โดย…ศิระ มุ่งมะโน นักวิชาการอิสระ
วันนี้แม้สถานการณ์ “หมูเถื่อน” ที่เข้ามาระบาดในประเทศมากกว่า 1 ปี ถูกจับกุมได้ล็อตใหญ่เป็นประวัติการณ์ จนทำให้การค้าขายเนื้อหมูผิดกฎหมายผ่านทุกช่องทางทั้งโซเชียล ตลาดสด และร้านหมูกระทะ ติดขัดและทำได้ยากขึ้น ขบวนการลักลอบนำเข้าขาดทุนไปหลายร้อยล้านบาท จากของกลางที่ถูกอายัดไว้หลักล้านกิโลกรัม แต่ผู้เลี้ยงสุกรก็ยังไม่นิ่งนอนใจเพราะตู้คอนเทนเนอร์แบบปรับความเย็นได้ ยังตกค้างที่ท่าเรืออีกจำนวนมาก โดยเฉพาะท่าเรือที่ยังไม่เคยเข้าไปตรวจสอบอย่างเป็นทางการ เช่น ท่าเรือกรุงเทพ (ท่าเรือคลองเตย) ท่าเรือสงขลา และท่าเรือระนอง ล้วนมีโอกาสเป็นที่พักสินค้าผิดกฎหมายทั้งสิ้น
“โครงการท่าเรือสีขาว” ของกระทรวงคมนาคม โดยการท่าเรือแห่งประเทศไทย มีแนวทางและมาตรการที่เคร่งครัดในการตรวจสอบสินค้าที่มีกฎหมายการนำเข้า-ส่งออก หรือผ่านราชอาณาจักร ต้องได้รับอนุญาตหรือปฏิบัติให้ครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนดไว้ ทั้งนี้ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2566 มีประชุมร่วมกันระหว่างภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย ตำรวจภาค 2, ทหารเรือ และกรมศุลกากร พบว่ามีตู้คอนเทนเนอร์ต้องสงสัยตกค้างนานนับปีมากกว่า 1,000 ตู้ ที่ท่าเรือแหลมฉบัง ในจำนวนนี้มีตู้เย็นประมาณ 300 ตู้ และจากการเปิดตู้ตรวจสอบบางส่วนพบหมูเถื่อนซุกซ่อนอยู่ และยังมีตู้ตกค้างเกินกว่า 45 วัน อีกหลายร้อยตู้ และบางตู้เก็บไว้หลายเดือนเกินกว่ากฏระเบียบของศุลกากร แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่ดำเนินการ จึงอาจเป็นสินค้าต้องห้ามหรือมีของผิดกฏหมายได้
สำหรับโครงการท่าเรือสีขาว จะมีส่วนช่วยให้การกวาดล้าง “หมูเถื่อน” ในตู้ตกต้างที่ท่าเรือสำคัญอีก 3 แห่ง ดังกล่าวข้างต้นได้อย่างดี เนื่องจากมีอำนาจตามกฎหมายในการตรวจสอบตู้สินค้านำเข้า ในฐานะเจ้าของท่าเรือ และมีเอกสารการเข้ามาของสินค้าทุกล็อต เพื่อยึดและทำลายของกลางหากเป็นหมูผิดกฎหมายไม่ให้เล็ดลอดออกไปนอกท่าเรือกดดันราคาหมูให้ตกต่ำมากขึ้นซ้ำเติมเกษตรกรไทย ซึ่งเป็นช่วงนี้ผลผลิตออกสู่ตลาดมากเกินความต้องการ (Oversupply) ต้องยอมขาดทุนโดยขายหมูเล็กเป็น “หมูหัน” เพื่อตัดวงจรการผลิต หวังดึงราคาหน้าฟาร์มและชิ้นส่วนให้สูงขึ้น
ที่ผ่านมา ผู้เลี้ยงสุกรไทยได้รับผลกระทบสาหัสมากจาก “หมูเถื่อน” ที่ทำให้ราคาในประเทศตกต่ำจากการเสนอราคาที่ถูกกว่าหมูไทยกว่าเท่าตัว ในช่วงปีที่ผ่านมาต่อเนื่องจากถึงกลางปี 2566 สถานการณ์ที่ดีขึ้นนี้ เป็นจากการปราบปรามจากภาครัฐอย่างจริงจังของตำรวจและกรมปศุสัตว์ ปูพรมตรวจกันไม่ลดละทั้งในเมืองและตามตะเข็บชายแดนติดประเทศเพื่อนบ้านที่มีโอกาสลักลอบนำเข้ามา แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า เนื้อสัตว์ผิดกฎหมายสามารถผ่านพิธีทางศุลกากรออกไปขายได้โดยไม่ถูกจับกุม และเมื่อถูกจับกุมได้ยังไม่ถูกดำเนินคดีภายใต้ พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2560 ถูกสังคมตั้งคำถาม จนต้องส่งเรื่องให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) เป็นผู้สอบสวนเอาผิดแทน ซึ่งการสอบสวนของ DSI มีความคืบหน้าไปมาก มีการเรียกผู้เกี่ยวข้องทั้ง เจ้าหน้าที่รัฐจาก กรมศุลกากร กรมปศุสัตว์ บริษัทเดินเรือที่มีชื่อเป็นผู้ขนส่งสินค้า และอาจจะเรียกมาสอบสวนเพิ่มเติมจากทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชน เพื่อเอาผิดกับผู้นำเข้าที่เป็นเจ้าของสินค้าตัวจริง
สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ เชื่อว่าหมูเถื่อนยังไม่หมดไป และยังคงถูกซุกซ่อนอยู่ในตู้สินค้าแบบควบคุมความเย็นที่ยังตกค้างที่ท่าเรือ ตามรายงานของโครงการท่าเรือสีขาวระบุไว้ ดังนั้น หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องต้องผนึกกำลังกันลงพื้นที่ตรวจสอบท่าเรือทั้ง 3 แห่ง พร้อมกัน เพื่อกำจัดให้หมูเถื่อนสูญพันธ์ไปจากไทย เพื่อยกระดับราคาหมูไทยที่มีความปลอดภัยจากโรคระบาด สารปนเปื้อน และสารเร่งเนื้อแดง มากกว่าหมูเถื่อน เนื่องจากหลายประเทศทางตะวันตกยังอนุญาตให้ใช้สารเร่งเนื้อแดงซึ่งเป็นสารกระตุ้นโรคมะเร็งได้ และการกินอย่างต่อเนื่องจะทำให้เกิดการสะสมของสารดังกล่าวและเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็ง
หากพิจารณาแนวทางการปฏิบัติการ ”หมูสะอาด” ของกรมปศุสัตว์ ที่มีเป้าหมายในการควบคุม เฝ้าระวังโรคระบาด ควบคู่กับการรักษาเสถียรภาพราคาสุกร โดยมุ่งหวังให้เกษตรกรเลี้ยงและขายสุกรได้ในราคาที่พออยู่ได้ไม่ขาดทุนแล้ว “โครงการท่าเรือสีขาว” จะเป็นอีกหนึ่งกลไกสำคัญทื่เชื่อมโยงกันได้อย่างดี ในการส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีของคนไทย ให้เข้าถึงอาหารที่ดีมีคุณภาพได้อย่างเพียงพอจากผลผลิตของเกษตรกรไทยได้เป็นอย่างดี