ภาครัฐปราบหมูเถื่อนอย่างไร? หมูไทยฟื้นยาก

  •  
  •  
  •  
  •  

โดย…สมสมัย หาญเมืองบน นักวิชาการอิสระ

“หมูเถื่อน นำความเดือดร้อนสาหัสมาสู่เกษตรกรผู้เลี้ยงหมูไทยในช่วงที่ยากลำบากที่สุด สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติต้องออกโรงเรียกร้องภาครัฐให้ออกมาปกป้องอุตสาหกรรมก่อนที่จะโดนหมูเถื่อน “รุมสกรัม”  จนหมูไทยล่มสลาย กระตุ้นภาครัฐให้ปราบปรามอย่างจริงจัง สาวให้ถึงตัวการใหญ่ต้นทางสั่งนำเข้าและเครือข่ายมิจฉาชีพทั้งขบวนการ”

หากติดตามราคาสุกรของไทยมาตลอดนับแต่กรมปศุสัตว์ ยืดอกยอมรับว่าพบโรคระบาด ASF ในประเทศ เมื่อต้นปี 2565 จากนั้นเกิดวิกฤตในวงการหมู 3 เรื่องใหญ่ คือ 1. ผลผลิตหายไป 50%  2.ราคาในประเทศพุ่งขึ้นอย่างไม่เคยเป็นมาก่อนจากอุปสงค์ที่มากกว่าอุปทาน และ 3.“หมูเถื่อน” เกลื่อนเมือง กดราคาหมูไทยให้อยู่ในภาวะขาดทุนในปัจจุบัน

ที่สำคัญ 2 ปีที่ผ่านมา ผู้เลี้ยงหมูเหมือนอยู่ในวิบากกรรมครั้งใหญ่ เพราะนอกจากผลผลิตเสียหายจำนวนมากที่ยากจะเยียวยาแล้ว การฟื้นฟูกิจการยังต้องเผชิญกับปัญหาต้นทุนพลังงานและวัตถุดิบอาหารสัตว์ทะยานขึ้น 20% และ 30% ตามลำดับ ซึ่งเป็นผลมาจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ทำให้ต้นทุนการผลิตปรับขึ้นตามไปด้วย

จากปัจจัยดังกล่าวข้างต้น ทำให้ราคาหมูมีชีวิตหน้าฟาร์มจากราคาเฉลี่ยประมาณ 72-85 บาทต่อกิโลกรัม ช่วงปี 2562-2564 ปรับขึ้นเป็น 100-115 บาทต่อกิโลกรัม ในปี 2565 เทียบกับต้นทุนผลิตของเกษตรกรที่ 98-100 บาทต่อกิโลกรัม ที่ราคาหมูเนื้อแดงเฉลี่ยประมาณ 180-200 บาทต่อกิโลกรัม ถือว่าเป็นราคาที่ผู้ผลิตอยู่ได้ ผู้บริโภคอยู่ได้

ราคาเนื้อหมูในประเทศที่สูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ กระตุ้นต่อมความโลภของ “มิจฉาชีพ” ให้เห็นช่องทางทำกำไรจากส่วนต่างราคาทำการลักลอบนำเข้าหมูเถื่อนที่ต้นทุนต่ำกว่าประมาณ 2-3 เท่า มาขายในไทย สนนราคาหมูเถื่อนปีที่ผ่านมาเฉลี่ยอยู่ที่ 135-145 บาทต่อกิโลกรัม ผู้บริโภค ร้านหมูกระทะ ร้านอาหารตามสั่ง เห็นราคาต้องร้องว้าว…สั่งกันมือเป็นระวิง เพราะรูปแบบการค้าขายที่ทันสมัยผ่านออนไลน์ เฟสบุ๊ค สะดวกต่อการสั่งซื้อจากทั่วประเทศ เท่ากับหมูเถื่อนเข้ามาแข่งขันกับหมูไทยเต็มรูปแบบ

หมูเถื่อน นำความเดือดร้อนสาหัสมาสู่เกษตรกรผู้เลี้ยงหมูไทยในช่วงที่ยากลำบากที่สุด สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติต้องออกโรงเรียกร้องภาครัฐให้ออกมาปกป้องอุตสาหกรรมก่อนที่จะโดนหมูเถื่อน “รุมสกรัม”  จนหมูไทยล่มสลาย กระตุ้นภาครัฐให้ปราบปรามอย่างจริงจัง สาวให้ถึงตัวการใหญ่ต้นทางสั่งนำเข้าและเครือข่ายมิจฉาชีพทั้งขบวนการ ทั้งพ่อค้าคนกลาง บริษัทขนส่ง และชิ้ปปิ้ง และยังชี้ช่องประตูหลักที่ลักลอบนำเข้ามา คือ ท่าเรือแหลมฉบัง ขอให้ตรวจสอบ-จับกุมเคร่งครัด

ล่วงเลยไป 1 ปี ภาครัฐปราบปรามอย่างไร? ผู้เลี้ยงหมูยังคงร้องระงมว่า “หมูเถื่อน” เป็นตัวแปรสำคัญที่กดดันราคาหมูไทยออกจากวงโคจรเพราะยังวนเวียนสร้างความปั่นป่วนให้ราคา ยิ่งปี 2566 ผ่านไป 2 เดือน ราคาหมูมีชีวิตหน้าฟาร์มร่วงไป 18 บาทต่อกิโลกรัม หลังอ่อนตัวลงตั้งแต่ธันวาคม 2565 เฉลี่ยที่ 96-100 บาทต่อกิโลกรัม และลงไปต่ำสุดที่ 76 บาท เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา สมาคมผู้เลี้ยงสุกรฯ ในฐานะตัวแทนเกษตรกรผู้เลี้ยงทั่วประเทศต้องประกาศปรับฐานราคาหมูมีชีวิตหน้าฟาร์มขึ้น 6-8 บาทต่อกิโลกรัม ช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ทำให้ราคาเฉลี่ยนขึ้นไปที่ 84-90 บาท ขึ้นกับแต่ละพื้นที่ แต่ราคาดังกล่าวยังต่ำกว่าต้นทุนการผลิตอยู่ที่ 100.70 บาทต่อกิโลกรัม

ตราบใดราคาหมูไทยยังตกต่ำ สะท้อนว่า “หมูเถื่อน” ยังอยู่เป็นหอกข้างแคร่ทิ่มแทงผู้เลี้ยงหมูต่อไป ขัดขวางการพัฒนาวงการเลี้ยงหมูและประเทศชาติ  กลายเป็นคำถามถึงภาครัฐที่เกี่ยวข้องโดยตรงว่า “เมื่อไหร่หมูเถื่อนจะหมดไปจากประเทศเสียที?”.