ดลมนัส กาเจ
ปลูกต้นทับทิมอินเดียพันธุ์ “บางวา” ลงในกระถางหน้าบ้านที่ร่มเกล้า ลาดกระบัง กรุงเทพฯ สังเกตมีกิ่งหนึ่งใบเฉา สงสัยเลยคุ้ยดินขึ้นมาดูว่า มีอะไรที่ผิดปกติหรือไม่ ซึ่งอาจมีเชื้อรา หรือรากเน่า พอขุดไปนิดเดียวเจอเจ้าวานร้าย “หนอนทราย” ซึ่งสมัยเด็กคุ้นเคยกันบ่อยในสวนยางพารา และในสวนมะพร้าวเป็นตัวอ่อนของแมลงปีกแข็ง หรือด้วงปีกแข็งที่ชาวบ้านเรียกว่าด้วยขึ้นควาย แต่พอมาอยู่ในเมืองมากว่า 40 ปีแล้วก็ไม่เคยเห็นแล้ว แม่ไปทำสวนแถวๆ จ.อ่างทอง ก็ไม่เห็น เพิ่งได้เห็นในกระถางปลูกทับทิมอินเดียรอบนี้แหละ (ดูในคลิป)
ตามข้อมูลของกรมวิชาการเกษตร ระบุว่า ”หนอนทราย” เป็นตัวอ่อนของแมลงปีกแข็ง หรือด้วงปีกแข็งชนิดหนึ่ง เป็นหนอนที่มีขนาดใหญ่ มีความยางราย 3-5 ซม. ลำตัวอ้วนป้อม ลำตัวสีขาวครีม มีกรามใหญ่และแข็งแรง การเคลื่อนที่ได้ด้วยการยืดและหดของลำตัว ส่วนท้องมีขนและหนาม ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะที่ใช้แยกชนิดของหนอนทราย อยู่ในดินร่วนซุยกินอินทรียวัตถุและรากพืชเป็นอาหาร
วงจรชีวิตตั้งแต่หนอนทรายจรเป็นด้วงปีกแข็ง ขยายพันธุ์ใช้เวลา ประมาณ 1 ปี โดยด้วงตัวเมียจะวางไข่ไว้ในดินราวเดือนมีนาคมถึงเดือนเมษายน หลังจากนี้ 2-3 สัปดาห์ ไข่ก็จะฟักเป็นตัวหนอน เรียกว่า “หนอนทราย” เพราะส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในดินทราย กัดกินรากพืชเป็นอาหาร เมื่อถึงระยะหนึ่งจะขุดรูเข้าดักแด้ จนถึงเดือนมกราคมถึงกุมภาพันธ์ ด้วงจะออกจากดักแด้และอยู่ในดินจนถึงหน้าฝน จึงจะขึ้นจากดินเพื่อหาอาหารและผสมพันธุ์ต่อไป ตัวเมียเมื่อ ผสมพันธุ์เสร็จแล้ว มักจะกลับไปวางไข่ที่บริเวณเดิมอีก
ที่จริงหนอนทราย มีราว 7 ชนิด เป็นศัตรูของต้นยางพารา ปาล์มน้ำมัน ทำความเสียหายให้กับต้นยางตลอดมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งยางอ่อนอายุ 6–12 เดือน ที่ปลูกในดินทรายแถบบริเวณชายป่า ถ้าเห็นต้นยางตายเป็นแถบๆ ก็อาจสันนิษฐานได้ว่า เกิดจากสาเหตุของหนอนทรายกินราก จะมีอาการใบสีเหลือง ร่วง และเกิดอาการตายจากยอดอย่างรวดในยางแก่ที่ถูกทำลาย ถ้าต้นยางไม่ตาย ผลผลิตจะลดลง นอกจากสวนยางพาราแล้ว ปัจจุบันหนอนทรายกำลังสร้างปัญหาให้กับเกษตรการชาวสวนปาล์มน้ำมัน เนื่องจากเจ้าหนอนทราย ได้เข้ามากัดกินรากปาล์มน้ำมันที่มีอายุ 1-4 ปีจนยืนต้นตาย และยังพบในสวนทุเรียนด้วย
อย่างไรก็ตาม สามารถป้องกันกำจัดหนอนทรายได้ โดยการใช้สารเคมีฆ่าแมลงประเภทรมดิน หรือสารเคมีฆ่าแมลงในดินทำลายหนอนทราย เช่น เฮพตาคลอ หรือ ออลดริน เข้มข้น 0.1%(เฮพตาคลอ หรือ ออลดริน 10 กรัม ผสมน้ำ 10 ลิตร) เทราดลงไปในดินตามรูที่ทำขึ้นรอบๆ ต้นยางโดยใช้สารเคมีที่ผสมน้ำเรียบร้อยแล้ว ประมาณ 1 – 2 ลิตรต่อต้น (ขึ้นกับขนาดของต้นยาง) ด้วย