องค์การสุขภาพสัตว์โลก รับรองสถานภาพประเทศไทยปลอดกาฬโรคแอฟริกาในม้าแล้ว เผยส่งผลให้ประเทศไทยสามารถจัดการแข่งขันกีฬาขี่ม้าระดับนานาชาติรายการต่างๆ ได้ กระตุ้นการท่องเที่ยวที่เกี่ยวข้องทั้งระบบ และทำให้เศรษฐกิจของประเทศโดยรวมดีขึ้นต่อไป
นายสัตวแพทย์สมชวน รัตนมังคลานนท์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า จากเหตุการณ์การเกิดกาฬโรคแอฟริกาในม้า หรือ: AHS (African Horse Sickness ) ในปี 2563 ประเทศไทยพบการระบาดครั้งแรกเมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2563 โดยตรวจพบในพื้นที่ 17 จังหวัด มีจำนวนสัตว์ป่วยสะสม 610 ตัว และตายสะสม 568 ตัว กรมปศุสัตว์ได้ร่วมกับหน่วยงานภาคีเครือข่ายดำเนินการเฝ้าระวัง ควบคุม และป้องกันโรคอย่างมีประสิทธิภาพ จนทำให้พบโรคครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 10 กันยายน 2563 สถานการณ์ปัจจุบัน ประเทศไทยไม่มีรายงานพบกาฬโรคแอฟริกาในม้ามากกว่า 2 ปี
จากสถานการณ์ของโรคที่ดีขึ้นมาก กรมปศุสัตว์ กรมการสัตว์ทหารบก องค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ สมาคมกีฬาขี่ม้าแห่งประเทศไทย และทุกหน่วยงานภาคีภายใต้บันทึกความร่วมมือ (MOU) การกำจัดกาฬโรคแอฟริกาในม้าของประเทศไทย ได้จัดทำข้อมูลสำหรับขอรับรองการปลอดโรคจากองค์การสุขภาพสัตว์โลก และได้ยื่นเรื่องขอคืนสถานภาพปลอดโรค AHS อย่างเป็นทางการต่อองค์การสุขภาพสัตว์โลก (WOAH) เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2566 หลังจากประเทศไทยถูกระงับสถานภาพปลอดโรคเมื่อวันที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2563
ทั้งนี้ คณะกรรมาธิการสุขภาพสัตว์บกของ WOAH ( Scientific commission for Animal disease) ได้พิจารณาเอกสารขอคืนสถานภาพปลอดโรค AHS เรียบร้อยแล้วและได้มีหนังสือแจ้งมายังกรมปศุสัตว์เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2566 สรุปได้ว่า ประเทศไทยได้ดำเนินมาตรการตามข้อกำหนด 12.1.5 ของ Terrestrial Animal Health Code ในการขอคืนสถานภาพปลอดโรค AHS และคณะกรรมาธิการ ฯ ขอชื่นชมความครอบคลุมของเอกสาร และมาตรการของประเทศไทยในการกำจัดโรค AHS ทำให้ WOAH พิจารณาคืนสถานภาพปลอดโรค AHS ให้กับประเทศไทยเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2566 และได้เผยแพร่บนหน้าเว็บ WOAH เรียบร้อยแล้ว
นายสัตวแพทย์สมชวน กล่าวอีกว่า หลังจากนี้ เมื่อประเทศไทยปลอดโรค AHS แล้ว จะส่งผลให้ประเทศไทยสามารถจัดการแข่งขันกีฬาขี่ม้าระดับนานาชาติรายการต่างๆ ได้ กระตุ้นการท่องเที่ยวที่เกี่ยวข้องทั้งระบบ และทำให้เศรษฐกิจของประเทศโดยรวมดีขึ้นต่อไป รวมทั้งกิจการการนำเข้า ส่งออกสัตว์กลุ่ม Equids จะสามารถดำเนินการได้ตามปกติภายใต้ข้อกำหนดของกรมปศุสัตว์ อีกทั้งยังเป็นการแสดงให้เห็นถึงระบบการควบคุมโรค และเฝ้าระวังโรคที่มีประสิทธิภาพของประเทศไทย