กรมปศุสัตว์ยุคใหม่ ใช้เทคโนโลยีจีโนม ประเมินค่าทางพันธุกรรมกระบือปลักไทย

  •  
  •  
  •  
  •  

กรมปศุสัตว์ จับมือพันธมิตร เดินหน้าพัฒนาเทคโนโลยีจีโนม ใช้สำหรับเพิ่มความแม่นยำในการประเมินค่าทางพันธุกรรมกระบือปลักไทย ส่งผลต่อการปรับปรุง รักษาพันธุกรรมที่ดี และพัฒนาลักษณะที่ดีของกระบือปลักไทยให้ดียิ่งขึ้น

วันที่ 28 มิถุนายน 2567 นายสัตวแพทย์สมชวน รัตนมังคลานนท์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ แถลงข่าวโครงการวิจัยและพัฒนากระบือด้วยเทคโนโลยีจีโนม (Research and Development of Thai Swamp Buffalo using Genomic) ที่ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. ซึ่งโครงการวิจัยนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มความถูกต้องแม่นยำในการทดสอบดูลักษณะปรากฏของกระบือปลักไทย รวมถึงการปรับปรุงและรักษาพันธุกรรมที่ดีของกระบือปลักไทย

โดยมี นางสาวศิริกร วิวรวงษ์ รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) กล่าวที่มาของโครงการ การวิจัยและพัฒนากระบือด้วยเทคโนโลยีจีโนม หัวหน้าโครงการวิจัยและพัฒนากระบือด้วยเทคโนโลยีจีโนม คณะวิจัยโครงการ จีโนมควายแห่งชาติ เพื่อส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน สาขาวิชาสัตวศาสตร์ และคณะเกษตรศาสตร์มหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมแถลงข่าวฯ ณ ห้องรับรอง ตึกอานวยการ ชั้น 1 กรมปศุสัตว์ แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร

น.สพ.สมชวน รัตนมังคลานนท์ 

นายสัตวแพทย์สมชวน  เปิดเผยว่า กรมปศุสัตว์ได้รับสนับสนุนทุนวิจัย เรื่อง การวิจัยและพัฒนากระบือด้วยเทคโนโลยีจีโนม จากสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. ซึ่งโครงการวิจัยนี้เป็นความร่วมมือกันของหลายหน่วยงาน ได้แก่ กรมปศุสัตว์ ภาควิชาสัตวบาล คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ศูนย์โอมิกส์แห่งชาติ สานักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สาขาสัตวศาสตร์ คณะเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี

อีกทั้งยังบูรณาการร่วมกันกับมหาวิทยาลัยขอนแก่น เพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลด้านพันธุกรรมของกระบือปลักไทย และใช้เทคโนโลยีจีโนมเป็นเครื่องมือในการวิเคราะห์เพิ่มความแม่นยำในการปรับปรุงและรักษาพันธุกรรมที่ดีของกระบือปลักไทย รวมถึงการสร้างเครือข่ายความร่วมมือแลกเปลี่ยนข้อมูลทั้งในและนอกประเทศ

แฟ้มภาพ

สำหรับองค์ความรู้ที่ได้จะใช้ในฝูงกระบือยอดเยี่ยมของกรมปศุสัตว์ และข้อมูลองค์ความรู้ทั้งหมดจะรวบรวมอยู่ที่ศูนย์ข้อมูลกระบือแห่งชาติ (National Buffalo Information Center; NBIC) ที่จะถูกจัดตั้งขึ้น และเมื่อได้กระบือพันธุกรรมดี จะกระจายพันธุกรรมที่ได้จากการคัดเลือกสู่เกษตรกรผู้เลี้ยงกระบือทั่วประเทศ โดยแผนงานในปีถัดไป จะทำการวิเคราะห์ข้อมูลพันธุกรรมกระบือของกรมปศุสัตว์ และฟาร์มเครือข่าย เพื่อทำการคัดเลือกพ่อพันธุ์กระบือปลักชั้นเลิศ ของ กรมปศุสัตว์ จำนวน 10 ตัว เพื่อรีดน้ำเชื้อและประมาณการว่าสามารถรีดน้ำเชื้อได้ 250,000 โด้สต่อปี คิดมูลค่าโดยประมาณโด้สละ 500 บาท รวม 125,000,000 บาท ต่อปี

นอกจากนี้ฐานข้อมูลจีโนมกระบือปลักไทย ยังจะสามารถใช้อ้างอิงในการวิจัย พัฒนาต่อยอดความรู้ในการปรับปรุงพันธุ์ ค้นหาอัตลักษณ์ที่ดีเด่น เช่น ด้านการผลิตเนื้อ การผลิตลูก และในด้านต่างๆที่จะอยู่ในความสนใจของผู้บริโภคในอนาคต และใช้ประโยชน์ในการวิจัยในภูมิภาคใกล้เคียงเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสามารถขยายช่องทางการส่งออกเทคโนโลยี พันธุ์กระบือ และน้ำเชื้อ อีกทั้งชุดเครื่องหมายดีเอ็นเอที่จำเพาะต่อกระบือปลักไทย เป็นสมบัติของประเทศ ในอนาคตอาจร่วมมือทำชุด SNP Chip กับบริษัทเอกชน ในเชิงการค้าเพื่อให้บริการในประเทศและภูมิภาคใกล้เคียง

โครงการวิจัยนี้ จะส่งผลให้เกษตรกรผู้เลี้ยงกระบือที่ได้รับการถ่ายทอดพันธุกรรมกระบือที่ดีจากกรมปศุสัตว์ มีความเข้มแข็ง มีรายได้เพื่อขึ้น มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน มีความสุขมวลรวมในการประกอบอาชีพการเลี้ยงกระบือ