“อนุชา” เดินหน้าดัน ” โคต้นน้ำ” ชู “อั๋นฟาร์ม” ต้นแบบความสำเร็จอาชีพเลี้ยงวัวที่อุดรฯ

  •  
  •  
  •  
  •  

“อนุชา” เดินหน้าดัน ” โคต้นน้ำ” ชู “อั๋นฟาร์ม” ต้นแบบความสำเร็จ ที่อำลาชีวิตหนุ่มโรงงานคืนถิ่น เริ่มต้นทำกินในที่ดิน 15 ไร่ เปลี่ยนจากปลูกพืชเชิงเดียวสู่ปลูกหญ้า เลี้ยงโค เวลาผ่านไป 10 ปีมีที่ดินเพิ่ม 93 ไร่ และพัฒนาพื้นที่ส่วนหนึ่งเป็นศูนย์เครือข่ายสัตว์พันธุ์ดีกรมปศุสัตว์ที่จังหวัดอุดรธานี 

นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นำคณะผู้บริหารส่วนท้องถิ่น ผู้นำชุมชน และตัวแทนเกษตรกรจังหวัดชัยนาทจำนวนกว่า 200 คน ลงพื้นที่ศึกษาดูงานแปลงต้นแบบในการปรับเปลี่ยนการผลิตในพื้นที่ไม่เหมาะสม ด้วยการทำปศุสัตว์ “อั๋นฟาร์ม” ของนายวีระชาติ อ่อนนอ บ้านสะอาดนามูล เกษตรกรต้นแบบของการปรับเปลี่ยนพื้นที่จากการทำเกษตรกรรมเชิงเดี่ยวมาปลูกหญ้าเลี้ยงสัตว์ และยังเป็นต้นแบบของการเลี้ยงโคต้นน้ำ ณ ต.ห้วยสามพาด อ.ประจักษ์ศิลปาคม จ.อุดรธานี

นายอนุชา กล่าวว่า นายวีระชาติ อ่อนนอ ได้ลาออกจากโรงงานอุตสาหกรรม แล้วกลับมาประกอบอาชีพทำเกษตร และเลี้ยงวัว มีพื้นที่เดิม 15 ไร่ แต่ปัจจุบันมีพื้นที่เพิ่มเป็น 93 ไร่ จากการเลี้ยงวัว โดยได้เข้าร่วมโครงการแหล่งน้ำในไร่นานอกเขตชลประทาน ของสถานีพัฒนาที่ดินอุดรธานี กรมพัฒนาที่ดิน ขนาด 1,260 ลูกบาศก์เมตร เพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้ และได้ทำการปรับเปลี่ยนพื้นที่แบ่งเป็น ปลูกข้าว 5 ไร่ ปลูกหญ้าเลี้ยงสัตว์ 60 ไร่ โรงเรือนเลี้ยงวัวและโรงเก็บหญ้าแห้งฟางแห้ง 1 ไร่ มีพื้นที่เลี้ยงวัว 12 ไร่ แหล่งน้ำ 5 ไร่ พืชผักสวนครัว 2 ไร่ ที่อยู่อาศัย 1 ไร่ และพื้นที่อื่น ๆ อีก 7 ไร่

หลังปรับเปลี่ยนกิจกรรม ได้เลี้ยงวัวเพิ่มขึ้นกว่า 50 ตัว โดยเน้นเลี้ยงวัวตัวเมียไว้เป็นแม่พันธ์ุ สำหรับวัวตัวผู้พออายุครบ 18 เดือนจะขายสร้างรายได้ อีกทั้ง ยังมีรายได้จากการขายหญ้าที่ปลูกและขายมูลวัว ทำให้ปัจจุบันกลายเป็นเกษตรกรต้นแบบของการปรับเปลี่ยนพื้นที่จากการทำเกษตรกรรมเชิงเดี่ยวมาปลูกหญ้า เลี้ยงสัตว์ และเป็นศูนย์เครือข่ายสัตว์พันธุ์ดีกรมปศุสัตว์ (เครือข่ายใช้ประโยชน์พันธุกรรมและเทคโนโลยี)

รมช.เกษตรฯ กล่าวชื่นชม นายวีระชาติ ที่มีแนวคิดและมีความมุ่งมั่นในการปรับเปลี่ยนพื้นที่เกษตรเชิงเดี่ยวมาเป็นปศุสัตว์จนประสบความสำเร็จ ตอบโจทย์การเลี้ยงวัวคณิตศาสตร์ไม่จำเป็นต้องเก่ง เรียนไม่สูงก็เลี้ยงวัวได้ ทั้ง ๆ ที่พื้นที่ดังกล่าวประสบปัญหาแหล่งน้ำทางการเกษตรไม่เพียงพอ อีกทั้งยังเป็นดินลูกรัง จึงต้องขุดสระกักเก็บน้ำฝนไว้ใช้เพื่อปลูกหญ้า แต่มีแนวคิดในการบริหารจัดการพื้นที่เกษตรโดยการปลูกหญ้าเก็บไว้ใช้ 3 เดือนเมื่อเข้าสู่ฤดูแล้ง จนสามารถก้าวข้ามขีดจำกัด หลุดพ้นความยากจน แม้ไม่มีต้นทุน ก็เลี้ยงได้เพราะวัวกินแต่หญ้ากับฟางจึงเลี้ยงง่าย

“เราได้เห็นตัวอย่างแล้ว หากเรามีความมุ่งมั่น ตั้งใจ ก็สามารถประสบความสำเร็จได้เหมือนคุณวีระชาติ เพราะวัวเป็นสัตว์ตายยาก การเลี้ยงวัวจึงไม่ใช่เรื่องยาก ไม่จำเป็นต้องเรียนเก่ง อีกทั้ง รายได้จากการเลี้ยงวัว ยังสามารถเลี้ยงดูครอบครัว และส่งให้ลูกหลานเรียนต่อได้ ซึ่งการดำเนินงานของพื้นที่แห่งนี้ สอดคล้องกับนโยบายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในการบริหารจัดการพื้นที่เกษตรกรรม การส่งเสริมเกษตรกรรมยั่งยืน และการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ นับเป็นตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จ อยากให้เกษตรกรได้มาศึกษาเรียนรู้และนำไปพัฒนาในพื้นที่ของตนเองต่อไป ทั้งนี้ รัฐบาลพร้อมให้การสนับสนุน โดยหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรฯ พร้อมเป็นที่ปรึกษาและให้คำแนะนำแก่เกษตรกร” นายอนุชา กล่าว