายวิทย์-คณิต-สายศิลป์และ ปวช. เกรดเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 2 ขึ้นไป

       ถ้าย้อนในอดีตการใช้กัญชาเริ่มตั้งแต่ศตวรรษที่19 ในอังกฤษและอเมริกาเพื่อรักษาอาการปวดและอาการคลื่นไส้ กระทั่งปี 1851 กัญชาได้รับบรรจุอยู่ในตำรายาของอเมริกา แต่ต่อมาในปี 1942 ได้ถูกถอดถอนออกไป จนปี 1990 ทางการแพทย์มีการค้นพบ Canabinoid system(ระบบสารสกัดกัญชา)ในสมอง และเป็นที่มาของการสนใจนำกัญชามาใช้ในทางการแพทย์ ปี 2010 มี 11 รัฐในอเมริกามีการออกกฎหมายควบคุมการใช้กัญชาในทางการแพทย์ แต่ไม่รับรองการใช้กัญชาเพื่อความเพลิดเพลิน(recreational use)จนปี 2014 มี 23 รัฐออกกฎหมายควบคุมการใช้กัญชาในทางการแพทย์ และมี 5 รัฐอนุญาตให้ใช้กัญชาเพื่อความเพลิดเพลิน ได้แก่รัฐอลัสก้า โคโลราโด้ โอริกอน วอร์ชิงตัน และโคลัมเบีย

       มีบทความหนึ่งที่ส่งต่อกันมาเข้าว่าต้องการให้คนเรารู้ถึงกัญชาอย่างแท้จริงมีการระบุว่ามาจากรวบรวมมาจากการประชุมราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย วันที่ 26 เมษายน 2562 ผู้นำเสนอเรื่องนี้คือรศ.พญ.สุดา วรรณประสาท มหาวิทยาลัยขอนแก่น,ผศ.นพ.วรพันธ์ เกรียงสุนทร ศิริราชพยาบาล,และผศ.นพ.สหภูมิ ศรีสุมะ โรงพยาบาลรามาธิบดี เห็นแล้วน่าสนใจ จะขออนุญาติคัดเอาเฉพาะบางตอนในส่วนที่ดีและโทนษของพืชกัญชา

        บทความนี้ระบุว่า ในกัญชานั้นมีสารเคมีมากกว่า 104 ชนิด(สารเคมีเหล่านี้เรียกรวมกันว่าสาร Cannabinoids แต่ที่สำคัญที่สุดมีอยู่ 2 ชนิดคือ THC กับ CBD สาร 2 ชนิดนี้มีฤทธิ์แตกต่างกันชัดเจน กล่าวคือ THC ออกฤทธิ์กระตุ้นระบบประสาท(Psychoactive) ทำให้เมาเคลิ้ม ประสาทหลอน และเกิดโรคจิต(Psychosis) ส่วนสาร CBD มีฤทธิ์ทำให้สงบ ลดอาการวุ่นวาย และต้านฤทธิ์เมาประสาทหลอน

        ดังนั้นในการนำกัญชามาใช้นั้นจะต้องทราบจุดประสงค์ที่แน่นอน และควรทราบปริมาณที่แน่นอนของสารทั้งสองชนิดในสารสกัดกัญชานั้น ควรทราบว่าสารทั้งสองชนิดนี้มีฤทธิ์อย่างไร จะใช้ในทางการแพทย์ หรือว่า จะใช้เพื่อความเพลิดเพลิน ซึ่งในต่างประเทศนั้นที่ได้รับอนุญาตให้ใช้เพื่อความเพลิดเพลินจะกำหนดให้มีปริมาณของสาร THC ต่ำมากๆและแม้กระนั้นก็ยังมีการควบคุมการใช้อย่างเคร่งครัด ขณะที่ประเทสไทยยังถือว่าผิกฏหมาย

       สารทั้งสองชนิดที่มีอยู่ในกัญชานั้น จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อได้รับความร้อน ดังนั้นจึงต้องนำมาสูบให้เข้าทางลมหายใจ หรือหากมีการสังเคราะห์เป็นของเหลวแบบเข้มข้นก็นำมาหยดไต้ลิ้นซึ่งจะมีการดูดซึมได้เร็วพอๆกับการสูบ แต่การกินเข้าไปจะไม่ได้ผลเพราะจะถูกทำลายโดยกรดในกระเพาะอาหารเกือบหมด

        สำหรับการ ใช้ในทางการแพทย์นั้นมีการรับรองการใช้(ในต่างประเทศ)ดังต่อไปนี้ 1.รักษาภาวะเกร็งในโรคทางระบบประสาท Multiple Sclerosis ,2.รักษาโรคลมชัก(Epilepsy)ชนิดรุนแรงบางชนิด,3.รักษาโรค Parkinson(บางอาการ),4.รักษาโรค Alzheimer(ยังต้องศึกษาเพิ่มเติม),5.แก้อาเจียนในผู้ป่วยที่ได้รับเคมีบำบัด(ที่ให้ยาชนิดอื่นแล้วไม่ได้ผล),6.แก้ปวดจากมะเร็ง ปวดปลายประสาท ปวดเรื่อรัง,7.ใช้รักษามะเร็งสมอง มะเร็งต่อมลูกหมาก(ยังต้องการการศึกษาเพิ่มเติม),8.ใช้เพิ่มน้ำหนักในผู้ป่วยโรคเอดส์(ช่วยให้ความอยากอาหารเพิ่มมากขึ้น),9.ใช้รักษาต้อหิน(ยังไม่ยืนยันผล),10.ใช้รักษาโรค Post traumatic stress syndrome, และ11.ใช้รักษาโรควิตกกังวล แต่ข้อบ่งชี้ทั้งหมดทั้งมวลนี้ยังต้องการการศึกษายืนยันอีกมาก และในแต่ละโรคนี้บางโรคเป็นผลของ THC บางโรคเป็นผลของ CBD จึงไม่สามารถนำกัญชามาใช้อย่างสุ่มสี่สุ่มห้าโดยไม่ทราบสัดส่วนและปริมาณของสารทั้งสองชนิดอย่างชัดเจน

       อย่างไรก็ตามการใช้กัญชาหรือสารสกัดจากกัญชาใช่ว่าจะมีแต่ข้อดีก็หาไม่ จากการศึกษาพบว่ามีผลเสียดังต่อไปนี้1.เพิ่มการเกิดโรคทางจิต 3.9 เท่า,2.พบการฆ่าตัวตายเพิ่มชึ้น 2.5 เท่า,3.ทำให้ติดกัญชา 10%(ต้องเพิ่มปริมาณการใช้ชึ้นเรื่อยๆ)(อยู่ในวัยเรียน 17%),4.ทำให้สมองฝ่อ,5.มีปัญหาการเรียนรู้ สมาธิ และความจำ,6.สัมพันธ์กับการเกิดภาวะถุงลมโป่งพอง,7.สัมพันธ์กับภาวะเส้นเลือดสมองตีบ,8.สัมพันธ์กับภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะล9.สัมพันธ์กับมะเร็งอัณฑะ,10.เพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะหัวใจขาดเลือด,และ11.พบอุบัติการณ์การเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนที่สัมพันธ์กับการใช้กัญชาสูงขึ้น

     ผลอย่างเฉียบพลันของกัญชานั้น อาจทำให้อารมณ์ครื้นเครงขึ้นแต่จะตามด้วยอาการง่วงซึมหากใช้ปริมาณมากจะทำให้ความจำลดลง และเพิ่มความวิตกกังวล ประสาทหลอนทางตาหวาดระแวง(paranoid) และเกิด panic attack

      ขณะเดียวกันหากใช้ในคนตั้งครรภ์ก็จะทำให้เสี่ยงต่อการพัฒนาการของเด็กในครรภ์ ทำให้การสร้างน้ำนมแม่ลดลง และสารกัญชาจะเข้าไปในน้ำนมด้วย ดังนั้นจึงไม่ควรใช้ในคนท้องและให้นมบุตร ส่วนการใช้ในเด็กจะนำไปสู่การติดสารเสพติดชนิดอื่นมากขึ้นเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่

       ทั้งหมดนี้เป็นการให้นิยามข้อดีข้อเสียจากคณะผู้รวบรวมที่มาจากการประชุมราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย วันที่ 26 เมษายน 2562 ที่ผ่านมา จึงขออนุญาตนำเผยแพร่ เพื่อให้ทราบว่า อย่าตื่นกับสรรพคุณของพืชกัญชาด้านดีด้านเดียวเสียทั้งหมด ต้องใช้ดุลพินิจ และควรมองผลทระทบอย่างอื่นด้วย!