จับตายางเถื่อนของคนไทย จะทะลักเข้าไทยอีก!!

  •  
  •  
  •  
  •  

โดย…ดลมนัส กาเจ

ช่วงนี้เข้าสู่ฤดูกาลกรีดยางพารากันแล้ว หลังจากเกษตรกรหยุดพักไปช่วงต้นยางพาราผลัดใบไปตั้งแต่เดือนมีนาคม และเริ่มทยอยกรีดใหม่ช่วงต้นเดือนพฤษภาคมของทุกปี แม้ว่าช่วงนี่ราคายางพาราอาจลดลงไปบ้าง คือยางร่มตะวันชั้น 3 จากที่เคยสูงสุดของปีนี้ กก.ละ 90 บาทในช่วงต้นเดือนเมษายน 2567 เหลืออยู่ กก.ละ 76 บาท ราคาน้ำยางสดที่ กก.ละ  73 บาทถือว่ายังสูงอยู่และชาวสวนยางพออยู่ได้

การที่ราคายางพาราสูงขึ้น แม้ว่าจะเป็นไปตามกลไกของตลาดโลก โดยเฉพาะการขยายตัวอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ไฟไหม้สต๊อกเก็บยางของจีนช่วงปลายปี การลดลงพื้นที่ปลูกของประเทศมาเลเซีย และอินโดนีเซีย  แต่การที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้บูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งกรมศุลกากร กระทรวงการคลัง รวมถึงฝ่ายความมั่นคงร่วมกันสกัดการนำเข้ายางพาราเถื่อนมาจากประเทศเพื่อบ้าน ไม่ว่าจะเป็นที่ด่านสังขละ อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี และอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก รวมถึงเขตอื่น ๆ ที่อาจมีการนำเข้ายางพาราเถื่อนอย่างเข้มงวดก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ราคายางขยับขึ้นได้เหมือนกัน

ที่จริงยางเถื่อนที่ลักลอบเข้ามาจากเมียนมา หรือพม่า เป็นยางพม่าหรือ? ก็ไม่น่าจะใช่ น่าเป็นเพียงแค่มาจากฝั่งพม่าเฉยๆ ส่วนเจ้าของยางนั้นอาจเป็นของคนไทย  เท่ากับการสกัดกั้นเป็นเพียงแก้ปัญหาปลายเหตุ แต่ต้นเหตุจริงๆ หรือตัวการจริงๆที่นำย่างเถื่อนจากพม่านั้นคือนายทุนคนไทยที่ไปปลูกยางพาราในประเทศเมียนมา เพื่อต้องการลดต้นทุน ทั้งค่าเช่าที่ดิน ค่าแรง หวังโกยกำไรเยอะๆตามสไตล์นายทุนทั่วไปนั่นแหละ

ยังจำได้เมื่อปี 2554 สมัยที่คุณนิตย์ อุ่ยเต็กเค่ง เป็นประธานหอการค้าจังหวัดระนอง เคยบอกว่า ตัวเองพร้อมด้วยภาคเอกชนทางด้านจังหวัดระนอง ได้เดินทางเข้าไปยังประเทศเมียนมาหรือพม่า เพื่อดูสภาพพื้นที่ ภายหลังจากรัฐบาลพม่าประกาศให้สัมปทานระยะยาวในการปลูกพืชด้านการเกษตรโดยเฉพาะปาล์มน้ำมันและยางพาราในย่านเขตตะนาวศรี  ฝั่งทางด้าน จ.ระนอง ซึ่งโดยสภาพพื้นที่มีความน่าสนใจมาก เพราะมีสภาพภูมิศาสตร์ ทำเลที่เหมาะแก่การปลูกปาล์ม หรือยางพารา ซึ่งมีเอกชนไทยให้ความสนใจที่จะเข้าไปเช่าใช้พื้นที่ดังกล่าว

ทั้งนี้ก่อนหน้านั้นคุณนิตย์ บอกว่า เอกชนไทยยังไม่กล้าเข้าไปเนื่องจากหวั่นเกรงเรื่องนโยบายของรัฐบาลทหารพม่าที่มีการเปลี่ยนแปลงบ่อยครั้ง การเข้าไปลงทุนมากๆ โดยไม่มีหลักประกันถือเป็นการเสี่ยงเกินไป แต่จากการที่กลุ่มทุนต่างชาติรายอื่น ประสบความสำเร็จจากการเข้าไปใช้พื้นที่อย่างกลุ่มทุนจากมาเลเซียที่นำร่องแล้วตอนนั้นนับแสนๆไร่

ทำให้ภาคเอกชนไทยต่างให้ความสนใจเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะการหาพื้นที่ปลูกพืชเกษตรอย่างปาล์มน้ำมันและยางพารา และแน่นอนพื้นที่ในย่านเขตตะนาวศรี  ฝั่งทางด้านจังหวัดระนองต้องเชื่อมโยงไปทางจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ลามถึงเขตเชื่อมของกาญจนบุรี และกว่า 10 ปีที่ผ่านมาอาจขยายไปถึงภาคเหนือย่างตรงกันข้ามกับอำเภอแม่สอด จังหวัดตากด้วย

อันนี้ที่เคยจับมา แต่กระนั้นเชื่อว่ายางพาราทั้งของคนไทยหรือของมาเลเซียที่ปลูกในย่านเขตตะนาวศรี  ฝั่งทางด้าน จ.ระนองนั้นเชื่ออาจจะมีการลักลอบเข้ามาเช่นกันผ่าน จ.เกาะสองของพม่า อาจมาทางเรือหรือทางบกก็ได้

ต้องขึ้นบัญชีดำนายทุนที่ไปปลูกยางพาราในเมียนมา จับตาควบคุมการเคลื่อนไหว อย่าให้ผลผลิตยางพาราเข้ามาฝั่งไทยน่าจะแก้ปัญหาที่ยั่งยืนกว่า เพราะต่อไปปาล์มน้ำมันเถื่อนก็จะทะลักเข้ามา รวมถึงอาจเป็นทุเรียนด้วย!!