“ปศุสัตว์”  สั่งเฝ้าระวังโรคไข้หวัดนก หลังพบผู้ป่วยในกัมพูชา

  •  
  •  
  •  
  •  

อธิบดีกรมปศุสัตว์ สั่งเฝ้าระวังโรคไข้หวัดนกอย่างเข้มงวดในพื้นที่ตามแนวชายแดน หลังกระทรวงสาธารณสุขกัมพูชา ยืนยันตรวจพบเด็กวัย 11 ปีติดเชื้อไวรัสไข้หวัดนกชนิด A สายพันธุ์ H5N1 และเสียชีวิตในเวลาต่อมา ย้ำชะลอการนำเข้าสัตว์และซากสัตว์ปีกจากประเทศที่เกิดโรคไข้หวัดนก เตือนเกษตรกรรักษาความปลอดภัยทางชีวภาพของฟาร์มขั้นสูงสุดเพื่อป้องกันโรค

นายสัตวแพทย์สมชวน รัตนมังคลานนท์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า ได้สั่งการเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังโรคสัตว์ปีกตามแนวชายแดนอย่างเข้มงวด จากที่มีข่าวว่า เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2566 กระทรวงสาธารณสุขกัมพูชาออกแถลงการณ์ยืนยันการตรวจพบผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสไข้หวัดนกชนิด A สายพันธุ์ H5N1 โดยผู้ป่วยและเสียชีวิตเป็นเด็กหญิงวัย 11 ปี จำนวน 1 ราย โดยกรมปศุสัตว์ได้เตรียมความพร้อมในการเฝ้าระวังและป้องกันโรคไข้หวัดนกเข้าสู่ประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง โดยให้เจ้าหน้าที่ในพื้นที่เข้าตรวจเยี่ยมเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ปีกอย่างใกล้ชิด สุ่มเก็บตัวอย่างสัตว์ปีกในพื้นที่เสี่ยงเช่น พื้นที่ตามแนวชายแดน พื้นที่นกอพยพ พื้นที่นกวางไข่ พื้นที่มีการเลี้ยงสัตว์ปีกหนาแน่น เป็นต้น นอกจากนี้ยังเข้มงวดการเคลื่อนย้ายสัตว์และซากสัตว์ปีกภายในประเทศ รวมถึงให้ชะลอการนำเข้าสัตว์และซากสัตว์ปีกจากประเทศที่เกิดโรคไข้หวัดนก

สำหรับการเลี้ยงสัตว์ปีกในระบบฟาร์ม ให้เข้มงวดความปลอดภัยทางชีวภาพขั้นสูงสุดเช่น การทำความสะอาดและฆ่าเชื้อโรคในโรงเรือนและบริเวณโดยรอบอย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง สัตวแพทย์ควบคุมฟาร์มต้องรักษาระบบความปลอดภัยภายในฟาร์ม ควบคุมการเข้า-ออกฟาร์ม ให้ฉีดพ่นยานพาหนะทุกคัน เป็นต้น รณรงค์ทำความสะอาดและพ่นยาฆ่าเชื้อโรคในพื้นที่เสี่ยงต่างๆ ตลอดจนผลักดันระบบการเลี้ยงสัตว์ปีกให้เข้าระบบมาตรฐาน GAP หรือ GFM รวมถึงประสานความร่วมมือกับหน่วยงานภายในประเทศ อาทิ กระทรวงสาธารณสุข กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ตลอดจนหน่วยงานระหว่างประเทศอย่างต่อเนื่อง

อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวอีกว่า เมื่อมีรายงานการพบโรคไข้หวัดนกในประเทศเพื่อนบ้าน กรมปศุสัตว์จึงยกระดับมาตรการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคอย่างเข้มงวด พร้อมขอความร่วมมือเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ปีกสังเกตอาการสัตว์อย่างใกล้ชิด หากพบสัตว์ปีกป่วยตายผิดปกติ อย่านำสัตว์ปีกไปจำหน่ายจ่ายแจก หรือนำไปประกอบอาหารโดยเด็ดขาด ให้แจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์อำเภอ อาสาปศุสัตว์ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน และเจ้าหน้าปศุสัตว์ในพื้นที่ทันทีเพื่อให้เจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ลงพื้นที่ตรวจสอบและดำเนินมาตรการควบคุมโรคทันที

หากมีข้อสงสัยสามารถติดต่อได้ที่สำนักงานปศุสัตว์อำเภอหรือสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดใกล้บ้าน  สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักควบคุม ป้องกันและบำบัดโรคสัตว์ (สคบ.) กรมปศุสัตว์ หรือสายด่วนกรมปศุสัตว์ โทร. 063-225-6888 หรือแจ้งผ่าน Application : DLD 4.0 ได้ตลอดเวลา