เกษตรกรผู้เลี้ยงไก่งวงปลื้ม กรมปศุสัตว์ดึงผู้ประกอบการซื้อที่แช่แข็งค้างสต็อก 40 ตันมดแล้ว

  •  
  •  
  •  
  •  

เกษตรกรผู้เลี้ยงไก่งวง ปลื้มกรมปศุสัตว์เชื่อมผู้ประกอบการรับซื้อไก่งวงที่แช่แข็งค้างสต็อกอยู่ในห้องเย็นน้ำหนักประมาณ 40 ตันหมดแล้ว ส่วนหนึ่ง ซีพีเอฟ นำไปแปรรูปเพื่อจำหน่ายให้ผู้บริโภค รวมถึงวางแผนการรับซื้อไก่งวงมีชีวิตที่รอเข้าโรงเชือด เพื่อแก้ปัญหาด้านการตลาดอย่างยั่งยืนต่อไป

วันที่ 23 มีนาคม 2566 กรมปศุสัตว์ ได้เชิญสมาคมการค้าอาหารสัตว์เลี้ยงไทย นำโดยนายชนินทร์ ชลิศราพงศ์ นายกสมาคมการค้าอาหารสัตว์เลี้ยงไทย (Thai Pet Food Trade Association) บริษัท ซีพีเอฟ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) และผู้แทนกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่งวง โดยคุณศรีสุนันท์ พวงอินทร์ ประธานวิสาหกิจชุมชนไก่งวงราชบุรี ร่วมหารือเพื่อแก้ไขปัญหาด้านการตลาดผลิตภัณฑ์ไก่งวงได้ข้อสรุปจะมีการรับซื้อไก่งวงแช่แข็งที่ค้างสต็อกทั้งหมดประมาณ 40 ตัน พร้อมทั้งวางแผนการตลาดในอนาคตร่วมกันอย่างยั่งยืน

นายสัตวแพทย์สมชวน รัตนมังคลานนท์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า ตามที่กลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่งวงประสบปัญหาด้านการตลาด ทำให้ปัจจุบันมีไก่งวงที่แช่แข็งค้างสต็อกอยู่ในห้องเย็นน้ำหนักประมาณ 40 ตัน ส่งผลกระทบต่อเนื่องถึงเกษตรกรในกลุ่มเครือข่ายที่กำลังเลี้ยงและรอส่งเชือดชำแหละในหลายพื้นที่ กรมปศุสัตว์จึงได้ประสานไปยังผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องเพื่อรับซื้อและวางแผนการตลาดร่วมกันในวันนี้ ซึ่งได้รับการตอบรับจากสมาคมการค้าอาหารสัตว์เลี้ยงไทย ในการตกลงร่วมกันกับผู้แทนกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยง ไก่งวง จะรับซื้อไก่งวงที่ค้างสต็อกไปใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตอาหารสัตว์เลี้ยง (Pet food)

ส่วนของบริษัท ซีพีเอฟ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) จะนำไก่งวงแช่แข็งไปแปรรูปเพื่อจำหน่ายให้ผู้บริโภค รวมถึงวางแผนการรับซื้อไก่งวงมีชีวิตที่รอเข้าโรงเชือด ส่งผลให้มีการระบายไก่งวงที่แช่แข็งค้างสต็อกออกไปได้ทั้งหมด เป็นการบรรเทาปัญหาของเกษตรกรกลุ่มผู้เลี้ยงไก่งวง ส่วนในระยะยาวได้ร่วมกันจัดทำแผนการผลิต การตลาด ให้เหมาะสมต่อความต้องการของตลาด

ในส่วนของกรมปศุสัตว์ได้ช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่งวง โดยการอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับการจัดทำมาตรฐานให้กับเกษตรกร เพื่อให้สามารถได้รับการรับรองมาตรฐานฟาร์มไก่งวงแบบปล่อยอิสระ (Free range) ประสานโรงฆ่าสัตว์เพื่อยกระดับการฆ่าสัตว์ให้ได้มาตรฐาน เพื่อการส่งออกไก่งวง เจรจาการเปิดตลาดต่างประเทศเพื่อขยายโอกาสการส่งออกเนื้อไก่งวงและผลิตภัณฑ์ รวมทั้งมีการฝึกอบรม ส่งเสริมให้มีการแปรรูปเพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ใหม่เพื่อเป็นการเพิ่มมูลค่า อาทิเช่น ไส้กรอก ไก่จ๊อ เป็นต้น

นอกจากนี้กรมปศุสัตว์ยังได้ประสานไปยังกระทรวงพาณิชย์เพื่อขอให้ช่วยหาตลาดในประเทศและตลาดส่งออกไปยังต่างประเทศอีกด้วย ทั้งกรมปศุสัตว์ ยืนยันว่า พร้อมให้การสนับสนุนช่วยเหลือกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่งวงภายใต้นโยบาย “ตลาดนำการผลิต” ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์