โรงไฟฟ้าชุมชน 700 เมกะวัตต์ เกษตรกรจะได้อะไร จะพ้นความยากจนได้อย่างไร?

  •  
  •  
  •  
  •  

ดลมนัส กาเจ

สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์

       ก่อนหน้านี้ นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พูดชัดเจนถึงโครงการโรงไฟฟ้าชุมชน 700 เมกะวัตต์ว่า จะเปิดให้เอกชนที่สนใจยื่นข้อเสนอโรงไฟฟ้าชุมชน ให้คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.)  พิจารณาได้ ภายในเดือนมกราคม 2563 เนื่องจากได้ผ่านความเห็นชอบเกี่ยวกับเงื่อนไขหลักเกณฑ์การจัดตั้งโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก จากที่ กพช.เป็นที่เรียบร้อยแล้ว เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2562 ที่ผ่านมา และเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2562 อีก 2 วันจากนั้น ทาง กกพ.ได้มีการประชุมยกร่างกฎระเบียบ หรือประกาศการรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าชุมชนแล้ว เพื่อให้เกิดความรวดเร็ว

       ฉะนั้นจึงยืนยันได้ว่า ในปี 2563 จะเปิดรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน ที่เป็นโรงไฟฟ้าชีวมวล  ก๊าซชีวภาพ (น้ำเสีย-ของเสีย)  และ เชื้อเพลิงไฮบริด รวมถึงโรงไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ จากผู้ผลิตรายเล็กมาก (VSPP) ในรูปแบบ FiT จำนวนรวม 700 เมกะวัตต์ (MW) โดยให้ความสำคัญกับโรงไฟฟ้า Quick Win ที่ก่อสร้างแล้วเสร็จ หรือใกล้จะแล้วเสร็จเข้าร่วมโครงการก่อน ซึ่งโครงการจะสามารถจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบภายในปี 2563

       ที่น่าสนใจยิ่ง คือหลักเกรณ์การพิจารณาที่นายสนธิรัตน์ ระบุชัดว่า จะไม่ยึดตรงที่ผู้เสนอขายไฟฟ้าราคาถูกที่สุด  แต่จะพิจารณาเลือกจากค่าไฟที่เหมาะสม และคำนึงถึงผลประโยชน์ของชุมชนที่ได้รับเป็นหลัก ซึ่งจะให้คะแนนถึง 60% และมีหลักเกณฑ์อื่นๆ ที่จะต้องพิจารณาประกอบ อาทิ ที่ตั้งโรงไฟฟ้าจะต้องไม่แย่งวัตถุดิบกัน มีปริมาณเพียงพอกับความต้องการ และทำให้ชีวิตชุมชนดีขึ้น

       ยิ่งถ้าเอกชนที่สนใจโรงไฟฟ้าชุมชนยื่นข้อเสนอบิดดิ้งทำให้ชุมชนพ้นความยากจนได้ มีเศรษฐกิจหมุนเวียนขึ้นมาได้ ก็ได้รับอนุมัติโครงการให้ไปทำ ซึ่งการเปิดยื่นจะทำพร้อมๆ กันทั้งโครงการแบบ Quick win และแบบโครงการทั่วไป รวม 700 เมกะวัตต์ด้วย เพราะความตั้งใจของกระทรวงพลังงานนั้น เบื้องต้นได้กำหนดไว้ว่าภายใน 6 เดือนจะต้องเห็นโรงไฟฟ้าชุมชนแบบ Quick win เกิดขึ้นก่อนเป็นลำดับแรก

        กระนั้นโครงการนี้คนในพื้นที่หรือคนในชุมจำนวนไม่น้อย ที่ยังสับซน มองไม่ออกว่า โครงการนี้คนในชุมชนหรือเกษตรกรจะได้อะไร อย่างไร จากโครงการนี้ ในต่อเมื่อการลงทุนสร้างโรงไฟฟ้าขนาดเล็ก 1-1.5 เมกะวัตต์ ที่ต้องใช้เงินลงทุนถึง 100 ล้านบาท จึงมองว่า สุดท้ายความมั่งมีและรำรวยจะตกอยู่ในกลุ่มนายทุนเหมือนเดิม

       ที่จริงวัตถุประสงค์หลักของโครงการนี้ มีเป้าหมายชัดเจน คือการแก้ปัญหาเศรษฐกิจฐานรากเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนด้วยนโยบายพลังงาน ซึ่งการขับเคลื่อนโรงไฟฟ้าชุมชน ประการแรกที่เห็นๆคือ จะทำให้เกิดเม็ดเงินลงทุนในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจกว่า 7 หมื่นล้านบาท อย่างน้อยในเบื้องต้นก่อให้เกิดการสร้างงาน สร้างอาชีพ และรายได้ให้ชุมชน นอกจากนี้ชุมชนรอบโรงไฟฟ้ายังจะได้รับส่วนลดค่าไฟฟ้าอีกด้วย และคาดว่าโครงการนี้จะทำให้มีเม็ดเงินสะพัดถึง 3-4 แสนล้านบาทในห้วงเวลา 20 ปี ของโครงการนี้

       อีกประการหนึ่ง ถ้ามองลึกลงไปอีก อย่าลืมว่า โครงการนี้เป็นโครงการของรัฐ และรัฐต้องการเพื่อให้ชุมชนมีรายได้ โดยเฉพาะเกษตรกร ฉะนั้นการที่รัฐจะซื้อกระแสไฟฟ้าจากโครงการนี้ อาจมีเงื่อนไขว่า ตลอดระยะเวลา 20 ปีของโครงการ ทางโรงไฟฟ้าต้องซื้อวัตถุดิบมาจากชุมชน  โดยเฉพาะโรงไฟฟ้าชีวมวลที่ต้องใช้พืชพลังงานเป็นวัตถุ ซึ่งบางพื้นที่โดยเฉพาะในภาคเหนือและภาคอีสาน  สามารถนำวัตถุดิบจากวัสดุเหลือใช้จากเกษตรกร ไม่ว่าจะเป็น ฟางข้าว ซังข้าว ซังข้าวโพด ซึ่งเดิมทีเกษตรกรจะเผาทิ้งจนเกิดมลภาวะสามารถนำมาขายได้ และอีกประการหนึ่งสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม คือต่อไปนี้เกษตรกรสามารถปลูกพืชทางเลือกที่มีตลาดอย่างแน่นอนและราคาที่ชัดเจน โดยเฉพาะการหญ้าเนเปียร์ หรือไผ่ที่โรงไฟฟ้าจะนำไปเป็นวัตถุดิบ

     นอกจากนี้ตามโครงการนี้ชุมชนยังจะมีส่วนแบ่งรายได้จากโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงชีวมวล ชีวภาพ ไฟฟ้าจากน้ำเสีย หรือของเสีย รวมถึงก๊าซชีวภาพ ที่ได้จากพืชพลังงานอีกไม่กว่า 25 สตางค์ต่อหน่วย ส่วนโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ไฮบริดจะได้ส่วนแบ่งรายได้ไม่ต่ำกว่า 50 สตางค์ต่อหน่วยส่วนรายละเอียดตรงนี้จะมาขยายความให้ภาพอีกครั้ง ขณะเดียวกันหากชุมชนสนใจจะร่วมทุนก็ได้เช่นกันในนามของวิสาหกิจชุมชนตั้งแต่ 10-40% แต่กลุ่มวิสาหกิจชุมชนต้องมีสมาชิกไม่น้อยกว่า 200 ครัวเรือน และยังมีการแบ่งส่วนแบ่งรายได้ตามหลักเกณฑ์ รวมทั้งต้องมีแผนจัดหาเชื้อเพลิง รับซื้อเชื้อเพลิงราคาประกันกับวิสาหกิจชุมชน แบบคอนแทร็ก ฟาร์มมิ่ง (Contract Farming) ด้วย

            โดกาสหน้าจะพูดถึงพืชเศรษฐกิจใหม่ที่เป็นทางเลือกของเกษตร เพื่อป้อนโครงการโรงไฟฟ้าชุมชน หรือเพื่อเป็นอาหารสัตว์ก็ได้ น่าสนใจมากเพราะมีตลาดที่ชัดเจน คือการปลูกหญ้าเนเปียร์ ครับ!