จัดประกวด “ควายปลักไทย” ชิงถ้วยพระราชทานฯ ครั้งแรกในงาน “วันอนุรักษ์และพัฒนากระบือปลักไทย ปี 67”

  •  
  •  
  •  
  •  

อธิบดีกรมปศุสัตว์ จัดประกวด “ควายปลักไทย” ชิงถ้วยพระราชทานฯ ครั้งแรกในประเทศไทย ในงาน “วันอนุรักษ์และพัฒนากระบือปลักไทย ประจำปี พ.ศ. 2567” ระหว่างวันที่ 13 – 14 มกราคม 2567 ณ ศูนย์วิจัยและพัฒนาโคนม อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา เพื่อพัฒนาสายพันธุ์กระบือปลักไทยให้มีลักษณะดี มีคุณภาพ เพิ่มจำนวนกระบือ อันจะเป็นการเพิ่มรายได้ให้เกษตรกร ส่งเสริมและอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่นไทย

วันที่ 10 มกราคม 2567 นายสัตวแพทย์สมชวน รัตนมังคลานนท์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ เป็นประธานการแถลงข่าวการจัดงานวันอนุรักษ์และพัฒนากระบือปลักไทย ประจำปี พ.ศ. 2567 โดยมีนายสัตวแพทย์โสภัชย์ ชวาลกุล นายสัตวแพทย์ประภาส ภิญโญชีพ และนายสัตวแพทย์บุญญกฤษ ปิ่นประสงค์ รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ ร่วมด้วย ณ ลานเอนกประสงค์ หน้าตึกอำนวยการ กรมปศุสัตว์ พญาไท กรุงเทพฯ

นายสัตวแพทย์สมชวน รัตนมังคลานนท์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า การจัดงานวันอนุรักษ์และพัฒนากระบือปลักไทย ประจำปี พ.ศ. 2567 ในครั้งนี้เป็นครั้งแรกของประเทศที่จะมีการประกวดกระบือปลักไทย ระหว่างวันที่ 13 – 14 มกราคม 2567 ณ ศูนย์วิจัยและพัฒนาโคนม อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา โดยมีมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาสายพันธุ์กระบือปลักไทยให้มีลักษณะดี มีคุณภาพ เพิ่มจำนวนกระบือ อันจะเป็นการเพิ่มรายได้ให้เกษตรกร ส่งเสริมและอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่นไทย โดยใช้วิถีชีวิตแบบดั้งเดิมที่นำกระบือไปใช้ประโยชน์ในการทำเกษตร ต่อยอดการทำเกษตรทฤษฎีใหม่ ภายใต้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และการอนุรักษ์สายพันธุ์กระบือปลักไทย

ทั้งนี้กรมปศุสัตว์ได้สนองพระราชดำริร่วมดำเนินโครงการอนุรักษ์และพัฒนากระบือไทย โดยได้ร่วมดำเนินการคัดเลือกกลุ่มเกษตรกรเข้าร่วมโครงการฯ เบื้องต้น จำนวน 26 กลุ่ม มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการจำนวน 1,084 ราย แม่กระบือจำนวน 3,362 ตัว ซึ่งเป็นแม่กระบือของโครงการธนาคารโค-กระบือเพื่อเกษตรกร ตามพระราชดำริ และแม่กระบือของเกษตรกรที่ประสงค์เข้าร่วมโครงการ ซึ่งได้มีการเตรียมพร้อมของแม่กระบือด้วยวิธีการทางธรรมชาติและใช้ฮอร์โมนเหนี่ยวนำการเป็นสัด และทำการผสมเทียมกระบือที่มีความพร้อมไปแล้วกว่า 500 ตัว มีกระบือตั้งท้องจากการผสมเทียมและใช้พ่อพันธุ์คุมฝูง จำนวนกว่า 360 ตัว และมีลูกกระบือเกิดใหม่แล้วกว่า 300 ตัว

ด้านนายสัตวแพทย์ประภาส ภิญโญชีพ รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวเสริมว่า การจัดงานในครั้งนี้ จะทำให้เกษตรกรและประชาชนได้รับองค์ความรู้ ได้รู้จักการคัดเลือกกระบือปลักไทยพันธุ์ดีไว้ขยายพันธุ์ เพื่อเป็นเวทีพบปะแลกเปลี่ยนเรียนรู้และการแสดงผลงานในการพัฒนาการผลิตกระบือปลักไทย ตลอดห่วงโซ่ การผลิตถึงการบริโภค ระหว่างหน่วยงานรัฐ องค์กรภาคเกษตรกร กลุ่มผู้ประกอบการ และองค์กรภาคเอกชน และเผยแพร่องค์ความรู้ให้เกษตรกรและประชาชนผู้สนใจด้านการจัดการการเลี้ยงกระบือปลักไทยการปรับปรุงพันธุ์ การป้องกันโรคระบาด การพัฒนาด้านเทคโนโลยีอาหารสัตว์ และเทคโนโลยีการผลิตกระบือปลักไทยที่มีคุณภาพ

สำหรับกิจกรรมภายในงาน จะมีการประกวดกระบือปลักไทย 18 รุ่น ประกอบด้วย  กระบือเผือก เพศเมีย และเพศผู้ รุ่นลูกควาย อายุ 10 – 18 เดือน, กระบือเผือก เพศเมีย และเพศผู้ รุ่นลูกควาย อายุ 18 – 24 เดือน, กระบือเผือก เพศเมีย และเพศผู้ รุ่นควายรุ่น ฟันแท้ 1 คู่ อายุ 24 – 36 เดือน, กระบือเผือก เพศเมีย และเพศผู้ รุ่นควายหนุ่มสาว ฟันแท้ 2 คู่ อายุ 36 – 48 เดือน,กระบือดำ เพศเมีย และเพศผู้ รุ่นลูกควาย อายุ 10 – 18 เดือน, กระบือดำ เพศเมีย และเพศผู้ รุ่นลูกควาย อายุ 18 – 24 เดือน, กระบือดำ เพศเมีย และเพศผู้ รุ่นควายรุ่น ฟันแท้ 1 คู่ อายุ 24 – 36 เดือน, กระบือดำ เพศเมีย และเพศผู้ รุ่นควายหนุ่มสาว ฟันแท้ 2 คู่ อายุ 36 – 48 เดือน, กระบือปลักไทยแกรนด์แชมป์ เพศผู้ ชิงถ้วยพระราชทานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว, และกระบือปลักไทยแกรนด์แชมป์ เพศเมีย ชิงถ้วยพระราชทานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

นอกจากนี้ ยังมีการจัดนิทรรศการต่างๆ จำนวน 3 โซน ประกอบด้วย โซนที่ 1) นิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ การดำเนินงานโครงการธนาคารโค-กระบือเพื่อเกษตรกร ตามพระราชดำริ และโครงการอนุรักษ์และพัฒนากระบือไทย ภายใต้ศูนย์อำนวยการใหญ่จิตอาสาพระราชทาน โซนที่ 2) นิทรรศการวิชาการจากหน่วยงานภายใต้กรมปศุสัตว์ จำนวน 5 เรื่อง ได้แก่ การขึ้นทะเบียนกระบือปลักไทย การเลี้ยงดูกระบือปลักไทย อาหารสัตว์และพืชอาหารสัตว์สำหรับกระบือ การตรวจโครโมโซมฯ ในกระบือ การตรวจเร่งเนื้อแดงจากปัสสาวะกระบือ และโรคและการป้องกันที่สำคัญในกระบือ โซนที่ 3) นิทรรศการของกลุ่มเกษตรกร/สหกรณ์/สมาคมฯ จำนวน 10 กลุ่ม และนิทรรศการมีชีวิต การแสดงพ่อพันธุ์กระบือปลักไทยต้นแบบ

ดังนั้น กรมปศุสัตว์ จึงขอเชิญชวนเกษตรกร รวมทั้งผู้สนใจในอาชีพการเลี้ยงกระบือ เที่ยวชมงานและร่วมกิจกรรม “วันอนุรักษ์และพัฒนากระบือปลักไทย ประจำปี พ.ศ. 2567” ในวันที่ 13 – 14 มกราคม 2567 ณ ศูนย์วิจัยและพัฒนาโคนม อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา เพื่อจะได้ศึกษาหาความรู้อย่างเต็มที่ และนำความรู้กลับไปประยุกต์ใช้ในการเลี้ยงกระบือ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเลี้ยง การผลิตให้ดียิ่งขึ้น เป็นที่ยอมรับทั้งในและต่างประเทศต่อไป